เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 มีข่าวเล็กๆ จากกรมประมง ประกาศให้ปลากระโห้เป็นสัญญลักษณ์ของกรุงเทพ
ทำไมข่าวนี้จึงสำคัญ?
ขอพาบินข้ามโลกสู่เมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา และย้อนกลับไปยัง ค.ศ.1992 ประชาคมชาวซีแอตเทิลได้รวมหัวกันหาแนวทางประเมินการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมือง และมีฉันทามติออกมาว่า ตัวบ่งชี้ที่จะแสดงถึงความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ การฟื้นตัวของประชากรปลาแซลมอนในธรรมชาติในแม่น้ำดูวามิช อันเป็นแม่น้ำหลักคู่เมือง
ปลาแซลมอนเป็นปลาทะเล แต่อพยพขึ้นแม่น้ำมาวางไข่บริเวณต้นน้ำที่มันเกิดก่อนตาย ทิ้งให้ลูกปลาเดินทางกลับลงไปสู่ทะเลเอง วงจรชีวิตน้ำจืดสลับน้ำเค็มของแซลมอนหมายความว่าลูกปลาที่เดินทางลงมาจากต้นน้ำจะต้องอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำกร่อยแถวปากแม่น้ำ เพื่อค่อยๆ ปรับตัวกับน้ำเค็มก่อนว่ายออกสู่ทะเล
ปลาแซลมอนชนิดต่างๆ เป็นอาหารหลักของนานาชีวิตท้องถิ่นในลุ่มน้ำแถบนี้ ตั้งแต่วาฬเพชรฆาตในทะเลยันหมีในป่าและอินเดียนแดงยุคก่อน แต่แม่น้ำดูวามิชผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักมาเป็นเวลากว่าร้อยปี นอกจากเขื่อนที่กั้นขวางลำน้ำและเส้นทางอพยพของปลาแซลมอนแล้ว พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติบริเวณปากแม่น้ำดูวามิชยังถูกทำลายหายไปถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เป็นหนองบึงน้ำกร่อยถูกถมหมดไปตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำก็สกปรกสุดๆ เต็มไปด้วยสารพิษอย่างปรอท พีซีบี คราบน้ำมัน เคมีจากการเกษตรและปฏิกูล จนช่วง 5 ไมล์สุดท้ายของแม่น้ำดูวามิชเข้าข่ายรับทุน “ซูเปอร์ฟันด์” (Superfund Site) จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งตั้งไว้สำหรับพื้นที่ปนเปื้อนที่สุดของประเทศ
พูดได้ว่าแม่น้ำสายนี้ไม่มีสภาพความดีงามอะไรเหลืออยู่ให้แก่ปลาแซลมอนอีกแล้ว แต่ชาวเมืองซีแอตเทิลยังกล้าฝัน ถ้าพวกเขาฟื้นฟูแม่น้ำและผังเมืองให้ดีพอสำหรับปลาแซลมอนไม่ได้ เมืองก็ยังไม่ดีพอสำหรับชีวิตมนุษย์ ปลาแซลมอนจึงเป็นธงชัยที่ต้องเดินทางไปให้ถึง
ย้อนกลับมาที่ปลากระโห้ ไม่ทราบว่าเด็กรุ่นใหม่เคยได้ยินชื่อปลากระโห้หรือไม่ สมัยผู้เขียนเป็นเด็ก ยามที่ผู้ใหญ่อยากจะบอกว่าอะไรมันใหญ่ ก็มักเปรียบเทียบว่าใหญ่อย่างกับปลากระโห้ ชื่อไทยฟังก็รู้สึกได้ว่าโอ้โหโห้ใหญ่จัง ชื่อฝรั่งไม่ลีลาบอกกันซื่อๆ ว่า Siamese Giant Carp หรือ “ตะเพียนยักษ์แห่งสยาม” (Catlocarpio siamensis)
มันเป็นสมาชิกวงศ์ปลาตะเพียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เฉลี่ยตัวยาว 1.5 เมตร แต่หลายๆ สิบปีก่อนเคยมีพบใหญ่ยาวถึง 3 เมตร หนัก 300 กิโลกรัม เกล็ดของมันก็เป็นเกล็ดปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับคนไทยที่หลงไหลในการทำสถิติกินเนสประเภทไข่เจียวใหญ่ที่สุดในโลก ก็ควรจะภูมิใจในตัวปลากระโห้ให้มากๆ
แต่ปัจจุบันประชากรปลากระโห้ในธรรมชาติได้สูญหายไปจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว คงเหลืออยู่แต่ในแม่กลองและแม่โขง แต่ก็น้อยเต็มที ขนาดตัวก็เล็กกว่าที่เคยพบ ล่าสุด IUCN ได้ขึ้นบัญชีสถานภาพปลากระโห้ว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (critically endangered)
ปลากระโห้เป็นปลาแม่น้ำใหญ่สายหลัก อาศัยตามวังน้ำลึก รายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่าเรายังไม่มีความรู้เรื่องวงจรชีวิตและพฤติกรรมในธรรมชาติของมันดีมากนัก แต่เข้าใจว่ามีการย้ายเข้าไปตามแหล่งน้ำข้างเคียงวังน้ำแม่น้ำสายหลักเพื่อวางไข่ และพบตัวอ่อนอาศัยหากินตามพื้นที่ชุ่มน้ำในที่ราบลุ่มที่เชื่อมกับแม่น้ำใหญ่หรือคลองสาขา พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเหล่านี้ที่ยังคงสภาพดีๆ มีเหลือน้อย การพัฒนาเมืองนอกจากจะทำลายแหล่งน้ำที่เชื่อมต่อในระบบแม่น้ำ เรายังทำลายพื้นที่ริมฝั่งน้ำด้วยการสร้างพนังเขื่อนประชิดลำน้ำ ไม่เหลือหาด ไม่เหลือตลิ่งและดงพืชชายน้ำตามธรรมชาติที่ตัวอ่อนสัตว์น้ำอาศัยหลบภัย
การล่าเกินพิกัดและมลพิษทางน้ำก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ปลากระโห้หายไป
การหยิบยกปลากระโห้ขึ้นเป็นสัญญลักษณ์ของกรุงเทพแสดงถึงวิสัยทัศน์กว้างไกลของกรมประมง ประเทศไทยเรามีชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดหลากหลายราว 700 ชนิด นับเป็นอันดับ 9 ของโลกทั้งๆ ที่ประเทศเราไม่ใหญ่มาก และเจ้าพระยา (ไม่นับปิงวังยมน่าน) เป็นบ้านของปลาไทยถึง 40 เปอร์เซ็นต์ มันเคยเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อ แต่เราปล่อยให้มันเสื่อมโทรมลง จากรุ่นปู่รุ่นพ่อที่รู้จักปลากระโห้ สู่รุ่นผู้เขียนที่เชื่อว่าแค่มีปลากรายก็ดีแล้ว ไปจนถึงรุ่นปัจจุบันที่หวังเพียงน้ำไม่เป็นสีดำและมีปลาสวายกินขนมปังตามท่าน้ำวัด มาตรฐานบรรทัดวัดความเป็นแม่น้ำที่ดีลดต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะเราลืมไปแล้วว่าของดีจริงๆ เป็นอย่างไร
การประกาศของกรมประมงจึงเป็นการยกระดับมาตรฐานแม่น้ำขึ้นไปใหม่ ปลากระโห้เป็นธงชัยโบกสบัด (flagship species) ที่เราต้องพยายามขยับไปให้ถึง เพราะถ้าปลากระโห้อยู่ได้ มันแสดงถึงกายภาพแม่น้ำที่ดี น้ำสะอาด การจัดการผังเมืองดี
แต่ลำพังกรมประมงประกาศ โดยที่นโยบายฝ่ายอื่นไม่ได้น้อมรับด้วย มันก็คงไม่ไปไหน เป็นได้เพียงประกาศกระดาษ อาจมีการเพาะพันธุ์ปล่อยพันธุ์ปลา แต่ไม่ได้ยั่งยืนเองในธรรมชาติ นโยบายผังเมืองต้องวางแผนร่วมกับนักนิเวศวิทยาแหล่งน้ำ และมองหาพื้นที่นำร่องที่จะเริ่มฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำขึ้นมาได้ โดยอาจต้องรื้อสิ่งก่อสร้างเก่าออก เช่น ปรับเปลี่ยนลานจอดรถราชนาวีสโมสรและสวนสาธารณะท่าเตียนให้เป็นสวนพื้นที่ชุ่มน้ำริมเจ้าพระยา ขณะเดียวกัน โครงการริมน้ำกลางน้ำต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาก็ต้องไม่ให้ไปบั่นทอนโอกาสการฟื้นชีวิตปลากระโห้ในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มันยากมากขึ้นไปอีก
อย่างโครงการถนนเลียบรุกเจ้าพระยาเป็นต้น อย่าได้จิ้นทำเลย
กรุงเทพธุรกิจ, กันยายน 2558