ในสังคมที่ประชาชนเข้าถึงข่าวสารและมีความรู้ การโฆษณาชวนเชื่อที่พูดถึงแง่ดีแบบสุดขั้วหรือพูดความจริงเพียงด้านเดียวเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าหรือองค์กรจะเป็นดาบคมที่สองที่หันมาทิ่มแทงภาพลักษณ์ขององค์กรเสียเอง
โฆษณาชิ้นล่าสุดของสภาการเหมืองแร่ออสเตรเลียชื่อ Little Black Rock ที่บอกว่าถ่านหินเป็นเรื่องมหัศจรรย์เพราะ สร้างทั้งงานและแสงสว่าง และเทคโนโลยีใหม่ก็ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 40 % กลับเป็นแค่เพียง การโฆษณาชวนเชื่อในสายตาของคนออสเตรเลียที่ได้ชื่อว่ามีความรู้และการศึกษา ดังนั้นผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุด จึงพบว่าคะแนนนิยมที่มีต่อองค์กรผู้โฆษณาลดลงฮวบฮาบ
โฆษณานี้ขยายให้เป็นภาพของก้อนถ่านหินสีดำสนิทโดยละเอียดพร้อมเสียงบรรยายว่า “ความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบที่สร้าง รายได้ให้ออสเตรเลีย 4 หมื่นล้านเหรียญ และลดการปลอดปล่อยก๊าซ 40 เปอร์เซนต์ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์หรอก หรือที่หินสีดำก้อนเล็กๆ ทำได้ถึงเพียงนี้” โฆษณาชิ้นนี้ยังบอกอีกว่าถ่านหินเป็น “บทบาทที่ขาดไม่ได้” เพราะถ่านหินมี บทบาทสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าและเหล็กราคาถูกและสร้างงาน ดูโฆษณาที่นี่ (https://youtu.be/IKp8W1jBuHw)
ระหว่างที่โฆษณาชิ้นนี้เริ่มต้นเผยแพร่ทางสื่อทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์พร้อมกันในเดือนกันยายน 2558 ผลการสำรวจพบว่าผู้ที่ชื่นชอบถ่านหินที่ติดลบอยู่แล้วยังลดลงอีก 9 % โดยก่อนโฆษณามีคะแนน -18 พอโฆษณา เผยแพร่เพิ่มเป็น -27 ถือว่าเป็นความล้มเหลวของการประชาสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิง
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในออสเตรเลียบอกว่าเป็นความพยายามที่ “น่าขัน” และ “สิ้นหวัง” ในการนำถ่านหินมาต่อสู้ กับพลังงานสะอาดและโลกร้อน ทั้งๆ ที่เป้าหมายสำคัญคือการออกโฆษณาเพื่อสนับสนุนการเปิดเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ เพราะโฆษณาชิ้นนี้ออกมาในช่วงที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้านการเปิดเหมืองขนาดใหญ่แห่งใหม่ในรัฐควีนสแลนด์และรัฐนิวเซาท์เวลล์
ซีอีโอของมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์แห่งออสเตรเลียบอกว่า ความจริงแล้วก้อนหินเล็กๆ อย่างถ่านหินมันเป็นสิ่งอันตราย ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ ทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองทั่วโลกต่างรู้ว่าปล่อยมลพิษและอันตราย แต่คนที่ (แสร้งว่า) ไม่รู้ก็คือสภาการเหมืองแร่และรัฐบาลนั่นเอง
โฆษณาชิ้นนี้อ้างว่าเทคโนโลยีใหม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณต่ำ และเทคโนโลยีเรื่องการจับและเก็บกับคาร์บอน (CCS) เป็นจริงแล้ว แต่ปัจจุบันทั่วโลกโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่เพียงแห่งเดียว ซึ่งอยู่ที่ประเทศแคนาดาไม่ใช่ออสเตรเลีย ส่วนที่ออสเตรเลียมีโครงการหนึ่งที่จะแล้วเสร็จในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า จึงหมายความว่าจะยังไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทคโนโลยีใหม่มาทดแทนโรงงานเก่าและล้าสมัยที่ปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมภายใน 10 ปีนี้ ขณะที่คณะทำงาน นานาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบอกว่าถ้าจะหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนขั้นรุนแรง จะต้องมีโรงงาน ถ่านหินเทคโนโลยีใหม่มาแทนที่ของเดิมภายในปี 2100
เพื่อตอบโต้โฆษณาชวนเชื่อของสภาการเหมืองแร่ มีโฆษณาอีกชิ้นนี้เผยแพร่ทางยูทูปในเวลาใกล้เคียงกัน ในโฆษณาชิ้นนี้ใช้ภาพถ่านหินก้อนเล็กๆ สีดำเหมือนกัน แต่ข้อมูลตรงกันข้าม
“มันทำให้เกิดการทำลายล้างทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่สิ้นสุด มันทำให้เกิดก๊าซคาร์บอน โรคระบบทางเดินหายใจ และหน้าผาดินอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในบริเวณเหมืองถ่านหินคนเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 4 เท่า คน 50 ล้านคนต้องโยกย้ายจากประเทศของตัวเองสู่ประเทศเรา มันสร้างงานให้กับเครื่องจักรต่างๆ นับหมื่นนับแสนแทนที่มนุษย์ที่สูญเสียงานให้กับเครื่องจักรไปถึง 52 % เนื่องจากความต้องการถ่านหินลดลง ทศวรรษนี้ถ่านหินจึงราคาถูกที่สุด แต่ผลของการใช่ถ่านหินก็จะยังดูแสนแพง เพราะถ้าเราใช้มันอย่างเร็วที่สุด โลกของเราก็จะดูเหมือนเจ้าหินสีดำก้อนเล็กๆ ก้อนนี้ อะไรก็ตามที่ดีต่อมนุษย์ชาติ เจ้าก้อนนี้คือสิ่งตรงกันข้าม” ดูโฆษณาได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=1vGW49gJE-Q
จะเห็นได้ว่าการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับประโยชน์และความสะอาดของถ่านหินจะเข้มข้นในช่วงเวลาที่มีการผลักดันให้มี การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือทำเหมืองถ่านหิน ในบ้านเราขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ดังนั้นจึงมักเห็นโฆษณาว่า ถ่านหินเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าราคาถูกกว่าพลังงานชนิดอื่น และการเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าจะช่วยสร้าง ความมั่นคงด้านพลังงานปรากฏตามหน้าสื่อกระแสหลักอยู่เนืองๆ
สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เราผู้รับสื่อจะรู้เท่าทันหรือยอมตกเป็นเครื่องมือของโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้