in on June 25, 2018

พลาสติก…ในตัวเรา

read |

Views

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาสากลและยิ่งใหญ่มากคือวันคุ้มครองโลกปีนี้เมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมามุ่งรณรงค์เรื่องขยะพลาสติก ส่วนวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ วันที่ 5 มิถุนายนก็เน้นรณรงค์เรื่องมลพิษจากพลาสติกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวเกี่ยวกับขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากมาย เช่น แพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิคมีขนาดเท่าประเทศฝรั่งเศสแล้ว ซึ่งใหญ่กว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ และประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก

อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าขยะเป็นเรื่องไกลตัว ทะเลและมหาสมุทรนั้นอยู่ห่างไกล ไม่อาจส่งผลกระทบกับการกินอยู่ของเราได้

นับว่าเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ขยะที่เราใช้และทิ้งไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แปรรูปออกมาเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ สอดแทรกอยู่ในสิ่งแวดล้อม และย้อนกลับมาหาเราผ่านอาหารการกินของเรานั่นเอง

ช่วง 2-3 ปีมานี้มีข่าวการวิจัยการปนเปื้อนพลาสติกในอาหารหลักของมนุษย์ออกมาเป็นระยะ ทั้งน้ำประปา เบียร์ เกลือ และสัตว์ทะเลล้วนมีพลาสติกจิ๋วหรือไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ทั้งสิ้น

ต้นเมษายนที่ผ่านมา นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำประปา 159 ตัวอย่าง ใน 14 ประเทศ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาอย่างละครึ่ง พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 81 % ปนเปื้อนฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่ (98.3 %) เป็นเส้นใยพลาสติกขนาด 0.1-5 มิลลิเมตร

เกินกว่าครึ่งของน้ำดื่มบรรจุขวดใช้น้ำประปาเป็นวัตถุดิบ จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่าน้ำดื่มบรรจุขวดส่วนใหญ่ปนเปื้อนชิ้นส่วนจิ๋วจากพลาสติก โดยล่าสุดขององค์กรสื่อที่ไม่แสวงผลกำไรชื่อ Orb Media นำน้ำดื่มบรรจุขวดจากทั่วโลกจำนวน 11 ยี่ห้อ  250 ตัวอย่างมาตรวจสอบพบว่ากลุ่มตัวอย่างปนเปื้อนไมโครพลาสติกถึง 93 %  ผลการศึกษานี้ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาแสดงความห่วงใยและตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้

ใกล้ประเทศไทยเข้ามาอีกนิด นักพิษวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยปูตรา ประเทศมาเลเซียได้เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์เกลือสมุทรจาก 8 ประเทศ คือออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิหร่าน ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และแอฟริกาใต้ จำนวน 17 ยี่ห้อ พบไมโครพลาสติกในเกลือจากทุกประเทศ ยกเว้นฝรั่งเศส

เอริค แวน ซีบิล (Erik van Sebille) ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษในมหาสมุทรกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะในช่วง 2-3 ปีมานี้เมื่อนักวิทยาศาสตร์ไปตรวจดูขยะในทะเลก็มักจะพบพลาสติก แม้ในพื้นมหาสมุทรที่ห่างไกล ในน้ำแข็งในอาร์กติก ในท้องของนกทะเลหรือปลา รวมทั้งในเกลือสมุทร

ในบ้านเรา เมื่อปีที่แล้วนักวิจัยจากประเทศไทยและศรีลังกาสุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลประเภทหอยในพื้นที่เศรษฐกิจชลบุรี ประกอบด้วยอ่างศิลา บางแสน และเกาะแสมสาร พบสารเคมีปนเปื้อนจากไมโครพลาสติกเกินค่ามาตรฐาน โดยพบการปนเปื้อนมากที่สุดบริเวณอ่างศิลา

ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2013 พบว่า 89 % ของกองขยะบริเวณชายหาดเป็นพลาสติก และจากการนับพบพลาสติก 4.5 หมื่นชิ้นต่อ 2.6 ตารางกิโลเมตร ตามชายหาดทั่วโลก และมีข้อมูลว่าไมโครพลาสติกส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากการซักล้างเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ การซักผ้าจะทำให้เกิดพลาสติกจิ๋ว และน้ำทิ้งจากเครื่องซักผ้าจะไหลลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียและไหลลงแหล่งน้ำใต้ดินหรือลงทะเลโดยไม่มีการกรองพลาสติกจิ๋วเหล่านี้


ภาพจาก: ทีมข่าว springnews

ในวงการวิทยาศาสตร์กำลังสนใจศึกษาผลกระทบจากพลาสติกจิ๋วในสิ่งแวดล้อม เป็นที่รู้กันว่าพลาสติกสามารถดูดซับสารเคมีจากสิ่งแวดล้อม เช่น PDBs PBDs และ PAHs ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษและเป็นสารก่อมะเร็งต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้พลาสติกยังดูดซับโลหะและแบคทีเรียได้อีกด้วย บางครั้งมีความเข้มข้นสูงกว่าสิ่งแวดล้อมโดยรอบหลายเท่า และมีหลักฐานว่าเมื่อสัตว์กินพลาสติกและผ่านระบบย่อย สารเคมีอินทรีย์เหล่านี้สามารถซึมซับเข้าไปในลำไส้ของสัตว์ได้

หากคนทั่วโลกรู้ว่าขยะที่เราทิ้งออกจากตัวเรา บ้านเรา สู่ผืนดิน แม่น้ำ หรือมหาสมุทร ล้วนหมุนเวียนกลับมาสู่ตัวเราในรูปพลาสติกจิ๋ว ก็น่าจะตระหนักรู้ขึ้นมาว่าเราท้ายที่สุดแล้วเรากำลังกัดกินตัวเอง หรือ “ขว้างงูไม่พ้นคอ” โดยแท้

หวังว่าการตระหนักรู้นี้จะนำไปสู่การใช้ขยะให้น้อยลง

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share