in on January 13, 2016

ประชาธิปไตย เผด็จการ และสิ่งแวดล้อม

read |

Views

เราอยู่ในยุควิกฤตสิ่งแวดล้อมจากน้ำมือมนุษย์ ท่ามกลางปรากฎการณ์การสูญพันธุ์อันยิ่งใหญ่ของโลกครั้งที่ 6 ทะเลกำลังตาย แม่น้ำร่อแร่ ดินเป็นพิษ ป่าโกร๋น โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังพอมีโอกาสในช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะเหยียบเบรคหักโค้งกู้สถานการณ์ไว้ไม่ให้เลวร้ายขั้นสุดกู่ หากสังคมมนุษย์ปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรได้ทันท่วงที

ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนคิดว่าระบอบ “เผด็จการเขียว” สั่งการฉับๆ เป็นแนวทางรับมือที่เหมาะสม

รัฐบาลพม่ายังสั่งแบนถุงพลาสติคก๊อบแก๊บในเมืองย่างกุ้งเลย ในขณะที่ห้างไทยยังเกี่ยงกันไปมาและภาครัฐไม่ออกมาตรการอะไรwri15_edi_bloggraphics

แต่ลองพิจารณาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างง่ายๆ ในภาพใหญ่กันอีกครั้ง

เมื่อ 60 ปีก่อน ประชากรเราน้อย ทรัพยากรธรรมชาติเยอะ จนปล่อยให้คนเพียง 1% ขยับตัวมาครอบครองทรัพยากรโลกถึงครึ่งหนึ่งในวันนี้ หรือถอยออกมานิดก็เป็น 20% คนรวยสุดครอบครองทรัพยากร 80% ถ้ามองในระดับประเทศไทยก็เห็นรูปแบบความเหลื่อมล้ำลักษณะเดียวกัน

ปัจจุบันสถานการณ์ตรงกันข้าม จำนวนคนเยอะ ทรัพยากรเหลือเพียงจำกัด แถมมีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสม และทุกคนก็อยากสะดวกสบายเหมือนๆ กัน เราจะตอบโจทย์นี้ได้อย่างไร?

บางคนหาทางควบคุมโครงสร้างสังคมให้คงความเหลื่อมล้ำไว้โดยรักษาตัวเองและพวกพ้องไว้บนยอดพีระมิด คนอื่นๆ ถูกจัดสรรไว้ตามบทบาทที่เขากำหนด การตั้งคณะกรรมการ “ประชารัฐ” ที่ให้เอกชนรายใหญ่วางแผนนโยบายกลยุทธร่วมกับภาครัฐโดยหาสมาชิกภาคประชาชนแทบไม่เจอเลยเป็นตัวอย่างหนึ่ง

อีกตัวอย่างที่อยากพูดถึงเป็นวาทกรรมที่เห็นถี่ขึ้นผิดปกติในช่วงนี้ ว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้จ่ายภาษีเงินได้ ซึ่งมีเพียง 15% ในประเทศ ให้สมควรเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจแนวทางการบริหารบ้านเมืองเท่านั้น บางคนถึงขั้นบอกว่าให้มีสิทธิตามสัดส่วนภาษีเงินได้ที่จ่าย เป็นความพยายามปั้นภาพว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ทำงานสร้างชาติและเสียสละ คนอื่นที่เรียกร้องสิทธิคือผู้เกาะกินเอาแต่ได้ ไม่ได้มีส่วนสร้างสรรค์บ้านเมือง

เสียงค้านข้อเสนอนี้มักเตือนสติถึงภาษีสรรพสามิตที่ผู้บริโภคทุกคนจ่าย แต่ยิ่งกว่านั้นคือค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยถูกนำมาคิดในระบบบัญชี จนกลายเป็นราคาที่สังคมมองไม่เห็น อาทิ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่โยนภาระความสูญเสียต่อผู้อื่นเสมอ ถ้าไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียแหล่งอาหาร ที่ทำกิน อากาศหายใจ น้ำสะอาด สุขภาพ โอกาสในการเลือกทางเดินของชีวิตแต่ละคน แลกกับโครงการพัฒนาและธุรกิจบางอย่าง

ผู้ประกอบการจ่ายค่าผลกระทบเหล่านี้ค่อนข้างน้อย แม้ว่าระยะหลังจะมีการลงทุนเพื่อลดผลกระทบลงก็ตาม   แต่ในภาพรวมๆ คนที่รับภาระค่าใช้จ่ายเป็นชุมชนท้องถิ่นบ้าง เป็นคนทั่วไปไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้กำไรอะไรกับเขา เป็นสังคมที่แบกภาระ การเสียภาษีรายได้ให้แก่ส่วนรวมจึงอาจถือว่าเป็นสัดส่วนการจ่ายที่เราพึงจ่ายอยู่แล้ว สังคมไม่ได้เป็นลูกหนี้เรา เราต่างหากที่เป็นลูกหนี้สังคม อย่างน้อยก็ในส่วนนี้ ลองนั่งทำบัญชีของทรัพยากรทุกอย่างที่เราแต่ละคนบริโภคดู มันมาจากไหน เบียนเบียดใครมาบ้าง

ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องคิดค่าผลกระทบทุกอย่างเป็นเม็ดเงิน (เพราะบางอย่างก็ประมาณค่ามิได้) มิเช่นนั้น ราคาสินค้าบริการทุกอย่างก็จะแพงจนประกอบการอะไรไม่ได้เลย แต่เราจะต้องไม่ลืมที่มาที่ไปและความสัมพันธ์ของชีวิตต่อชีวิต แรงงานที่เราพึ่งพา ธรรมชาติที่เราตักตวง การคิดจะสมอ้างว่าจ่ายภาษีเงินได้แล้วจึงมีสิทธิตัดสินใจเหนือผู้อื่น มันคืออะไร? ได้เปรียบจากโครงสร้างสังคมมาแล้ว ยังจะเอาค่าใช้หนี้ในรูปแบบการจ่ายภาษีมาอ้างสิทธิอำนาจออกแบบสังคมให้คงสถานะตามรสนิยมและผลประโยชน์ของตนต่อไป คนอื่นถ้าเห็นไม่ตรงกันก็อย่าได้มีสิทธิแหยม?

ย้อนกลับไปที่โจทย์ตั้งต้น เราจะรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมภายใต้สถานการณ์ใหม่ได้อย่างไรหากเราไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการทรัพยากร ซึ่งต้องออกแบบให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมุนเวียนใช้ใหม่ได้ และกระจายการใช้ได้อย่างเป็นธรรม

มันเป็นความท้าทายใหม่ที่เราไม่เคยประสพมาก่อน แน่นอนว่าเราต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ คลีนๆ มาช่วยแก้ปัญหา แต่เราไม่สามารถพึ่งแนวทางใดแนวทางเดียวเป็นทางออก อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นการออกแบบให้ผู้คนใช้ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น เป็นทรัพยากรส่วนกลางที่ต้องแชร์ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำปนเปื้อนเสียหายแล้วลอยนวล แต่กลไกการแชร์อาจออกมาในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้จัดการโดยรัฐ เช่น รถบริการอูเบอร์หรือระบบแชร์ของใช้ที่ไม่ได้ใช้บ่อยๆ ของผู้คนในย่านเดียวกัน ตั้งแต่สว่านไปถึงรถยนต์ เป็นต้น

ดังนั้น ประการแรกเลยที่ต้องไตร่ตรองคือ เราคิดหรือว่าจะมีเผด็จการบรรลุธรรมสักกี่คนที่จะยินดีลดทอนอภิสิทธิ์ เพื่อกระจายให้ผู้อื่นมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้เสมอกัน? ลีกวนยูที่บางคนชื่นชมอุบัติได้กี่คน? และการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดของลีกวนยูไม่มีปัญหาจริงหรือ?

ประการที่สอง ในฐานะนักนิเวศวิทยา ผู้เขียนเชื่อมั่นในความหลากหลายพอๆ กับที่หลายคนเชื่อมั่นในศาสนา ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนใจดีใจกว้างมากมายนักหรอก มีคนเยอะแยะที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่อยากยุ่งเกี่ยวพัวพันโดยตรง เสมือนนกกินปลีไม่ยุ่งกับปลาไหล แต่ก็เห็นบทบาทในสังคมของผู้คนต่างๆ เฉกเช่นสรรพชีวิตในระบบนิเวศสลับซับซ้อน และความหลากหลายนี้คือแหล่งกำเนิดของทางออก เรากำลังเจอกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราไม่สามารถหวังพึ่งความรู้ดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ทั้งหมด เราต้องการไอเดียใหม่ๆ และทางออกจะไม่สามารถมาจากคนกลุ่มเดียว พื้นเพแบบเดียว

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงต้องการประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ไม่ใช่เฉพาะด้วยการเลือกตั้ง แต่ในกระบวนการรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมออกแบบและตัดสินใจบนพื้นฐานของความโปร่งใส มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดการน้ำในประเทศเยอรมัน หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำย่านยานนาวาที่ศูนย์พัฒนาและออกแบบผังเมือง (Uddc) ช่วยอำนวยการให้เจ้าของที่ดินและผู้มีส่วนได้เสียวางแผนร่วมกัน

ระบอบเผด็จการไม่ใช่วัฒนธรรมของระบบนิเวศสมบูรณ์มีพลานามัย

วัยรุ่นเขาว่า มันไม่สตรอง

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, มกราคม 2559
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share