in on March 19, 2018

From Russia with Love

read |

Views

จั่วหัวชื่อบทความนี้ คงมีแต่คนยุคสงครามเย็นจะเข้าใจ

มันเป็นชื่อหนังเจมส์บอนด์ยุค ฌอน คอนเนอรี่

คนรุ่นแฟนฌอน คอนเนอรี่มีความทรงจำที่ไม่ค่อยจะดีนักต่อรัสเซีย จำได้ว่าครั้งแรกที่เดินทางไปเยี่ยมญาติที่อังกฤษ แม่พาขึ้นเรือบินแอโรฟลอตของรัสเซีย เพราะมันราคาถูกที่สุดในยุค 70s แอร์ดุมาก เสริฟอาหารตี 2 ใช้ถาดที่ถือมาเคาะหัวผู้โดยสารปลุกให้ตื่นขึ้นมากิน โขกถาดลงตรงหน้า สั่งคำเดียวว่า “Eat!”

เราต้องรอ 24 ชั่วโมงเพื่อเปลี่ยนเครื่องที่รัสเซีย เขาบริการพาเราไปกักไว้ในโรงแรม ห้ามออกจากห้องนอน มีคนเฝ้าดุๆ หน้าลิฟท์แต่ละชั้น คอยตะโกน “Back!” ถ้าเราโผล่หัวออกมาจากห้อง ถึงเวลาอาหารจึงมาเคาะประตู “Eat!” จัดผู้โดยสารเดินเรียงแถวไปห้องอาหารในชั้นนั้น เสริฟซุปจืดๆ พร้อมขนมปังแข็งกัดไม่เข้า กินเสร็จก็เดินเรียงแถวกลับเข้าห้องนอนจนถึงเวลาบิน

ความเกร็งต่ออำนาจหลังม่านเหล็กและขนมปังแข็งมันฝังใจ

หลายสิบปีต่อมา เมื่อคิดจะไปเยือนรัสเซียต้นเดือนธันวากลางฤดูหนาวเหน็บ ให้มันรู้ไปว่านโบเลียนแพ้หิมะรัสเซียอย่างไร เราจึงออกจะเกร็ง แม้ว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยจะเข้ารัสเซียได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า แต่ชาวพันทิปก็เตือนกันไว้ว่าอย่าได้วางใจ จงเตรียมเอกสารสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศภาษารัสเซียไปด้วย พร้อมกับใบโน่นนี่จากโรงแรมที่พัก

แต่เมื่อไปถึงจริงๆ แล้ว อคติดั้งเดิมทั้งหมดก็ลบเลือนไป

รัสเซียในวันนี้เปลี่ยนไปมาก อาหารอร่อยและถูก โดยเฉพาะซุปบ้านๆ (ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมโรงแรมของแอโรฟลอตไม่ให้เรากิน) เบียร์ท้องถิ่นและไวน์จากจอร์เจียดีงามสามภพ พิพิธภัณฑ์เลิศระดับโลก ผู้คนอัธยาศัยดี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ยินดีช่วยเหลือบริการ

เรื่องเล่ามากมายอาจพอสรุปได้ด้วยประสบการณ์เยือนมิวเซียม Hermitage แห่งเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กเพียงแห่งเดียว

เดิมที Hermitage เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะส่วนพระองค์ ก่อตั้งโดยพระนางแคธเธอรีนในปี 1764 เชื่อมติดกับพระราชวังฤดูหนาว ซึ่งใหญ่โตเว่อวังอลังการพอๆ กับแวร์ซาย โดยรสนิยมส่วนตัว เราไม่เคยชอบศิลปกรรมแนวบาร็อคและร็อคโคโคจริตอำมาตย์ยุโรปพวกนี้เลย แต่ท่ามกลางความมืดหนาวทึมเทาไร้แสงตะวันของฤดูหนาวรัสเซีย เราเข้าใจมัน อภิเชตมันได้ เพราะแสงทองมันยกจิตใจที่หดหู่ขึ้นมา ยิ่งในยุคที่คนพึ่งพาแสงเทียน เดินเข้าไปในห้องลายทองพร้อย เล่นประกายวิบๆ กับแสงเทียน รับรู้เลยว่ามันให้ความสุขได้อย่างไร

ชื่อ “Hermitage” แปลตรงตัวว่าที่พักของฤษีหรือผู้ปลีกวิเวก ออกจะเป็นตลกร้าย ชื่อนี้มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีรากจากละตินและกรีก เพื่อแสดงถึงความเอ็กซ์คลูซีพส่วนตัว น้อยคนนักจะได้รับเชื้อเชิญให้เข้าไปชม

ปัจจุบันทั้งพระราชวังและพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ผนวกรวมกันเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่รวบรวมภาพเขียนไว้ได้มากมายที่สุดในโลก รวมถึงภาพศิลปินดังกลุ่มอิมเพรสชันนิสต์และโพสต์อิมเพรสชันนิสต์ ภาพเขียนยุโรปหลายยุคสมัย โบราณวัตถุอียิปต์ ฯลฯ จัดแสดงภายใต้สถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในวิจิตรเลิศหรู ซึ่งเป็นงานแสดงในตัวมันเอง

วันที่เราเข้าชมเป็นวันครบรอบมิวเซียม 253 ปี แต่ที่เยี่ยมยอดกว่านั้นคือเป็นช่วงครบรอบ 100 ปีปฏิวัติรัสเซีย 1917 มีนิทรรศการพิเศษแสดงแค่ 101 วัน เรื่อง “The Winter Palace and the Hermitage in 1917. HISTORY WAS MADE HERE.” เพราะเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ณ ที่นี้ เมื่อกลุ่มทหารปฏิวัติบุกเข้ายึดพระราชวัง มีธงแดงติดตลอดเส้นทางผ่านโถงที่บอลเชวิตบุกเข้ามา

มันเป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องได้ดีมากๆ ทั้งการออกแบบและเนื้อหา แฟร์กับทุกฝ่าย ใจกว้างแต่ไม่ไร้ความรู้สึกส่วนตัวของผู้จัด จึงสัมผัสถึงความเป็นมนุษย์หลายมิติของทุกคน เขาเริ่มต้นด้วยชีวิต อุปนิสัย และกิจกรรมของสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟ เราได้เห็นงานสังคมสงเคราะห์ที่จริงจังของโรมานอฟในด้านการแพทย์และพยาบาล ถึงกับแบ่งพื้นที่พระราชวังออกเป็นโรงพยาบาล คนไข้ส่วนใหญ่รู้สึกจะเป็นทหารผ่านศึก ซารีน่าและเจ้าหญิงฝึกฝนงานพยาบาลและลงไม้ลงมือเอง แต่ความตั้งใจเหล่านี้ไม่ได้แตะปัญหาสังคมทั้งในเชิงโครงสร้างและวาระคุกรุ่น ซาร์และครอบครัวไม่ทันโลก บริหารบ้านเมืองไม่เก่ง ไม่รู้จักสังคมกว้าง ไม่เก็ทการเมือง และซวยมหาศาล จนถูกกลุ่มปฏิวัติบอลเชวิตประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

ทหารบอลเชวิตเมื่อบุกยึดวังได้ ก็ปล้นสะดมและทำลายเข้าของงานศิลปะล้ำค่ามากมาย เจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์และวังในยุคนั้นหลายคนเสี่ยงชีวิตเข้าปกป้อง และได้รับเครดิตเป็นพิเศษ เขาสรุปว่าการปฏิวัติที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ที่แท้จริง ไม่ใช่การชิงอำนาจไปมาของกลุ่มคนต่างๆ แต่เป็นการผนวกพระราชวังและพิพิธภัณฑ์ของวังเข้าด้วยกัน เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะของชาวรัสเซียทุกคน

จบนิทรรศการห้องสุดท้าย เราก็ก้าวเข้าสู่ห้องแสดงปกติ Malachite Room ในพระราชวัง เป็นห้องวิจิตรอลังการ ตกแต่งยิบยับด้วยทองกับเสาหินมาลาไชต์สีเขียว ขับส่งให้ความเหลื่อมล้ำมหาศาลในสังคมยุคนั้นปรากฎชัดเจน ในขณะที่ข้างนอกหน้าต่างหนาวเทาทึม จะสงสารครอบครัวซาร์ในฐานะมนุษย์ยังไงก็ตาม มันให้เรารับรู้ทันทีว่าทำไมสังคมต้องเปลี่ยนแปลง

โทนเสียงและการเล่าเรื่อง ทั้งในนิทรรศการนี้ และนิทรรศการอื่นๆ รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์ ไม่สะท้อนความรู้สึกชาตินิยมมหาอำนาจ ต่างจากประเทศเกรียงไกรใหญ่โตหลายประเทศที่เคยสัมผัส เขาชื่นชมศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ทุกเชื้อชาติตามเนื้อผ้า ไม่ได้โปรรัสเซียเหมือนฝรั่งเศสโปรฝรั่งเศสจนหัวทิ่ม เป็นต้น

เรายังได้เข้าแกลลอรี่เล็กๆ ส่วนบุคคล แสดงผลงานนักเขียนการ์ตูนชาวรัสเซียมือฉมัง ยิ่งทำให้ตระหนักว่าโลกเราแคบขนาดไหน รู้จักแต่โลกเสรีผ่านภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่

เคยรู้สึกว่ารัสเซียเป็นสังคมเศร้าเก็บๆ แต่วันนี้แลดูสายตาคน ไม่เห็นแววความเศร้านั้นแล้ว ตึกสวยแต่เก่าพังก็ทยอยบูรณะขึ้นมาใช้งานใหม่

นิทรรศการ 100 ปีปฏิวัติรัสเซียที่ Hermitage จัดแสดงถึงวันที่ 4 กุมพาพันธ์ 2018 บอกไว้เผื่อใครมีโอกาสไป


ภาพจาก: http://viahotel.ru/blog/article/novosti/skoree-v-ermitazh-novaya-vystavka-shturm-zimnego-k-100-letiu-russkoi-revolucii

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share