in on January 29, 2015

เรามีสิทธิเดินข้ามถนนอย่างปลอดภัย

read |

Views

ข่าวร้ายการถูกรถชนตายบนทางม้าลายของวิเวียน พิธีกรแกรมมี่ ขณะสัญญาณไฟเขียวกระพริบให้คนเดินเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรับได้

แต่ปฏิกิริยาและข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาดูจะแตกออกไปเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกหาทางหนี ขอให้สร้างสะพานลอยข้ามถนนและเตือนต่อๆ กันให้ระวังรถยนต์ แม้ไฟจะแดงให้รถหยุด เขียวให้คนข้ามก็อย่าได้ไว้ใจ มันคือรถยนต์ มันคืออันตราย คนไทยขับรถไม่มีวินัย ดังนั้นดูให้ดีถนนต้องโล่งหรือรถต้องหยุดกันเห็นๆ แล้วจึงข้ามมันเป็นเช่นนี้เราจึงต้องดูแลตัวเอง

กลุ่มนี้ยอมรับว่ารถยนต์เป็นใหญ่บนท้องถนนผู้อ่อนแอกว่าพึงรู้หลบหลีกไม่ว่าตนเองจะต้องลำบากอย่างไร ยอมรับกันจนเป็นความเคยชินที่ตกทอดจนกลายเป็นวัฒนธรรม รถยนต์ที่เข้ามาเบ่งโตบนถนนก็บุกเข้าครองเมือง ครอบแนวทางสร้างบ้านแปลงเมืองให้อำนวยความสะดวกแก่รถยนต์ เปลี่ยนพื้นถิ่นอื่น เช่น บ้านเรือนและคูคลอง ให้กลายเป็นพื้นที่ล้อวิ่งของรถยนต์ มันยึดพื้นที่ราบผิวดินที่สะดวกสบายที่สุดไป ทั้งๆ ที่มันมีแรงมากที่สุดผลักดันให้ขาเดินซึ่งมีกำลังน้อยกว่ารถยนต์เป็นฝ่ายต้องไต่ขึ้นบันไดหรือมุดรูลงใต้ดินเหมือนหนูท่อไม่ได้เห็นเดือนตะวันทิวทัศน์เหมือนชีวิตบนดิน ส่วนคนแก่คนพิการนั้นไม่ต้องพูดถึงแทบไม่อยู่ในสายตากันเลย

แต่เรายอมรับและสอนลูกให้ยอมรับ เพราะเกรงว่ารถยนต์มันจะชนเราตาย

อีกกลุ่มหันหน้ามาสู้ เรียกร้องให้สังคมคำนึงถึงคนเดินถนนมากขึ้น ให้คุณค่าแก่ชีวิตคนมากขึ้น โดยคนขับรถยนต์ต้องเพิ่มความรับผิดชอบ รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวดจริงจัง โทษต้องปรับใหม่ให้หนักหน่วง กระบวนสอบใบขับขี่ต้องปรับปรุงใหม่ ไม่ใช่สักแต่มีทักษะขับเคลื่อนรถยนต์ แต่บนถนนจริงกลับใช้ไม่เป็น กว่าจะสอบผ่าน คนขับรถยนต์ต้องแสดงให้เห็นว่ามีทัศนคติและมารยาทในการใช้ถนนร่วมกับผู้อื่นในระดับที่เป็นวินัยปฏิบัติปกติ คือเริ่มฝังเข้าดีเอ็นเอ กินยาบ้าขับรถก็ถูกยึดใบขับขี่ไปเลย พร้อมรับโทษอื่นๆ ตามกฎหมาย เช่น ที่อังกฤษ แค่เมาเหล้าแล้วนั่งหลังพวงมาลัยในรถที่จอดอยู่เฉยๆ ยังโดนจับเลย เพราะถือว่าครอบครองอาวุธร้ายภายใต้สติไม่เต็มร้อย

กลุ่มนี้รวมถึงข้อเสนอให้ปรับรูปแบบทางข้ามให้ปลอดภัยมากขึ้น อาทิ กว้างขึ้น ยกระดับขึ้นมาเสมอกับฟุตบาท ทำให้รถต้องขึ้นหลังเต่า บังคับให้ชลอความเร็วลง จัดไฟแดงให้เห็นชัดขึ้น เอาป้ายรกรุงรังสายตาที่เข้ามาแย่งซีนสัญญานจราจรออกไป

และที่สำคัญคือหลายเสียงที่ออกมาทักท้วงให้เราลุกขึ้นพิจารณาวัฒนธรรมรถยนต์ที่เราจมปลักอยู่ แตกต่างอย่างไรจากวัฒนธรรมเมืองและการใช้ถนนที่เป็นมิตรต่อชีวิตคน มันคือรูปธรรมของสังคมที่เหลื่อมล้ำกับสังคมที่เห็นหัวเท่าเทียมกัน

ข้อสังเกตนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนเคยพูดถึงมานานแล้ว แต่ครั้งนี้รู้สึกว่ามีเสียงพูดกันมากขึ้น ถี่ขึ้น จนเริ่มจะเป็นความหวังว่ามันกำลังจะก่อตัวเป็นวาระสังคม

ความตระหนักนี้สำคัญ เพราะมันเป็นรากฐานความคิดที่นำไปสู่องค์ประกอบต่างๆ ที่จะสร้างรูปธรรมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบถนนหรือเครื่องมือทางกฎหมายที่พูดถึงกัน และยากที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชิน ซึ่งแค่ตระหนักก็ยังไม่เปลี่ยน มันต้องอาศัยการฝึกฝน ขนาดผู้เขียนเองตั้งใจเสมอว่าเมื่อขับรถต้องหยุดทางม้าลาย แม้ไม่มีไฟมาบอกให้หยุด ถ้ามีคนจะข้ามก็ต้องหยุด แต่ยังไม่วายหลุดเป็นครั้งคราว ยิ่งเวลาปั่นจักรยาน ยิ่งมักเผลอลืมหยุดให้คนข้าม ต้องหันมาขอโทษเป็นประจำ

มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราทุกคนที่โตมากับวัฒนธรรมรถยนต์เป็นใหญ่ เพื่อนผู้เขียนซึ่งเป็นคนใจดีอ่อนโยน เมื่อไปขับรถบนถนนออสเตรเลียครั้งแรกยังเคยเกือบชนคนข้ามถนน เพราะไม่รู้ว่ารถต้องหยุดทันทีที่เห็นคนยืนอยู่บนฟุตบาทหน้าทางม้าลาย คนเดินจะก้าวลงมาบนถนนได้อย่างมั่นใจในความปลอดภัย ..ดีที่เขากระโดดกลับขึ้นไปทัน และดีที่เพื่อนขับไม่เร็ว

มันยากเพราะภาษากายที่เราใช้บนถนนเมืองไทยมันต่างจากสัญญานภาษาบนถนนในสังคมที่เคารพสิทธิผู้ใช้ถนนทุกคนเท่าเทียมกัน เมื่อไปอยู่ลอนดอนใหม่ๆ ผู้เขียนจะยืนรอให้ถนนโล่งหรือรถหยุดนิ่งสนิทก่อนก้าวลงบนทางม้าลาย เป็นที่น่ารำคาญแก่รถยนต์ที่อุตส่าห์กระพริบไฟใส่เป็นสัญญานว่าเชิญข้ามฉันจะชลอ อีบ้านี่ก็ไม่ข้ามเสียที โธ่เอ๋ย ก็บ้านเรารถกระพริบไฟใส่มันแปลว่า “อย่าข้ามเชียวนะมึง กูกำลังพุ่ง”

คนขับรถยนต์บ้านเราถูกทำให้เชื่อว่ารถต้องลื่นไหลไปตามผิวถนนได้ตลอด เขาจึงไม่หยุดให้คนข้ามเมื่อถึงแยกเลี้ยวซ้ายหรือเลนซ้ายผ่านตลอด และไม่หยุดหน้าปากซอยช่วงปากทางแนวเดียวกับฟุตบาท คนเดินต้องเป็นฝ่ายหยุดเสมอ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเพื่อนที่บ้านอยู่แถวถนนประดิษฐ์มนูธรรมจึงไม่ปั่นจักรยานบนทางจักรยานที่อยู่ข้างฟุตบาทเลียบถนนเส้นนั้น เธอบอกว่าปั่นบนถนนไปเลยปลอดภัยกว่า ลดโอกาสโดนรถออกจากซอยชน

ผู้เขียนเข้าใจความรู้สึกของคนกลุ่มแรกที่อยากหาทางหนีรถยนต์ไม่ว่าตัวเองจะต้องลำบากแค่ไหน ข้อเสนอเขาเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที ปฏิบัติได้จริงเดี๋ยวนี้เลย แต่ปัญหาคือมันไม่ใช่ก้าวที่นำไปสู่เป้าหมายที่เราอยากจะไป ไม่ใช่ก้าวที่จะปลดแอกเราจากวัฒนธรรมรถยนต์เป็นใหญ่ หากเป็นก้าวที่มีแต่จะพาเราถลำลึกไปบนเส้นทางของพลเมืองชั้นสอง ถูกกดกันต่อไป

ในวันนี้เราต้องหาก้าวที่เดินไปได้จริง เริ่มด้วยก้าวเล็กๆ ที่มุ่งไปถูกทาง

โอกาสหน้าจะค่อยๆ รวบรวมไอเดียมาแบ่งปันกัน

เพราะถนนที่คนเดินได้ปลอดภัยไม่ใช่องค์ประกอบฟรุ้งฟริ้งของสังคมที่ไฝ่ฝันจะเป็นธรรม


กรุงเทพธุรกิจ มกราคม 2558

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share