in on January 3, 2018

มลพิษที่มากับสายลม

read |

Views

ท่ามกลางข่าวจับกุมชาวเทพา จังหวัดสงขลาที่เดินขบวนไปยืนหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่เมื่อเร็วๆนี้ และต่อมานักวิชาการ 35 รายในชื่อ “นักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ร่วมกันออกแถลงการณ์ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการสายวิศวกรรมและพลังงาน และไม่มีหน้าที่ศึกษาผลกระทบเชิงสุขภาพเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่อย่างใด (https://greennews.agency/?p=16008) งานวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินชิ้นนี้ก็ปรากฎขึ้น

ภาพจาก: ผู้จัดการ Online

จุดสำคัญของรายงานนี้อยู่ที่การเปรียบเทียบผลกระทบด้านสุขภาพก่อนและหลังการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และกล่าวถึงผลกระทบที่มีต่อคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใต้ลม ซึ่งรับมลพิษทางอากาศอย่างก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปเต็มๆ ผลก็คือทารกแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และคลอดก่อนกำหนด แต่เมื่อปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงหนึ่งปีครึ่ง ปัญหาดังกล่าวก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โรงไฟฟ้าถ่านหินพอร์ตแลนด์ตั้งอยู่ในเขตมลรัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งติดกับมลรัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ.2549 เป็นโรงไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกา และถูกปิดตัวลงเมื่อ มิถุนายน 2557 เนื่องจากองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ระบุว่าเป็นแหล่งมลพิษแหล่งเดียวที่ทำลายคุณภาพอากาศด้านใต้ลมซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิวเจอร์ซี่ และถือเป็นโครงการแรกที่พระราชบัญญัติอากาศสะอาดมีผลบังคับใช้เหนือกฎหมายระดับมลรัฐ

กลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยลีไฮ (Lehigh University) ได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพทั้งก่อนและหลังปิดโรงไฟฟ้า และเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Economics and Management โดยเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก่อนและหลังปิดระยะเวลาเท่ากันคือ 1.5 ปี สรุปได้ว่าภายหลังการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีระดับเกือบเป็นศูนย์ ปัญหาน้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ลดลง 15 % และปัญหาการคลอดก่อนกำหนดลดลง 28 % ซึ่งการศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นที่บริเวณพื้นที่ใต้ลม และอยู่ภายในรัศมี 100 กิโลเมตร (60 ไมล์) จากที่ตั้งโรงไฟฟ้า

“ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพปรับปรุงดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่ โดยพื้นที่เหนือลมได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้า คนมีงานทำและรัฐเก็บภาษี แต่พื้นที่ใต้ลมมีต้นทุนที่ต้องจ่ายต้นทุนด้วยชีวิต”

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาเมื่อเมษายน 2560 พบว่าเด็กที่เกิดก่อนการปิดโรงไฟฟ้า ระหว่างปี 2533-2549 พบว่าแม่ที่อยู่อาศัยห่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 30-50 กิโลเมตร มีความเสี่ยงที่เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักตัวต่ำ 6.5 เปอร์เซนต์ และมีความเสี่ยงน้ำหนักตัวต่ำอย่างยิ่ง (very) 17.12 เปอร์เซนต์

งานวิจัยนี้เป็นประจักษ์พยานได้ว่าสายลมสามารถพัดพาเอามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ที่อยู่อาศัยในที่ที่ลมจากโรงไฟฟ้าถ่านหินพัดพาไปถึงในรัศมี 100 กิโลเมตร ซึ่งตรงข้ามกับคำกล่าวลอยๆ ของนักวิชาการสายวิศวกรรมและพลังงาน 35 รายข้างต้นที่บอกว่าในภาตตะวันออกมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตั้งอยู่ริมทะเลมา 10 ปีแล้ว แต่ไม่พบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เขียนคิดว่าปัญหานี้เกิดขึ้นและยังดำรงอยู่ แต่นักวิชาการกลุ่มนี้เลือกที่จะไม่กล่าวถึง


 อ้างอิง: Shutdown of coal-fired power plant results in significant fetal health improvement in downwind areas
https://www.sciencedaily.com/releases/2017/12/171221122409.htm
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share