in on May 2, 2019

สัพเพ สัตตา

read |

Views

ปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เขียน ที่ได้ย้ายกลับเข้ามาอยู่เมืองไทยหลังจากไปอยู่มาเลเซียมา 13 ปี แม้ว่าจะกลับเข้ามาปักหลักทางภาคใต้ ทำงานในเขตจังหวัดสุราษฏร์ธานี ในขณะที่บ้านกับโรงเรียนของลูกๆ อยู่จังหวัดกระบี่ ซึ่งทั้งสองจังหวัดนี้ มีความเหมือนกันอยู่คือเป็นสถานที่ที่มีภูเขาหินปูนเป็นภูมิทัศน์ที่โดดเด่น แห่งหนึ่งมีน้ำในเขื่อนเป็นฉากหน้า  อีกแห่งมีน้ำทะเลหนุนความสวยงามอยู่ด้านหลัง ความที่ชอบดูความตระหง่านของเขาหินปูนอยู่แล้ว การขับรถไปมาระหว่างที่ทำงานและบ้านสัปดาห์ละครั้งจึงถูกจริตพอสมควร

ระยะทางสองในสามของเส้นทางที่ต้องขับรถผ่าน ถือว่าเป็นเส้นทางสายเปลี่ยว(คน) เพราะโค้งเยอะ รถใหญ่จึงน้อย สองฝั่งถนนมีบ้านเรือนกระจายกันอยู่ประปราย ที่เหลือคือสวนผลไม้ สวนยาง สวนปาล์ม และพื้นที่ป่าที่เป็นอาณาเขตของเขาพนมและเขาสก ใครที่ชอบขับรถทางไกล หรือขี่มอเตอร์ไซค์แบบบิ๊กไบค์ คงจะถูกใจเส้นทางแบบนี้

ในความสวยงามที่เล่ามานั้น มีความน่าตื่นเต้นแฝงอยู่ด้วยตอนที่พบว่า ถนนเหล่านั้น เราต้องใช้ร่วมกับสัตว์อื่นๆ ด้วย ซึ่งก็มีตั้งแต่สัตว์เลี้ยงอย่างหมา แมว และแพะ ที่มักจะครองถนนแบบไม่เกรงใจใคร ผู้ขับขี่ต้องขับช้าๆ และหลบทางให้เจ้าถิ่น ไปจนถึงสัตว์ไม่ได้เลี้ยงอย่างงู ที่แม้ว่าจะนั่งอยู่ในรถยนต์มีประตูกับกระจกปิดมิดชิด ก็อดตกใจไม่ได้ทุกทีเวลาที่มีงูโผล่ออกมาจากพงหญ้าในระยะกระชั้นชิด  โชคดีของผู้เขียนที่งูสองสามตัวที่เห็นนั่นหลบกลับเข้าไปในพงไปได้ทัน แต่คงเป็นโชคไม่ดีของงูหลายตัวที่คาดว่าโผล่ออกมาตอนโพล้เพล้หรือตอนกลางคืน กลายเป็นเหยื่อตายกลางถนน ซึ่งผู้เขียนได้เห็นไม่ต่ำกว่าเที่ยวละ 3-5 ตัว

เมื่อครั้งที่อยู่มาเลเซีย สัตว์ที่พบตายบนท้องถนนในเมืองอันดับหนึ่งคือแมว (ไม่ใช่หมาแบบในเมืองไทย) มีเพื่อนผู้ชำนาญการเลี้ยงแมวเคยเล่าให้ฟังว่า แมวชอบเข้าไปใต้ท้องรถเพื่อไปนอนแอบไออุ่นอยู่ในห้องเครื่อง เวลาที่เจ้าของรถขับออกไปทำงานตอนเช้าๆ จึงพาแมวเหล่านี้ติดไปในห้องเครื่องด้วย จนกระทั่งเกาะเครื่องไม่ไหวหรือร้อนเกิน แมวก็จะหลุดลงมาจากห้องเครื่อง ซึ่งเป็นคำอธิบายข้อสงสัยของผู้เขียนว่าทำไมแมวจึงตายกลางเลนถนน

ส่วนการพบงูตายกลางถนน ถือว่าเป็นของแปลกใหม่สำหรับผู้เขียนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ แม้จะอยากรู้ว่ามีงูชนิดไหนบ้าง แต่ก็กลัวที่จะจอดดูชัดๆ จึงได้แต่สังเกตสีของงู ซึ่งเท่าที่เห็น ก็มีทั้งเหลืองอมเขียว น้ำตาล ดำ ส่วนมากก็จะยาวเกินเมตร และนั่นคงเป็นคำอธิบายว่าทำไมจึงข้ามถนนไม่ทันรถที่วิ่งมา

การอยู่ร่วมกับงู ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขาและสวนเกษตรต่างๆ แต่กับคนเมืองหรือคนที่เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านโครงการใหม่ๆ ที่ไปปลูกสร้างในพื้นที่การเกษตรอย่างนาข้าว สวนผลไม้ หรือพงป่า (หวังว่า ณ เวลานี้จะไม่มีใครไปถางป่าปลูกบ้านแล้วนะ) การเจองูเข้าบ้านหรือตามถนน จึงกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ผิดปกติ เพราะบ้านที่สร้างใหม่เหล่านั้น ได้ไปปลูกสร้างแทนถิ่นอาศัยที่เคยเป็นของงู แม้ว่าพวกมันจะไม่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของมาก่อนก็ตามที เราจึงได้อ่านข่าวหรือโพสต์ทางโซเชียลมีเดียบ่อยๆ ว่างูชนิดต่างๆ ทั้งจงอาง เหลือม หลาม และอื่นๆ อีกหลายชนิด โผล่เข้าไปในห้องนอน ห้องน้ำ ในบ้าน ชวนให้คนนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปตีเป็นเลขแต่จะนำโชคร่ำรวยหรือไม่ ไม่เคยได้ยินข่าวตามออกมาซักที

ตัวเลขที่ควรจะนำมาตีค่า น่าจะเป็นตัวเลขของพื้นที่ก่อสร้างที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ สำนักงานสถิติ (http://service.nso.go.th/nso/web/survey/surbus4-1-5.html) มีข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างต่างๆ ทั่วประเทศ แต่จากข้อมูลของปี 2557-2559 พบว่าแต่ละปี มีพื้นที่ใช้ในการก่อสร้างปีละประมาณ 44 – 50 ล้านตารางเมตร ส่วนในช่วงปี 2551-2554 มีอัตราการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5-2.6 ต่อปี แม้ว่าข้อมูลจะกระโดดข้ามปีไปมา แต่จับใจความได้ง่ายๆ ว่า การก่อสร้างบ้านเรือนมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมทุกๆ ปี การเผชิญหน้ากับสัตว์ไม่ได้เลี้ยงจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และจะไม่เป็นเรื่องที่แปลกอะไรอีกต่อไป

ทำบุญคราวหน้า คงจะต้องกรวดน้ำให้แก่สัตว์ที่เราไปบังเอิญแย่งบ้านหรือถิ่นหากินโดยไม่รู้ตัว ส่วนผู้เขียนเอง จะเพิ่มจำนวนงูที่เห็นนอนตายอยู่บนถนนเข้าไปด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างถนนเหล่านั้น ไม่ได้ไปเบียดเบียนบ้านเขามา

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share