in on April 5, 2016

บทเรียนจากบราซิล เมื่อการฟื้นป่าคือการพัฒนาเศรษฐกิจ

read |

Views

ถ้าคุณยังหยุดยั้งการทำลายป่าไม่ได้อย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องการฟื้นฟูเปโดร บรันคาเลียน อาจารย์หนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยเซาเปาโล เริ่มต้นการบรรยายเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูป่าในบราซิลไว้อย่างนั้น

เปโดรเป็นนักวิชาการด้านการฟื้นฟูป่าไม้รุ่นใหม่ซึ่งกำลังมาแรงที่สุดคนหนึ่งความกระตือรือร้นด้วยพลังอันเหลือเฟือฉายออกมาในแววตาและการพูดเขาอธิบายวิวัฒนาการการทำลายป่าและการฟื้นฟูป่าในบราซิลได้อย่างแจ่มแจ้ง

เปโดรเล่าว่าการทำลายป่าเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่คู่กับบราซิลมาทุกยุคสมัยผู้คนถางป่าเพื่อเปลี่ยนไปเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์เพราะนั่นคือการหาเงินที่ง่ายที่สุดแม้ตัวเลขโดยรวมจะแสดงว่าพื้นที่ป่าไม้ในบราซิลลดลงอย่างมากแต่หากแบ่งตามลักษณะทางภูมิภาคก็จะเห็นว่าสถานการณ์แต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป

พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้หรือทางชายฝั่งแอตแลนติกเป็นที่ตั้งของเมืองขนาดใหญ่มีป่าเหลือแค่ 12% แต่ทางตะวันตกเฉียงเหนือในลุ่มน้ำอเมซอนยังมีพื้นที่ป่าปกคลุมมากถึง 85% เปโดรบอกว่าการอนุรักษ์ป่าที่ดีเเละถูกที่สุดคือการปกป้องไม่ให้ป่าธรรมชาติถูกทำลายแต่ในพื้นที่เช่นชายฝั่งแอตแลนติกที่เหลือป่าอยู่น้อยมากการฟื้นฟูระบบนิเวศจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น

การฟื้นฟูป่าในบราซิลไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไป 150 ปีที่แล้ว นายพลมานูเอล อาร์เชอร์ ผู้บริหารการป่าไม้คนแรกบุกเบิกการฟื้นฟูป่าใกล้เมืองริโอ เดอ เจนาโร ด้วยความเป็นห่วงว่าเมืองริโอจะไม่มีน้ำใช้ เพราะป่าต้นน้ำบนเขา Tijuca ถูกเปลี่ยนเป็นไร่กาแฟไปหมดเขาตัดสินใจเริ่มต้นปลูกป่าด้วยตนเอง

ภายในเวลา 13 ปี เขาและทีมงานไม่กี่คนปลูกต้นไม้ไปมากกว่า 1 แสน 2 หมื่นต้น จนความชุ่มชื้นเริ่มกลับคืนมาจนทำให้ Tijuca กลับมาเป็นป่าอีกครั้ง และได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานชาติในเวลาต่อมา ป่า Tijuca ยังคงทำหน้าที่เป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงเมืองริโอมาจนถึงปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนสำคัญในการอนุรักษ์ป่าของบราซิลก็คือการตราบัญญัติป่าไม้ หรือ Forest Code เมื่อปีค..1934 เริ่มมีการกำหนดว่าในพื้นที่ถือครองโดยเอกชนนั้นจำเป็นจะต้องเหลือพื้นที่ป่าไว้อย่างน้อยเท่าไหร่ ตั้งแต่ร้อยละ 20 ไปจนถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่รวมไปถึงการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ถาวร

การปรับปรุง Forest Code ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2012 มีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเพราะดูเหมือนจะยกประโยชน์ให้กับผู้บุกรุกป่า แต่ขณะเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง แม้จะอนุโลมให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตป่าทำมาหากินต่อไปได้แต่จะต้องมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 20-80% ในที่ทำกินหากยึดตามเป้าหมายของกฎหมายฉบับปัจจุบัน บราซิลต้องฟื้นฟูป่ามากกว่า 120 ล้านไร่ โดยเกือบ 40 ล้านไร่อยู่ในเขตอเมซอน

เมื่อบรรยายถึงตรงนี้เปโดรเปรียบเทียบการตัดไม้ทำลายป่ากับการฟื้นฟูป่าโดยฉายภาพสนามฟุตบอลที่เอียงกระเท่เร่ไปข้างหนึ่งฟากหนึ่งที่อยู่ด้านบนคือวัวเป็นตัวแทนของทุ่งเลี้ยงสัตว์ศัตรูหมายเลขหนึ่งของการทำลายป่าในบราซิลอีกฟากหนึ่งคือต้นไม้ตัวแทนของป่าที่เสียเปรียบทุกด้านแข่งอย่างไรก็คงไม่ชนะแล้วบราซิลพลิกสถานการณ์ป่าไม้ได้อย่างไร

เปโดรเล่าว่า กรมป่าไม้ของบราซิลเริ่มนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เช่นการสำรวจทางไกล (remote sensing) มีระบบรายงานผลการลาดตระเวนที่เเสดงผลเป็นปัจจุบันการตรวจตราการบุกรุกทำลายป่าจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึงแม้จะยังมีการบุกรุกอยู่เรื่อยๆแต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันการตรวจพบและบังคับใช้กฏหมายก็เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พร้อมๆ กับการกันเขตอนุรักษ์ของชนพื้นเมือง เฉพาะปี 2010 มีการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นถึง 156 ล้านไร่หรือคิดเป็นพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของไทย ในขณะเดียวกันก็สะสางปัญหาที่ดินของชนพื้นเมือง โดยทำรังวัดขอบเขตอย่างชัดเจนให้เเล้วเสร็จไปกว่า 62 ล้านไร่

ภายในระยะเวลา 10 ปีอัตราการทำลายป่าในอเมซอนที่เคยสูงถึงกว่า 17 ล้านไร่ต่อปีเมื่อปี 2004 ลดลงเกือบ 80% เหลือราว 3.6 ล้านไร่ต่อปีในปี 2013 โดยรัฐบาลบราซิลตั้งเป้าสำหรับหยุดยั้งการทำลายป่าให้ได้อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2020 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า

การพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรวดเร็วของบราซิลประกอบนโยบายที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ทำให้สถานการณ์ป่าไม้ในบราซิลมีแนวโน้มดีขึ้นนอกจากการดูแลรักษาป่าที่เหลืออยู่แล้ว ภารกิจข้างหน้าคือการฟื้นฟูป่าให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่โจทย์ใหญ่ของการฟื้นฟูป่าในพื้นที่เอกชนก็คือจะโน้มน้ามให้ผู้ถือครองที่ดินลุกขึ้นมาฟื้นฟูป่าได้อย่างไร

เปโดรชี้ว่าคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ นักอนุรักษ์ต้องนำเสนอรูปแบบการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากพอสำหรับผู้ถือครองจะยอมแบ่งที่ดินมาฟื้นฟูป่า

เปโดรเชื่อว่ารูปแบบดังกล่าวเป็นไปได้หากนักอนุรักษ์รวมหัวกับนักวิชาการเกษตรและนักเศรษฐศาสตร์คิดค้นการใช้ที่ดินในรูปแบบกิจการเพื่อสังคมการจัดการพื้นที่ในรูปแบบวนเกษตรก็ดีหรือเกษตรผสมผสานก็ดีร่วมกับการใช้ประโยชน์ของป่าจากป่าที่ได้รับการฟื้นฟูเป็นรูปแบบที่ใช้ที่ดินน้อยลงแต่ให้ผลผลิตมากขึ้นหากสามารถแสดงผลตอบแทนการลงทุนที่ชัดเจนย่อมสามารถขยายผลในระดับกว้างได้เพราะปัจจุบันมีพื้นที่เสื่อมโทรมจำนวนมากแทบจะไม่ให้ผลตอบแทนอะไรเลย

หลังการบรรยายผมหาโอกาสมาคุยกับเปโดรต่อนอกรอบ ซึ่งเห็นว่าแนวทางดังกล่าวน่าสนใจมาก โดยเฉพาะในเขตป่ากันชนและพื้นที่ป่าสงวนที่หมดสภาพไปแล้วซึ่งมีพื้นที่อยู่หลายล้านไร่ในประเทศไทย

เปโดรย้ำว่าเราต้องผลักดันให้เรื่องของการฟื้นฟูป่าหรือระบบนิเวศเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ให้ได้ไม่อย่างนั้นการอนุรักษ์ก็จะกลายเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยต่อไปและเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จในภาพใหญ่

ถ้าเราเอาผ้าไปเช็ดน้ำแข็ง เช็ดเท่าไหร่มันก็ไม่แห้งจริงมั้ย การอนุรักษ์ที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น เราต้องเปลี่ยนระบบการผลิต เปลี่ยนวิธีคิด และนำกลไกทางเศรษฐศาสตร์มาช่วย มันอาจจะยาก แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้

เปโดรเป็นคนมองโลกในแง่ดีผมคิดอย่างนั้นและเชื่อว่านี่คือคุณสมบัติสำคัญของนักอนุรักษ์

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th
  2. ภาพจาก: Pedro Brancalion University of São Paulo
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share