ความแปลกอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือเราเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดที่มีอายุยืนยาวตามธรรมชาติได้นานหลังวัยเจริญพันธุ์
ไข่ของมนุษย์ผู้หญิงจะถูกปล่อยทิ้งหมดไปเมื่ออายุราว 40-50 ปี ประจำเดือน (menstruation) หมดก็เข้าสู่วัยทอง แต่พวกนางก็ยังมีเรี่ยวแรงไม่แก่ตายโดยเร็ว แม้ในยุคที่การแพทย์ยังไม่ล้ำจนสามารถยืดอายุมนุษย์ได้ยาวนาน ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ยังอายุยืนหลังวัยทองไปได้อีกหลายสิบปี เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ในหมู่ชนเผ่าล่าสัตว์เก็บของป่า จึงต้องสรุปว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์
ต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่ หลายชนิดมีชีวิตเพียงเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ออกลูกครั้งเดียวแล้วตาย อีกหลายชนิดออกลูกได้หลายครั้งหลายปี แต่เมื่อหมดความสามารถในการสืบพันธุ์แล้วก็ตาย
ถ้าไม่นับสัตว์ที่คนเอามาเลี้ยงดูแลในสถานเพาะเลี้ยงต่างๆ สัตว์ป่าในธรรมชาติที่มีวัยทองเท่าที่เรารู้มีไม่มากนัก อาทิวาฬเพชฌฆาตประเภทไม่อพยพ วาฬนำร่องครีบสั้นหรือโลมาหัวกลม เพลี้ยอ่อนสังคมที่สร้างหูดบนพืช (gall-forming social aphid) เป็นต้น
มันเป็นปรากฎการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ยังงุนงง มีทฤษฎีถกเถียงกันมากมายถึงเหตุผลการวิวัฒนาการคุณลักษณะนี้ หลายทฤษฎีฟังดูเข้าท่า แต่พอตรวจสอบข้อมูลก็ล้มพับไป จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่มีข้อสังเกตน่าพิจารณา
สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์สังคมซึ่งตัวอ่อนต้องได้รับการดูแลเป็นเวลานานเพื่ออยู่รอด วาฬเพชฌฆาตเด็กต้องการแม่ดูแลยาวนานยิ่งกว่ามนุษย์อีก มันมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมายกว่าจะหากิน หลีกเลี่ยงภัยเสี่ยงในชีวิตได้ แม่และยายที่มีประสบการณ์มีความสำคัญมากๆ โดยเฉพาะในช่วงยากแร้น เพราะต้องอาศัยความรู้ทางนิเวศท้องถิ่นเป็นอย่างดีที่จะอยู่รอดผ่านพ้นภาวะลำบากไปได้ ไหนยังต้องเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมทะเลอีก
มนุษย์ก็เช่นกัน ในสังคมโบราณจวบจนไม่นานมานี้ หญิงวัยทองยันนางเฒ่ามีบทบาทสำคัญในครอบครัวและชุมชน เป็นผู้ช่วยเลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ แบ่งเบาภาระให้แม่สาวๆ ออกไปทำมาหากิน นางเฒ่าหลายคนยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้และปัญญาจากประสบการณ์ที่สะสมมานานปี คนในสังคมได้อาศัยปรึกษาหารือ
แต่ความต้องการผู้มีประสบการณ์ช่วยเลี้ยงดูเด็กและแก้ปัญหาให้ชุมชนก็ไม่ใช่เหตุผลเด็ดที่จะฟันธงสำหรับอธิบายปรากฎการณ์วัยทอง สัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิดก็อยู่กันเป็นสังคมและช่วยกันเลี้ยงเด็ก
ยกตัวอย่างช้าง ช้างเป็นสัตว์อายุยืนยาวเครือๆ มนุษย์ ไข่ฟอร์มเป็นตัวมาตั้งแต่มันอยู่ในครรภ์แม่ เหมือนกับมนุษย์ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในอายุใกล้เคียงกับเรา แต่ช้างตัวเมียไม่มีภาวะวัยทอง งานวิจัยในแอฟริกาพบว่าแม่เฒ่าช้างอายุ 70 ปียังมีไข่ดีๆ เก็บไว้ถึง 11,000 ใบ
ช้างเป็นสัตว์สังคม มีนางเฒ่าเป็นจ่าโขลง พวกมันช่วยกันดูแลลูกช้างทุกตัวร่วมกัน เพื่อให้นางแม่ได้มีเวลาหากินผลิตน้ำนม นางจ่าเฒ่าเป็นผู้มีประสบการณ์ทรงปัญญาที่สุด เป็นผู้แนะนำโขลง ฉลาดเฉลียวเอื้ออาทรณ์จนได้รับเลือกเป็นผู้นำ เมื่อนางตาย บทบาทจ่าโขลงมักจะถูกส่งต่อไปยังลูกสาวคนโตของนาง คล้ายคลึงกับวาฬเพชฌฆาต ออกจะเป็นสังคมสืบสายเลือดขัติวงศ์ ยกเว้นในบางกรณีที่มีนางช้างคุณสมบัติเลอเลิศอาจหาญขึ้นมาเทียบและได้การยอมรับจากช้างตัวอื่น
ไม่ว่าจะยังไง วัยทองคงจะไม่วิวัฒนาการขึ้นมาถ้าประโยชน์โดยรวมของวัยทองมีไม่มากเหนือการดำรงความสามารถในการสืบพันธุ์ ซึ่งอาจผสมผสานการเลี่ยงอันตรายของการมีลูกเมื่อร่างกายแก่ลง กับประโยชน์ในการดูแลเครือญาติผู้รับถ่ายทอดพันธุกรรมของตัว ฯลฯ
ประโยชน์ที่เหนือกว่าของวัยทองเห็นได้ชัดในเพลี้ยอ่อนสังคม ตอนเป็นตัวไม่มีปีกอาศัยอยู่ในหูดพืชที่มันกระตุ้นให้พืชสร้างขึ้นมา (plant gall) มันจะเป็นแม่ออกลูกไม่มีปีกมารุ่นหนึ่ง เสร็จแล้วมันจะกลายเป็นตัวมีปีกออกมาจากหูดพืช ในขั้นนี้เพลี้ยอ่อนมีปีกส่วนหนึ่งจะทิ้งระบบสืบพันธุ์ เปลี่ยนไปพัฒนาอวัยวะฉีดขี้ผึ้งขึ้นมาแทน เป็นอาวุธจัดการเคลือบศัตรูที่จะเข้าไปกินเพลี้ยอ่อนไม่มีปีก พวกมันกลายเป็นนักรบนางอเมซอนวัยทองปกป้องสังคม
วัฒนธรรมสังคมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สมองโตสลับซับซ้อนกว่าเพลี้ยอ่อน การที่สัตว์ชนิดใดวิวัฒนาการวัยทองขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องที่จะวัดชั่งตวงให้สรุปได้ง่ายๆ
ประเด็นสำคัญกว่าที่เราต้องพิจารณาคือบทบาทของคนวัยทองวัยชราที่จะต้องปรับตัวในวันนี้ เมื่อปัจจัยขับเคลื่อนวิวัฒนาการเปลี่ยนไป ถ้าวัยทองวัยเฒ่าไม่สามารถเสริมความเข้มแข็งให้แก่สังคม มันก็เสี่ยงต่อการเป็นเพียงลักษณะคงเหลือจากวันวาน เหมือนไส้ติ่ง ที่กลายเป็นข้อให้ขบคิดว่ามันเป็นมาได้อย่างไร และหวังว่ามันจะไม่อักเสบ
ในโลกที่วิถีชีวิตเราพึ่งธรรมชาติโดยตรง ความรู้และประสบการณ์สะสมของผู้เฒ่าเป็นทรัพยากรสำคัญของสังคม แต่ในวันนี้ที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เป็นภาวะที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ประสบการณ์ทั่วไปของผู้เฒ่าทั่วไป (ที่ไม่รู้จักธรรมชาติอีกต่างหาก) ไม่อาจสนองหาทางออกรับมือได้อีกต่อไป
แต่เมื่อกูเกิ้ลดูเรื่องบทบาทคนแก่ กลับพบว่ามีเว็บไซต์และบทความเขียนโดยคนแก่ให้คนแก่ในหลายวัฒนธรรม ตั้งแต่อินเดียยันอเมริกา ที่ยืนยันว่าคนแก่เป็นผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน มีปัญญาและประสบการณ์ที่จะนำสังคม เรียกว่า ดีเอ็นเอช้างเฒ่า วาฬเพชฌฆาตเฒ่า ยังแรงอยู่
บางคนก็วางแผนจะเป็นผู้เฒ่าทรงปัญญาทางจิตวิญญาน ส่องแสงสว่างแก่ผู้คนสืบไป
ไม่มีใครเถียงว่าผู้เฒ่าที่เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตจนพัฒนาวุฒิภาวะ มีความนิ่ง ความเบาแบบโรเบิร์ต เดนิโร ในหนังเรื่อง The Intern เป็นบุคคลิกน่าคบหา แต่ผู้เฒ่าที่ตั้งใจจะแก่ไปสั่งสอนผู้อื่นออกจะน่าสยอง
คนแก่รุ่นใหม่จำนวนมากไม่มีลูกหลานให้เลี้ยงดู ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตัวแน่เหมือนวาฬเฒ่า แถมกำลังวิตกว่าตัวเองจะเป็นภาระสังคม ตัวเองไม่ทันโลก ตัวเองไร้ประโยชน์ ไม่มีความหมายในโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อนๆ เบบี้บูมเมอร์รุ่นสุดท้ายที่เป็นโสดล้วนหวังจะไม่มีอายุยืนยาว ขอเพียงได้ดูแลพ่อแม่ตัวเองในวาระสุดท้ายแล้วค่อยไป
ในวัฒนธรรมชนเผ่าดั้งเดิมของอินเดียนแดง เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง ถือว่าเป็นวาระช่วงเปลี่ยนผ่านพระจันทร์สีแดง (Red Moon Passage) นางจะปลีกตัวไปเข้าเงียบภาวนาในป่า เพื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และงอกงามขึ้นมาใหม่บนปุ๋ยของชีวิตที่ผ่านมา
นางและนายเฒ่ายุคนี้อาจน่าลองทำอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่เข้าสังคมวัด แต่ไปอยู่นิ่งสันโดษในธรรมชาติ ให้ธรรมชาติที่วิวัฒนาการเรามาบอกเรา
บางทีเราจะค้นพบความหมายชีวิตวัยชราศตวรรษ 21
กรุงเทพธุรกิจ, สิงหาคม 2560