in on October 28, 2018

เมื่อดอกไม้รักเรา

read |

Views

อุทยานแห่งชาติหุบเขาแห่งดอกไม้ (Valley of Flowers) ซุกตัวอยู่ในร่องซอกหลืบหิมาลัยตะวันตกบริเวณต้นน้ำคงคา รัฐอุตตราขัณฑ์ของอินเดีย ไม่ใช่ที่ที่จะไปถึงได้ง่ายนัก แต่ผู้คนก็บากบั่นเดินทางมาเยือนกันมากมาย แม้ต้องนั่งรถสองวัน แล้วเดินต่ออีกหนึ่งวันเพื่อปักหลักวางกระเป๋าพักแรมในหมู่บ้านแกงกาเรียที่อยู่ใกล้อุทยานที่สุด ยึดตรงนี้ไว้เป็นฐานที่มั่น เพราะเขาห้ามค้างในอุทยาน

ดังนั้นหากจะเข้าถึงตัวหุบเขาดอกไม้ เรายังจะต้องเดินขึ้นเขาต่อไปถึงด่านทางเข้าอุทยาน ลงชื่อไว้ แล้วเดินข้ามน้ำและเขาอีกลูกหนึ่งกว่าจะถึงหุบเขาอันเลื่องลือแห่งนี้ ถ้าโชคไม่ดีฝนตกหนักเมฆหมอกหนาก็อาจไม่เห็นอะไรมากนัก หรือดูดอกไม้ยังไม่ถึงไหน ถึงเวลาบ่ายก็ต้องรีบเดินข้ามเขากลับ จะแอบไม่กลับก็ไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานจะไล่เดินตามเทรล ต้อนให้ออกมา เดินกลับไปนอนที่หมู่บ้านเพื่อตื่นแต่เช้ากลับมาปีนเขาลูกเดิมเข้าไปใหม่ในวันรุ่งขึ้น หวังว่าเมฆหมอกจะเคลียร์ ฟ้าจะเปิดให้เห็นเขาหิมะรอบหุบได้บ้าง ถ้าโชคดี (เหมือนพวกเรา) จะเห็นถึงยอดนันทาเทวี

จริงๆ ก็มีหุบเขาที่เต็มไปด้วยดอกไม้อีกหลายแห่งในหิมาลัยแถบนั้น แต่คนก็มาที่นี่กันมากที่สุด เพราะมันดังที่สุด มันดังเพราะสมญานาม “หุบเขาแห่งดอกไม้” ที่กลุ่มนักสำรวจปีนเขาชาวอังกฤษนำโดยแฟรงค์ สมิธ ผู้บังเอิญค้นพบหุบเขานี้ในปี ค.ศ.1931 ได้ตั้งให้ นอกจากนี้มันยังมีการจัดการที่ทำให้ชีวิตค่อนข้างสะดวกแม้ไม่อู้ฟู่ ทั้งที่พัก อาหาร การเดินทาง เมื่อเทียบกับความพยายามไปรอนแรมชมหุบเขาอื่นๆ

นักท่องเที่ยวจึงเยอะพอๆ กับดอยอินทนนท์ โดยเฉพาะในช่วงต้นทาง แต่ความรู้สึกไม่ยักเหมือนกัน

คนส่วนใหญ่ 90% ที่ดั้นด้นมาที่นี่เป็นชาวอินเดียจากทั่วทุกสารทิศ หลายคนมาจากพื้นราบกลางประเทศ ไม่เคยเห็นภูเขามาทั้งชีวิต ทุกคนล้วนมีจุดประสงค์เดียวกัน คือเพื่อดูดอกไม้ เราจึงสัมผัสได้ถึงความปิติของคนเมื่อเห็นดอกไม้ต่างๆ นานา โดยเฉพาะดอกเล็กดอกน้อยที่อาจถูกมองข้าม คุณป้าอินเดียนางหนึ่งถือกล้องเลนส์ไมโครเล็กๆ มองหาดอกไม้แล้วยื่นแขนไปถ่ายแชะ ยิ้มลมัย หันไปทางซ้าย อุ๊ย! นี่อีกดอกนึง ยื่นไปแชะ ยิ้มอย่างเป็นสุข แล้วเลยหันมายิ้มให้ฉัน “มันช่างวิเศษจังเลยนะ”

คุณลุงอีกคนเดินดูดอกไม้อยู่คนเดียว แล้วเกิดตื่นเต้น อยากแบ่งปัน หันมากวักมือเรียกฉันไปดู แกว่ามันสวยมากและจิ๋วมาก มีความภูมิใจว่าสังเกตเห็นดอกไม้เล็กขนาดนี้ได้ ฉันก็รับคำเชิญ เดินเข้าไปดู มันเป็นดอกฟอร์เก็ทมีน็อทสุดแสนธรรมดา แต่ความวิเศษคือความตื่นเต้นของแก ทำให้เราไม่ลืมความตื่นเต้นของตัวเองเมื่อเห็นดอกฟอร์เก็ทมีน็อทครั้งแรกในชีวิต

ความเบิกบานที่อ่อนโยนเพราะได้สังเกตเห็นดอกไม้หลากหลายชนิดสมกับความตั้งใจเดินขึ้นเขามา ให้บรรยากาศที่แตกต่างจากความหรรษากิ๊วก๊าวเสียงดังของคณะท่องเที่ยวไทย ที่ขับรถขึ้นไปถึงยอดดอยแล้วถ่ายรูปกับป้าย “สูงสุดแดนสยาม” มาถึงแล้ว เช็คอิน!

จำนวนคนที่เดินเรียงเป็นแถวยาวบนเส้นทางขึ้นเขาเข้าสู่หุบดอกไม้ แม้จะเยอะแยะและบางคนจั๊กกะแร้เหม็น จนต้องทำเป็นหยุดดูดอกไม้ให้เขาเดินแซงผ่านไปไกลๆ กลับไม่น่ารำคาญ

การชื่นชมและความปิติให้พลังเบิกบานกับสถานที่แห่งนี้ ในขณะที่ฉันเดินผ่านป่าสนมีมอสขึ้นเต็มก่อนข้ามสะพานไปสู่หุบเขาดอกไม้ ความคิดหนึ่งก็พลันหล่นลงมาในห้วงใจ บอกฉันว่าต้นไม้ดอกไม้ชอบที่คนเข้ามาชื่นชม มันทำให้พวกเขาเบิกบาน แล้วฉันก็รู้สึกเสมือนว่าความคิดนี้มาจากต้นสนเฟอร์พินโดรว ต้นใหญ่ (Pindrow Fir) ที่มีกิ่งยื่นงอศอกออกมาต่างจากต้นอื่นๆ คล้ายจะเชิญชวนให้ปีนขึ้นไป ฉันเดินไปหามัน และมันบอกต่อว่า “พวกเรารอให้มนุษย์เข้ามาร่วมวงเป็นสมาชิกชุมชนกับเรา”

39042039_10155716041587361_7344180440191729664_n

หน้าด้านเขียนเล่าออกมา แต่ ก็ไม่ได้คาดคิดว่าใครจะต้องเชื่อว่าได้พูดคุยกับต้นไม้เป็นตุเป็นตะ เพียงแต่อยากถ่ายทอดความรู้สึกในชั่วขณะนั้น ณ ที่แห่งนั้น ต้นไม้จะคุยกับเรา หรือเราคิดไปเอง ไม่ใช่สาระสำคัญ ประเด็นคือมันเป็นความรู้สึกแบบนั้น

พลังของสถานที่ที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับมนุษย์อยู่เป็นประจำ แตกต่างไปจากสถานที่ธรรมชาติบริสุทธิ์สุดเถื่อนพลังไพร มันไม่ใช่พลังแรงน่ายำเกรง แต่เป็นพลังของมิตรภาพ อบอุ่นและปลอดภัย

น่าสนใจว่าดอกไม้ที่ถูกยกเป็นสัญญลักษณ์ประชาสัมพันธ์ของที่นี่คือ ป๊อปปี้หิมาลัยสีฟ้าและดอกบัวหิมะ หรือที่คนอินเดียเรียกว่าบัวพระพรหม แต่เราเห็นป๊อปปี้สีฟ้าเพียงไม่กี่ดอกในหุบเขาดอกไม้ เพราะโดยทั่วไปมันขึ้นในระดับความสูงกว่านั้น ทั้งสองชนิดจะขึ้นเยอะบนยอดเขาที่มีทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวซิคห์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ หุบเขาดอกไม้ แต่ทางขึ้นแยกกัน คนจำนวนมากที่เดินทางมาที่นี่ก็เพื่อเดินจาริกขึ้นไปยังทะเลสาบโดยไม่ได้สนใจดอกไม้อัลไพน์ ผู้ชายกลุ่มหนึ่งเห็นเราถ่ายรูปป๊อปปี้สีฟ้ายังหันไปอธิบายกับเพื่อนว่านี่คือดอกลาเวนเดอร์

ปฏิสัมพันธ์ชื่นชมยินดีระหว่างดอกไม้และคนจึงโดดเด่นชัดเจนในหุบเขามากกว่าบนทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าบริเวณรอบทะเลสาบจะเป็นอัลไพน์แท้มีดอกไม้แปลกกว่าพื้นล่างก็ตาม

ความรักที่ก่อตัวและสะสมขึ้นมาระหว่างคนและพืชพันธุ์ในหุบเขาแห่งดอกไม้ ช่วยไม่ให้ฉันหงุดหงิดกับนโยบายการจัดการของอุทยาน

เดิมทีสัตว์เลี้ยงฝูงเล็กๆ ของชุมชนท้องถิ่นจะเข้าไปและเล็มกินหญ้าในหุบเขาแห่งนี้อยู่เรื่อยๆ ดังที่เคยเป็นมาแต่โบราณก่อนชาวอังกฤษมา “ค้นพบ” แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนทางอุทยานออกนโยบายห้าม จึงเกิดเป็นเรื่องถกเถียงมากมายในวงการอนุรักษ์ นักนิเวศวิทยาเชื่อว่าสัตว์กินหญ้าช่วยรักษาทุ่งดอกไม้ให้สะพรั่งไว้ได้ เพราะมันกินกล้าไม้อ่อนๆ เข้าไปด้วยจึงป้องกันไม่ให้ป่ารุกเข้ามา เนื่องจากหุบนี้สูงเพียง 3,500 เมตรเหนือน้ำทะเล อยู่ในระดับที่ต้นไม้ยังขึ้นได้ สูงเหนือจากนี้ขึ้นไปจึงจะพ้นแนวต้นไม้เข้าสู่อัลไพน์เต็มตัว แต่ทางอุทยานก็ไม่เชื่อ มุ่งมั่นในเจตนารมณ์ที่จะปกป้องคุ้มครองทุ่งดอกไม้ในความคิดตนเอง

ฉันเห็นสัญญานการเริ่มรุกล้ำของไม้พุ่มและต้นไม้ในทุ่งนี้ ดอกไม้เตี้ยๆ หลายชนิดก็ถูกดอกไม้สูงๆ เบียดบังเพราะไม่ถูกใครกิน แต่มันก็เป็นเพียงปรากฎการณ์ที่สังเกตเห็นและรับรู้ ไม่ยักกะร้อนใจขึ้นมาจนแปลกใจในความนิ่งของตัวเอง เหมือนกับว่า ท่ามกลางความรักความยินดีต่อกัน มีความวางใจว่าปัญหาจะคลี่คลาย

มันเป็นหุบเขาแห่งดอกไม้และความปิติเบิกบาน

กรุงเทพธุรกิจ, ตุลาคม 2561

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share