จอห์น แทนเซอร์ หนุ่มใหญ่ชาวออสเตรเลีย เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของ Great Barrier Reef Marine Park Authority พื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จอห์นไม่ใช่นักวิชาการที่ลุ่มลึก เขาสนใจเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่า ปัจจุบันเขาคือหัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทะเลของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประจำอยู่ที่เมืองบริสเบน ออสเตรเลีย
ผมมีโอกาสร่วมงานกับจอห์นอยู่ระยะหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ประทับใจกับความเป็นผู้นำและวิสัยทัศน์ของเขา เราได้มีโอกาสพบกันอีกครั้งเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในงานประชุมเรื่องการอนุรักษ์ทะเลที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก การประชุมที่จอห์นบอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการอนุรักษ์ทะเล
(ภาพจาก: Ocean Conference)
“นี่คือการประชุมเรื่องทะเลที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่สหประชาชาติ ที่นี่คือที่รวมผู้นำจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ผมคิดว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมากว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับทะเล ทะเลคือทรัพยากรพื้นฐานสำหรับการพัฒนาที่สำคัญที่สุด ถ้าเราปล่อยให้ทะเลเสื่อมโทรมไปเรื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่ ผมว่าไม่ต้องเสียเวลาไปพูดถึง SDG หรือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอื่นๆ หรอก”
เหตุผลที่จอห์นให้มามีน้ำหนักพอสมควร เเละอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมสหประชาชาติจึงจัดการประชุมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 14 (Life below Water) ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์ทะเลขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยมีสวีเดนและฟิจิร่วมกันเป็นเจ้าภาพ
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลประโยชน์ที่เราได้จากทะเลอยู่ที่ราวๆ 90,000,000,000,000,000 หรือ 9 หมื่นล้านล้านบาทต่อปี เป็นการประเมินนิเวศบริการแบบคร่าวๆ ที่เราได้จากแนวปะการัง ป่าชายเลน หญ้าทะเล และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทุกรูปแบบ คนประมาณ 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 7 ของประชากรทั้งโลกพึ่งพาทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม
แต่ที่ผ่านมาทะเลถูกใช้อย่างไม่บันยะบันยัง เราทำการประมงเกินขนาดติดต่อกันมาหลายสิบปี ราว 1 ใน 3 ของมหาสมุทรอยู่ในสภาพทะเลที่ว่างเปล่า ในขณะเดียวกันเราก็ปล่อยของเสียและขยะพลาสติกลงสู่ทะเลปีละ 8 ล้านตัน จนทะเลหลายแห่งมีสภาพเหมือนซุปพลาสติก คาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ทะเลมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิก็เพิ่มสูงขึ้นจนปะการังอยู่ไม่ได้ ตายและเสื่อมโทรมไปแล้วราวครึ่งหนึ่งของทั้งโลก
(ภาพ Man and sea โดย Thomas P. Peschak )
จากประสบการณ์การทำงานด้านทะเลมา 30 ปี จอห์นเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญ หลายคนอาจคิดว่ามันก็คงเป็นเหมือนการประชุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา คือ NATO – No Action Talk Only ซึ่งทุกคนในวงการรู้ดีว่าสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่หลักฐานว่าทะเลกำลังเสื่อมโทรมขนาดไหน เราไม่ต้องการคำอธิบายอะไรอีกแล้ว แต่เราต้องการการลงมือทำ เราต้องการความตั้งใจจริงจากคนในระดับผู้นำจากทุกประเทศ
เวลานั้นอาจเดินทางมาถึงแล้ว เวลาที่การอนุรักษ์ทะเลกลายเป็นวาระสำคัญร่วมกันของโลก อย่างที่นายอังตอนีอู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า “เราต้องยอมแลกผลประโยชน์ระยะสั้นของแต่ละประเทศเพื่อป้องกันหายนะระยะยาว การปกป้องมหาสมุทรและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนความจริงแล้วก็คือการปกป้องทุกชีวิต…. เราต้องเปลี่ยนจากความพยายามในระดับชุมชนและระดับประเทศมาเป็นความร่วมมือและการประสานงานกันอย่างเร่งด่วนในระดับโลก”
ความท้าทายสำคัญสี่เรื่องที่โลกต้องร่วมกันหาทางออกในการปกป้องทะเลคือ 1) การรักษาระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต 2) การควบคุมการปล่อยของเสียและมลภาวะโดยเฉพาะขยะพลาสติก 3) การฟื้นฟูผลผลิตจากท้องทะเลในระยะยาว และ 4)การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน
จะว่าไปทั้งสี่เรื่องคือต้นตอวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก ความที่ทะเลรองรับผลกระทบทุกอย่างจากกิจกรรมของมนุษย์ สุขภาพของทะเลจึงเป็นตัวบ่งชี้สุขภาวะแวดล้อมโดยรวมของโลกได้เป็นอย่างดีที่สุด ทะเลพัง คนก็พัง ง่ายๆ แค่นั้น
(ภาพจาก: UN Ocean Conference)
การประชุมเรื่องมหาสมุทรโลกตลอด 5 วันมีหัวข้อครอบคลุมแทบจะทุกเรื่อง และมีการให้น้ำหนักเรื่องของทางออกในการแก้ปัญหาเป็นพิเศษ แต่ละประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถส่งพันธกิจ (Commitment) ว่าตัวเองจะช่วยแก้ปัญหาทะเลด้านใดได้บ้าง ซึ่งพอถึงวันสุดท้ายปรากฎว่ามีคำประกาศจากประเทศต่างๆ ส่งเข้ามามากถึง 1,372 หัวข้อ ความพยายามและคำมั่นสัญญาทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้มีการดำเนินการด้านต่างๆให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) 14 ที่ว่าด้วยการปกป้องมหาสมุทร
ต่อไปนี้คือ 5 นวัตกรรมและโครงการความหวังใหม่ในการศึกษาวิจัยและปกป้องมหาสมุทรของเรา
1. Global Fishing Watch เป็นฐานข้อมูลเบต้าสาธารณะที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตสามารถติดตามกิจกรรมของเรือประมงพาณิชย์ได้ทั่วโลกแบบฟรีๆ ระบบติดตามเรือประมงแบบทางไกลและแผนที่แสดงเส้นทางการทำประมงแบบเกือบจะเรียลไทม์ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์กร Oceana ร่วมกับ Skytruth และ Google ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าทุกคนสามารถติดตามได้ว่าเรือแต่ละลำทำประมงที่ไหน เมื่อไหร่ นั่นเท่ากับช่วยสร้างความโปร่งใสและระบบการตรวจสอบกิจกรรมประมงที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้ จึงเป็นแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อย่างได้ผลที่สุด ล่าสุดประเทศอินโดนีเซียอาสาเปิดเผยข้อมูลเส้นทางการเดินเรือประมงพาณิชย์ทุกลำแบบไม่ปิดบัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย
2. Plastic Ocean เราได้เห็นการหยิบยกเรื่องขยะพลาสติกในทะเลมาเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ก่อนหน้าไม่กี่เดือนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ก็เปิดตัว #CleanSeas การรณรงค์ที่ตั้งเป้ากำจัดถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและไมโครพลาสติกในเครื่องสำอางค์ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของขยะพลาสติกในทะเลภายในปี 2022 หลายประเทศเริ่มสร้างกลไกในการลดขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมเช่น อุรุกวัย ที่จะดำเนินการเก็บภาษีถุงพลาสติกภายในสิ้นปีนี้ หรืออินโดนีเซียที่ประกาศจะลดขยะในทะเลให้ได้ 70% ภายในปีค.ศ. 2025 ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า โดยประกาศว่าจะเปิดตัวแผนการจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการตั้งแต่การใช้กลไกทางการเงิน การส่งเสริมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนายุทธศาสตร์ 3 R (Reduce-Reuse-Recycle) อย่างเป็นรูปธรรม ภายในงานประชุมยังมีการแสดงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำเอาขยะพลาสติกและเครื่องมือประมงเก่าที่เก็บได้มาเป็นวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ เป้ เสื้อแจ็คเก็ต ชุดราตรี ถุงเท้า ไปจนถึงแว่นกันแดด และงานศิลปะ Art for Ocean ขนาดใหญ่แสดงหน้าสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ
3. SkySails คือนวัตกรรมการสร้างพลังงานจากลมด้วยร่มชูชีพ ด้วยหลักการที่ว่าลมในระดับสูงมีพลังงานสูงกว่าลมในระดับพื้นผิวมาก Skysail จึงออกแบบใบเรือที่มีลักษณะคล้ายว่าวหรือร่มชูชีพติดกับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งช่วยประหยัดน้ำมันได้มากสูงสุดถึงหนึ่งในสาม ด้วยความที่สินค้าราว 90% ทั่วโลกยังคงอาศัยเรือบรรทุกสินค้าที่เดินทางข้ามมหาสมุทร การปรับปรุงให้เรือบรรทุกสินค้าเหล่านี้ประหยัดน้ำมันและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ไม่น้อย
(ภาพจาก: http://www.skysails.info/)
4. Fishface เป็น application ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย The Nature Conservancy ที่จะช่วยในการจำแนกชนิดปลาจากภาพถ่ายแบบเดียวกับที่ Facebook ใช้แทคภาพถ่ายของเรา เทคโนโลยีอย่าง Fishface จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการประเมินสถานภาพของปลาชนิดต่างๆ เพราะความท้าทายสำคัญในการจัดการประมงอย่างยั่งยืนคือการประเมินทรัพยากรประมง (Stock assessment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงที่จับปลาหลายๆชนิดพร้อมกันในประเทศเขตร้อนอย่างอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อไม่มีข้อมูลที่แม่นยำก็ยิ่งยากในการจัดการได้อย่างถูกต้อง และกลายเป็นข้ออ้างของการไม่แก้ปัญหา โดยปกติวิธีการในการประเมินทรัพยากรประมงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจำแนกชนิดปลา และใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เทคโนโลยีอย่าง Fishface จะช่วยให้การสำรวจติดตามทรัพยากรประมงมีราคาที่ถูกลงและมีความแม่นยำขึ้น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การประมงทั่วโลกมีความโปร่งใสและมีความยั่งยืนมากขึ้น
5. Snotbot คือหุ่นยนต์บินได้ที่สามารถใช้บังคับให้บินไปลอยตัวอยู่เหนือวาฬเพื่อเก็บตัวอย่างเมือกตอนที่วาฬพ่นน้ำ ข้อมูลที่เก็บมาได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะข้อมูลด้านพันธุกรรม โดยที่ไม่ต้องจับสัตว์มาให้เกิดความเครียด อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles – UAVs) และโดรน เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพของงานวิจัยด้านชีววิทยาทางทะเลขี้นอย่างมาก รวมไปถึงการติดตามสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการตรวจตรากิจกรรมผิดกฎหมายในเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งช่วยประหยัดน้ำมัน ประหยัดกำลังคน และเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย ภาพสวยๆ ที่ได้จากการถ่ายทางอากาศสามารถนำมาใช้เป็นสื่อในการสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะได้มากยิ่งขึ้น ลองดูตัวอย่างวิดีโอฝูงโลมาและวาฬที่ถ่ายด้วยโดรนจากแคลิฟอร์เนียและฮาวายได้ที่นี่ drone videos
จะเห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือพยายามทำให้ทะเลเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้ทุกคนรู้คุณค่าและเข้าใจถึงปัญหาที่ทะเลกำลังเผชิญอยู่ และที่สำคัญที่สุดคือการตระหนักว่าการแก้ปัญหาใหญ่ๆอย่างมหาสมุทร สุดท้ายต้องเริ่มจากตัวเราเอง