in on June 13, 2017

ป่าทรงพลังของเทพชิชิ

read |

Views

หลายคนชอบเดินทางไปทำบุญตามวัดต่างๆ ไปแล้วอิ่มเอิบใจ ฉันก็เช่นเดียวกัน แต่วัดของฉันมักเป็นสถานที่ธรรมชาติ

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฉันโชคดีได้ไปสักการะและอาบป่าโบราณแห่งเกาะยากูชิมา ทางตอนใต้ประเทศญี่ปุ่น

ใครเป็นแฟนคลับการ์ตูนสตูดิโอจิบลี คงทราบดีว่าป่ายากูชิมาเป็นแหล่งบันดาลใจของอนิเมชั่นธีมอนุรักษ์ธรรมชาติ “เจ้าหญิงโมโนโนเกะ” ของมายาซากิ

หนังมันเก่ามากแล้วจึงขอสปอยล์ มันเป็นเรื่องการเดินทางของเจ้าชายอาชิทากะ แห่งชนเผ่าอีมิชิในญี่ปุ่นยุคกลาง เพื่อล้างคำสาปจากเทพอสูรหมูป่าทาทาริ ซึ่งออกจากป่ามาอาละวาด และอาชิทากะต้องฆ่ามันเพื่อปกป้องหมู่บ้าน แต่โดนคำสาปที่แขนขวาระหว่างการต่อสู้ นางเฒ่าในหมู่บ้านหยั่งญานทำนายบอกเขาว่าคำสาปจะค่อยๆ ลุกลามไปทั่วตัวจนเขาตายอย่างทรมาน ทางแก้เดียวคือเขาจะต้องเดินทางไปหาเทพชิชิในทิศตะวันตกเพื่อขอให้ล้างคำสาป โดยเขาจะต้องมองทุกสิ่งด้วยตาที่เป็นธรรม

อาชิทากะเดินทางไปถึงเมืองโลหะ เป็นนิคมหลอมตีเหล็กผลิตปืน มีนางเอโบชิเป็นผู้ดูแลคุ้มครองหมู่คนที่สังคมรังเกียจ ทั้งหญิงงามเมืองและคนไข้โรคเรื้อน เอโบชิมุ่งตัดป่าเพื่อขุดดินเอาแร่ และเป็นคนยิงหมูป่านาโกะ พลังความโกรธเกลียดทำให้มันกลายร่างเป็นอสูรทาทาริมุ่งทำร้ายมนุษย์

ป่าแห่งนั้นเป็นแหล่งสถิตของเทพชิชิ ผู้ให้ทั้งชีวิตและความตาย เมื่อจุติลงมาบนโลก ณ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์กลางป่า จะกลายร่างเป็นกวางตีนไดโนเสาร์หน้าลิงแมนดารินหางหมาจิ้งจอก มีครอบครัวหมาป่าที่เลี้ยงดูเด็กหญิงกำพร้าชื่อซัน คอยปกป้องพิทักษ์ป่าวิเศษที่เต็มไปด้วยพรายน้อยโคดามะตัวเล็กๆ สีขาว

ซันต้องการฆ่าเอโบชิ ฝูงหมูป่าต้องการขจัดเผ่าพันธุ์มนุษย์ ฝูงลิงต้องการกินเนื้อมนุษย์เพื่อได้พลังอำนาจเช่นคน  เอโบชิต้องการเด็ดหัวเทพชิชิเเล้วส่งมอบให้จักรพรรดิ์ ส่วนอาชิทากะพยายามหยุดยั้งความโกรธเกลียดของทุกฝ่าย ให้หาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เขาต้องต่อสู้กับความโกรธแม้แต่จากแขนขวาต้องคำสาปของเขาเอง

เมื่อเอโบชิเด็ดหัวเทพชิชิได้สำเร็จ พลังความเสื่อมก็ระเบิดออก ไหลบ่าออกทำลายทุกชีวิตรวมทั้งพรายน้อยโคดามะ ในขณะที่เทพชิชิพยายามหาหัวของตัวเอง อาชิทากะกับซันและหมาป่าก็ช่วยกันตามเอาหัวเทพชิชิมาคืนได้สำเร็จในเวลารุ่งสาง เทพชิชิสลายตัวไปแต่พืชพันธุ์ฟื้นตัวขึ้นมาทุกหนแห่ง

มิยาซากิเริ่มมีไอเดียพล็อตเรื่องแนวการต่อกรระหว่างโลกธรรมชาติกับโลกอุตสาหกรรมมนุษย์มาตั้งแต่ยุค 70 แต่มาได้แรงบันดาลใจพัฒนาอนิเมชั่นจากป่ายากูชิมา เมื่อเขาเดินทางมาที่เกาะนี้ในปี 1995

ป่ายากูชิมาเป็นป่าในโซนกึ่งเขตอบอุ่นกึ่งเขตร้อน มีพันธุ์ไม้จากทั้งสองโซนขึ้นผสมกัน จากทะเลที่มีป่าโกงกางในแนวเหนือสุดของโลก ไปถึงเขาสูงสังคมพืชอัลไพน์ในระดับ 2,000 เมตร มีสนซีดาร์ญี่ปุ่นขนาดยักษ์เป็นไม้เด่น จึงเป็นแหล่งทำไม้มาตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะเมื่อ 3-400 ปีก่อน ในยุคนั้นผลิตภัณฑ์หลักคือกระเบื้องไม้มุงหลังคา ซึ่งมีความต้องการกันขนาดใช้นำมาจ่ายแทนภาษีได้ จึงโค่นไม้ขนาดสิบคนโอบมาเลื่อยสับทำชิ้นกระเบื้อง ทิ้งตอใหญ่ๆ ไว้เต็มป่า

แต่ตอไม้ยักษ์ที่หยั่งรากมานานนับพันปีมากมายหลายตอไม่ยอมตาย มันเชื่อมต่อดูแลกันใต้ดินด้วยโครงข่ายใยรากกว้างไกลทั่วผืนป่า ต้นไม้ในป่าที่ยังมีใบสังเคราะห์แสงช่วยกันประคองโอบอุ้มตอปู่ย่าทั้งหลาย ลำเลียงอาหารผ่านใยราสู่รากไม้ จนผุดลำต้นขึ้นมาได้ใหม่ เติบโตบนตอเดิม ในวันนี้เราจึงเห็นลำต้นสูงใหญ่ 300 ปีสูงตระหง่านบนฐานหลายพันปี และมีคุณย่าทวดไม่กี่ต้นที่รอดด้ามขวานมาได้เพราะขึ้นอยู่บนเขาสูงชัน เข้าถึงได้ยาก หนึ่งในนั้นคือ Jomon Sugi (ซีดาร์ยุคโจมอน) ซึ่งยังสรุปไม่ได้ว่าอายุกี่พันปีแน่ บางคนเชื่อว่าเก่าแก่ถึง 4,000 ปี ติดอันดับต้นไม้อายุยืนที่สุดในโลก คนส่วนใหญ่จึงไปยากูชิมาเพื่อไปสักการะนาง

ก้าวแรกที่สัมผัสป่าแห่งนี้ เรารับรู้ได้ถึงพลังชีวิตยิ่งใหญ่มหาศาล ทำให้เราเบิกบานหัวใจพองขึ้นในทันที เราเลือกเดินเส้นเดียวกับมิยาซากิ คือเส้นชิราตานิ อันซุยเกียว (Shiratani Unsuikyo) เป็นป่ามอสเขียวชอุ่มมีลำน้ำใสแจ๋วไหลชโลม กลั่นกรองจากชั้นฮิวมัสหนานุ่ม ลึกแค่ไหนก็ใสเห็นทะลุไปยังก้อนหินบนท้องน้ำชัดเจน มันเป็นป่าใหญ่ที่มีแผลเป็นมากมายบอกเล่าเรื่องราวของศึกครั้งใหญ่กับมวลมนุษย์ในอดีต ต้นไม้ยักษ์หลายต้นยืนอยู่บนสามขา เป็นไม้รุ่นใหม่อายุ 300 ปีที่งอกบนตอยักษ์ของแม่เฒ่าที่ย่อยสลายกลายร่างไปแล้ว

ในตอนจบของหนังเมื่อเทพชิชิสลายร่างและต้นไม้ใบหญ้าฟื้นขึ้นมาใหม่ ผู้คนที่รอดตายพากันดีใจ แม้แต่นางเอโบชิผู้ตัดหัวเทพชิชิยังเกิดตระหนักรู้และกล่าวว่า “เทพชิชิทำให้ดอกไม้ออกได้ด้วย!”

แต่ซันลูกสาวหมาป่าคงมีหน้าเศร้า ทอดตาดูป่ารุ่นใหม่พลางเอ่ยกับอาชิทากะว่า “มันไม่ใช่ป่าของเขาแล้ว”

พลังมันไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม

อาชิทากะไม่เห็นด้วย ตอบซันว่า “มันยังเป็นป่าของเทพชิชิ เพราะเขาคือชีวิต” และภาพสุดท้ายที่เราเห็นในหนังคือพรายน้อยโคดามะหนึ่งตัวกลับคืนมา

มายาซากิอยากให้ชื่อหนังว่า “ตำนานแห่งอาชิทากะ” มากกว่าชื่อ “เจ้าหญิงโมโนโนเกะ” ซึ่งแปลได้ประมาณว่า “เทพธิดาอสูร” บทบาทของอาชิทากะคือบทบาทของพวกเราปุถุชนธรรมดาในโลกจริง เมื่อกลุ่มคนที่วิ่งหนีเอาหีบใส่หัวเทพชิชิไปให้จักรพรรดิ์ ยอมโยนหีบทิ้งและวิ่งหนีเอาตัวรอด อาชิทากะเสี่ยงชีวิตเข้าไปเปิดหีบ ย้ำว่า “เราต้องคืนหัวเทพชิชิด้วยน้ำมือมนุษย์”

วันนี้ ญี่ปุ่นคืนป่ายากูชิมาให้เทพชิชิแล้ว มันได้สถานะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

มายาซากิถ่ายทอดป่าน้ำยากูชิมาได้ครบถ้วนทั้งรูปลักษณ์และจิตวิญญาน ละเอียดลงไปถึงพันธุ์พืชน้อยจิ๋วที่ขึ้นที่นั่นและความรู้สึกที่มันสื่อ มีดอกมากิโกะเล็กๆ ขึ้นเต็มตามดงมอส เหมือนฝูงพรายน้อยโคดามะสั่นหัวคักๆ ร่าเริง บังเอิญว่าเดือนที่ฉันไปเดินตรงกับเดือนที่เขาไปเดิน ดอกไม้ต่างๆ ในหนังจึงปรากฎในโลกจริง

จริงเท่ากับพลังเทพชิชิสิงสถิตอยู่จริง ณ ที่นั้น เวลานั้น มันง่ายที่จะเห็นทุกอย่างด้วยสายตาเป็นธรรมเฉกเช่นอาชิทากะ ไม่มีคำตัดสินต่อผู้ใด มีเพียงความยินดีที่เราได้มีชีวิตอยู่ร่วมกัน

หัวเทพชิชิอยู่ในหัวใจเรา ช่วยกันปลุกมันขึ้นมา


กรุงเทพธุรกิจ, มิถุนายน 2560

อ้างอิง
  1. ภาพเจ้าหญิงโมโนโนเกะจาก: https://my.dek-d.com/nootanlovely/writer/viewlongc.php?id=579956&chapter=50
  2. ภาพเส้นทางศึกษาธรรมชาติชิราตานิ อันซุยเกียว จาก: http://www.th.jal.com/thl/th/guidetojapan/detail/index.html?spot_code=shiratani
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share