in on December 1, 2014

ดอกเตอร์จีเอ็มโอ…อย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ

read |

Views

เมื่อเร็วๆ นี้มีนักวิทยาศาสตร์ระดับดอกเตอร์ออกมา “ปลุกผี” และเชียร์พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ราวกับว่าจีเอ็มโอคือทางเลือกสุดท้ายหรือเป็นทางออกเพียงหนึ่งเดียว ของมนุษยชาติ ชวนให้นึกถึง “ดอกเตอร์” อีกหลายคนที่เคยแสดงบทบาทนี้มาก่อน เหตุเพราะพวกเขาเลือกฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้ในกำมือของจีเอ็มโอ

หลายสิบปีมาแล้วประเทศไทยมีโครงการเลือกเฟ้นเด็กเก่งด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ บางคนได้ทุนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกรวมเวลานับสิบปีและใช้งบ ประมาณของประเทศชาติไปนับสิบล้านบาท แม้พวกเขาจะไม่ได้ลงทุนเป็นตัวเงิน แต่ลงทุนด้วยเวลาและแรงกายแรงใจ บางคนตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับสาขาวิชาที่ตัวเองเลือกเรียนในวัย ก่อนยี่สิบปีซึ่งถือว่ายังอ่อนต่อโลกมาก และต่อมารู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับตัวเองหรือไม่ชอบเอาเสียเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ก็ยากที่จะหวนกลับหรือล้มเลิก มิเช่นนั้นต้องจ่ายคืนค่าทุนเล่าเรียนให้กับรัฐบาลจำนวนเท่ากับเงินที่ใช้ไป และถูกปรับเพิ่มอีก 2เท่า หากไม่มีเงินจ่าย ผู้ค้ำประกันก็จะเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องเดินไปให้สุดทางจนได้ดีกรีมาครอง จากนั้นกลับมาทำงานในองค์กรการศึกษาและการวิจัยระดับชาติ

การอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่าสิบปีในชีวิตการเรียนและจะต้องอยู่กับ สิ่งนั้นไปอีกอย่างน้อย 20 ปีในชีวิตการทำงาน (สมัยก่อนต้องใช้ทุนเป็นเวลา 3 เท่าของปีที่เรียน ปัจจุบันลดเหลือ 2เท่า) ส่วนใหญ่เมื่อใช้ทุนเสร็จอายุตัวและอายุงานก็ล่วงเลยไปมาก บางคนนั่งในตำแหน่งระดับบริหารในองค์กร จึงยากจะไปหางานใหม่หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องกล่อมเกลาหรือสะกดจิตตัวเองให้ยอมรับและเชื่อใน สิ่งที่ร่ำเรียนมาและตัดโอกาสการมองหาทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ ที่แย่ยิ่งกว่าคือการใช้สถานภาพในฐานะนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการในองค์กร ระดับชาติชี้นำด้านนโยบายที่ตัวเอง “เชื่อ” ให้กับประเทศชาติ โดยปิดทางเลือกอื่นๆ

แท้จริงเทคโนโลยีชีวภาพมีมากกว่าจีเอ็มโอ นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เปิดกว้างสามารถใช้ศาสตร์เทคโนโลยี ชีวภาพอื่นๆ แก้ไขปัญหาทางการเกษตรของโลกอย่างได้ผลและได้รับการยอมรับมาแล้วทั่วโลก

ในรายงานเรื่อง “การปรับปรุงพันธุ์ที่ชาญฉลาด” ของกรีนพีซสากล ตีพิมพ์เมื่อตุลาคม 2557 ระบุว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังสนใจการปรับปรุงสายพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยี ชีวภาพที่เรียกว่าเครื่องหมายทางพันธุกรรม หรือ Marker Assisted Gene : MASซึ่งเป็นการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรมหรือใส่ยีนแปลกปลอมเข้าไปเหมือนพืชจีเอ็มโอ เคารพกลไกธรรมชาติที่ป้องกันไวรัสหรือเชื้อโรคแพร่จากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นมากกว่า ผู้บริโภคยอมรับมากกว่า ทำตลาดได้เร็วกว่า และทำงานกับสายพันธุ์ที่ซับซ้อน เช่น การทนแล้งทนเค็มได้ดีกว่าพืชจีเอ็มโอข้อจำกัดใหญ่สิ่งเดียวของเทคโนโลยี MAS คือการเปิดโอกาสให้สาธารณะเข้าถึงเทคโนโลยีโดยไม่มีการจดสิทธิบัตรในเทคนิค นั้นๆ

ตัวอย่างความสำเร็จของสายพันธุ์ที่ปรับปรุงแบบ MAS เพื่อให้ต่อสู้กับภัยคุกคามทางชีวภาพอย่างไวรัส รา แบคทีเรีย วัชพืช และแมลง ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดในการเกษตร เช่น ข้าวต้านโรคไหม้และใบไหม้ในประเทศไทยและเกาหลีใต้ ข้าวฟ่างไข่มุกต้านโรคราน้ำค้างที่ปลูกอย่างกว้างขวางในตอนเหนือของอินเดีย ข้าวฟ่างต้านวัชพืชหญ้าแม่มดในประเทศซูดาน มันสำปะหลังต้านโมเสคไวรัส ซึ่งทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังในไนจีเรียและแทนซาเนียลดลง 20-90 % ข้าวสาลีต้านเชื้อไวรัสและราสนิทในอเมริกาเหนือ

ส่วนการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อแรงกดดันทางกายภาพและเคมี ซึ่งจะเป็นพันธุ์พืชที่จะต่อกรกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภาวะแล้ง ดินเค็ม หรือน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี เช่น ข้าวพันธุ์ทนแล้งทนเค็มและทนน้ำท่วม พืชทนแล้งในข้าวโพด ถั่วลูกไก่หรือถั่วหัวช้าง และข้าวฟ่าง พืชทนเค็มในข้าวสาลีดูรัม หรือข้าวบาเลย์ต้านทานอลูมินัม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงสายพันธุ์ที่เพิ่มคุณภาพของพืช เช่น ข้าวสาลีโปรตีนสูง ข้าวที่มีความหอมและมีอะไมโลสสูงภายหลังหุงต้ม และปัจจุบันกำลังปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มโปรวิตามินเอ เหล็ก สังกะสี ในพืชต่างๆ

น่าสังเกตว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี MAS สามารถพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นมากมายดังกล่าวข้างต้น แต่พืชจีเอ็มโอแทบไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติมจากสายพันธุ์ทนยาฆ่าหญ้าและทนแมลง ในพืชการค้าหลักๆ ที่พัฒนาเมื่อ 20 ปีที่แล้วเลย ซึ่งรายงานฉบับ นี้ระบุเหตุผลว่าเทคโนโลยีจีเอ็มโอไม่สามารถทำงานในสายพันธุ์ที่ซับซ้อนที่ เกี่ยวข้องกับยีนหลายชนิด เช่น การทนโรคหรือทนแล้งได้ เพราะเหตุนี้ข้าวจีเอ็มโอสีทองเพิ่มวิตามินเอที่ผู้ผลิตใช้เป็นเครื่องมือโป รโมทจีเอ็มโอมากว่ายี่สิบปีแล้วจึงยังไม่ประสบความสำเร็จสักที

คุณผู้อ่านอาจมีคำถามว่าเมื่อเทคโนโลยีชีวภาพ MASมีความก้าวหน้าถึงเพียงนี้ เหตุใดเราหรือสังคมไทยจึงไม่ค่อยได้ยินนักวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานศึกษาวิจัย ของรัฐกล่าวถึงเทคโนโลยี MAS เลย คำตอบหนึ่งก็คือการย้อนกลับไปดูที่มาของนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นดังกล่าว ข้างต้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้คนไทยและรัฐบาลที่ชาญฉลาดจึงไม่ควรถูกชักจูงหรือจำกัดทาง เลือก โดยเชื่อข้อมูลจากกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งจากตัวแทนบริษัทข้ามชาติด้านการเกษตรที่ได้ประโยชน์จากการขายเมล็ด พันธุ์จีเอ็มโอและยาฆ่าหญ้าที่แฝงตัวมาในฐานะผู้เชี่ยวชาญขององค์กรสากล ต่างๆ และจากนักวิทยาศาสตร์ที่ปกป้องผลประโยชน์และการลงทุนในชีวิตของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์สาธารณะและมนุษยชาติเพียงอย่างเดียว

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share