in on July 19, 2019

ผังใหม่เมืองกรุง รู้จักกันยัง?

read |

Views

มีเรื่องใกล้ตัวที่เราคนกรุงต้องรู้กัน

ขณะนี้ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับใหม่กำลังอยู่ในมือคณะกรรมการพิจารณาร่างผังเมือง หลังจากผ่านกระบวนการ “ประชาพิจารณ์” ตามพิธีกรรมแล้ว แต่ประชาชนคนเมืองรับรู้กันน้อยมาก

ดิฉันและสมาชิกเครือข่ายชุมชนคนกรุงหลายชุมชนที่เข้ามารวมตัวกันจากปัญหาเป็นผู้รับผลกระทบการก่อสร้างอาคารคอนโดผิดกฎหมาย ได้พยายามติดตามและศึกษาผังเมืองฉบับใหม่นี้ แม้ยังไม่ทะลุปรุโปร่งแต่มีข้อสังเกตบางประการที่อยากจะแบ่งปันเพื่อชวนสังคมอภิปราย

หลักคิดใหญ่ของผังเมืองรวมคือเพื่อแก้ปัญหาเมืองขยายสะเปะสะปะแนวราบ (urban sprawl) โดยส่งเสริมให้พัฒนาเป็น “เมืองกระชับ” (compact city) อย่างฮ่องกง

หนึ่งในปัญหาก็คือวิธีการที่ผู้ร่างผังเมืองตั้งใจนำพาไปสู่จุดหมายนั้น

แนวทางหลักที่หยิบมาใช้คือการสร้างกติกาให้กลุ่มทุนพัฒนาอหังสาริมทรัพย์สามารถสร้างอาคารได้ใหญ่ขึ้นสูงขึ้น พร้อมๆ กับสร้างแรงกดดันให้ผู้อยู่อาศัยเดิมในบ้านเดี่ยวต้องขายที่อพยพไปที่อื่น มีการให้โบนัสพิเศษแก่ทุนพัฒนา สามารถสร้างได้ใหญ่ขึ้นกว่ากำหนดเดิมถ้าหากเจียดพื้นที่เล็กน้อยให้สาธารณะร่วมใช้ประโยชน์

ส่วนพวกบ้านเดี่ยวที่อยู่อาศัยเดิมมาหลายชั่วโคตรก็ถูกจัดสรรระบายสีให้เป็นโซนสีต่างๆ อย่างบ้านดิฉันในซอยสุขุมวิท 28 ที่ครอบครัวอยู่กันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยอยู่ในโซนสีน้ำตาล (เขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น) ก็โดนเปลี่ยนโดยไม่บอกกล่าวเป็นสีแดง (เขตพาณิชยการ) สามารถสร้างห้างสรรพสินค้า โรงแรม ฯลฯ ได้ ทั้งๆ ที่ซอยบ้านเราเป็นซอยตันเล็กๆ ปลูกต้นไม้ครึ้ม อยู่ในโซนบ้านเรือนอาศัยชัดเจน ไม่พลุกพล่านคึกคักเหมือนทองหล่อ ซึ่งกลับกลายว่ายังเป็นโซนสีน้ำตาลอยู่

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือราคาที่ดินประเมินในซอยเราที่ถูกระบายสีใหม่เอื้อการลงทุนอย่างหลากหลายเต็มพิกัดจะพุ่งพรวดๆ ถ้าเราไม่ยอมขายเราก็จะต้องจ่ายภาษีที่ดินในระบบภาษีที่ดินใหม่แพงขึ้นเป็นหลายเท่า จากที่ดินสุขุมวิทซอยตันตารางวาละ 200,000 อาจขึ้นเป็น 500,000 อย่างซอยศาลาแดง หรือ 900,000 อย่างราชดำริ ที่สุดแล้วเราก็จะต้องทิ้งที่ดินบรรพบุรุษขึ้นไปอยู่คอนโดตามแผนเขา หรือหอบหมาซึ่งอยู่คอนโดไม่ได้ไปหาบ้านอยู่นอกเมือง ห่างไกลจากหมู่ญาติและเพื่อนฝูง

หลายคนคงคิดว่าแล้วไง? ไม่เห็นจะเลวร้าย ได้เงินมาชดใช้ทดแทน (ถ้าขายได้อ่ะนะ) แม้ไม่ใช่ทางเลือกของตัวเอง แต่โลกเปลี่ยนไป ทุกคนต้องปรับตัว

ขอร่ายข้อกังวลบางประการเป็นข้อๆ ให้ช่วยกันพิจารณาดังนี้

1) “เมืองกระชับ” ที่เต็มไปด้วยตึกสูงต้องออกแบบอย่างรอบคอบไม่ให้เป็นเมืองตึกสูงแออัด อึดอัด และอุดตัน ปัจจัยสำคัญจึงเป็นพื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียวที่ต้องสอดแทรกคละอยู่มากพอ สำหรับเมืองดินยวบทรุดง่ายบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอย่างกรุงเทพยิ่งสำคัญว่าจะต้องมีผิวดินมากพอให้น้ำฝนที่ตกลงมาได้ซึมซับลงไปเป็นน้ำบาดาลทำหน้าที่ทางนิเวศ ส่วนหนึ่งคือช่วยพยุงแผ่นดินไว้ ด้วยเหตุนี้จึงมีกฎระเบียบในการสร้างอาคารใหญ่ กำหนดให้มีสัดส่วนพื้นที่ปลูกต้นไม้ใหญ่มีดินให้น้ำซึมผ่านลงไป เรียกว่า Biotope Area Factor หรือ BAF แต่ถ้าเราลงตรวจสอบอาคารใหญ่และคอนโดต่างๆ ในกรุงเทพจะพบว่าแทบไม่ได้เว้นพื้นที่ BAF ตามกฎหมายกำหนดกันเลย มีการเฉไฉไปคำนวณพื้นที่สวนบนดาดฟ้าหรือสวนแนวตั้งตามกำแพงแทน ซึ่งผิดจุดประสงค์เพราะไม่ตอบโจทย์เจตนารมณ์กฎหมายที่ต้องการให้น้ำซึบซับลงสู่ดินตามระบบธรรมชาติ ไม่ใช่ลงท่อคอนกรีตเป็นน้ำทิ้ง

น่าสังเกตว่าผังเมืองฉบับใหม่ละเว้นเรื่องของ BAF โดยสิ้นเชิง มีแต่มาตรการจูงใจให้โบนัสสร้างเนื้อที่อาคารได้ใหญ่ขึ้น

2) ที่ผ่านมาไม่ได้มีแต่เพียงกฎระเบียบ BAF ที่ถูกละเลยในการก่อสร้าง แต่รวมไปถึงกฎหมายอาคารอีกมากมาย มีวิธีตุ๊กติ๊กสารพัดให้อนุญาตสร้างได้ และไม่มีเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ผลที่ตามมาจึงเป็นความเดือดร้อนของผู้คนในชุมชน ปัญหาเหล่านี้สมควรแก้ให้ได้ก่อนที่จะไปออกมาตรการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนอะไรอีก ซึ่งรังแต่จะเพิ่มปัญหาซ้ำเติมชุมชนมากขึ้นไปอีก

3) ไม่มีการทบทวนบทเรียนกฎหมายผังเมืองที่ผ่านมา และไม่มีการศึกษาปัญหาสะสมจากโครงการสร้างตึกใหญ่หลายๆ โครงการรวมกันในพื้นที่จำกัดและสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ (หรือถ้ามีการศึกษาก็ไม่ได้แบ่งปันให้ประชาชนรับรู้ในกระบวนการร่างผังเมือง) เฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราสัมผัสกันได้ก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิเมืองที่สูงขึ้นจากปริมาณคอนกรีตและคายร้อนแอร์ ฝุ่นพิษและอากาศเมืองที่ไม่ถ่ายเทเพราะตึกมากมายบังไว้ น้ำท่วมซอยระบายไม่ทัน จราจรติดขัดในซอยเล็ก แผ่นดินกรุงเทพทรุด เป็นต้น

4) กระบวนการร่างผังเมืองรวมขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง พื้นฐานที่สุดที่กทม.และทีมผู้ร่างผังควรต้องทำคือพูดคุยกับบ้านประชาชนที่โดนกำหนดระบายสีเป็นโซนใหม่ตั้งแต่ต้น ดิฉันได้ถามไปว่าคณะผู้ร่างฯ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินว่าตรงไหนควรเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาล เหตุใดซอยเงียบๆ เล็กๆ ของเราจึงกลายเป็นสีแดง แต่ซอยใกล้ๆ ที่คึกคักกว่าไม่เป็น ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ จึงไม่แปลกที่ดิฉันและประชาชนคนอื่นๆ จะไม่ไว้ใจภาครัฐและสงสัยว่ามีแรงทุนอยู่เบื้องหลัง เห็นข่าวแว๊บๆ ว่าหลังบ้านดิฉันมีฝันใหญ่โตกับการพัฒนาพื้นที่แถวถนนพระราม 4 และท่าเรือคลองเตย ทุนที่ซื้อที่ดินในซอยเราแต่ยังสร้างไม่ได้เพราะชุมชนคัดค้านร้องเรียน สผ.ว่าโครงการเลี่ยงกฎหมาย ก็ไม่ใช่พลังทุนขี้ปะติ๋วกระจอกงอกง่อยแม้แต่น้อย

5) กรุงเทพเป็นเมืองเสี่ยงต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก มีโจทย์ใหม่ท้าทายประโคมเข้ามา สังคมเราควรตื่นตัวให้ตีลังกาคิดใหม่ ไม่ใช่งุดๆ ส่งเสริมแนวทางเดิมไปเรื่อยๆ เรื่องของเมืองไม่ใช่เรื่องเฉพาะด้านของสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบอีกต่อไปแล้ว แต่เมืองเป็นของทุกคน ไม่ได้เป็นแค่ของรัฐราชการ หรือผู้ว่าที่เราไม่ได้เลือกมาด้วยซ้ำ

เราต้องการปัญญาจากทุกศาสตร์และเรียนรู้จากทุกประสบการณ์ ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเผชิญ จะต้องการมาตรการรับมือมากกว่าการกำหนดพื้นที่ BAF ที่ผังเมืองฉบับใหม่ไม่พูดถึงเสียอีก

แน่นอนว่าสิ่งที่จดลงเพียงสั้นๆ แค่นี้ยังไม่ครอบคลุมทุกประเด็นเนื้อหา และความซับซ้อนของกฎหมายผังเมืองที่ยังพันไปถึงกฎกระทรวงอีกมากมาย ทำให้ประชาชนธรรมดาๆ อย่างเราไม่สามารถหยั่งรู้ถึงผลกระทบที่ผังเมืองรวมฉบับใหม่มีต่อชีวิตเราได้หมด เราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระช่วยถอดรหัสมันออกมาให้เราเข้าใจ

ครั้งหน้า จะมาชวนสำรวจไอเดียกันว่าถ้าไม่ใช้แนวทางสร้างตึกสูงอัดแน่นๆ ใส่กลางเมืองให้มัน “กระชับ” ประดุจปลากระป๋อง เรายังมีวิธีไหนอีกบ้างที่จะคลายปัญหาเมืองขยายสะเปะสะปะกันได้

กรุงเทพธุรกิจ, กรกฎาคม 2562

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share