in on September 13, 2017

สู้โว้ย..เมื่อคอเรสเตอรอลในเลือดสูง

read |

Views

สารพฤกษเคมีกลุ่มหนึ่ง คนไทยเรียกว่า ไฟโตสเตอรอล (phytosterol ออกเสียงว่า ไฟ-โต-สะ-เตีย-รอล) ได้เริ่มเข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้บริโภคบางท่าน ซึ่งปรับตัวให้เป็นไปตามสภาพของคนไทยยุค ไทยแลนด์ 4.0 เเละใช้ชีวิตล่องลอยไปกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้แต่ละคนลดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จนเกิดโรคเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายเร็วกว่าที่ควรเป็น เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดสูง นำไปสู่ความเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบและภาวะสมองขาดเลือด

ภาพจาก : http://www.actigenomics.com/2012/06/what-are-phytosterols/

มีข้อมูลบอกกล่าวในเว็บที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบว่า ชาวฟินแลนด์นั้นเคยมีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก่อน จนทำให้คนวัยทำงานเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดสูงที่สุดในโลก รัฐบาลฟินแลนด์และเอกชนจึงร่วมมือหามาตรการแก้ปัญหานี้ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญมาคิดค้นวิจัยหาสิ่งที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด

ถึงปี 1972 นักวิจัยชาวฟินแลนด์ได้ประสบความสำเร็จค้นพบว่า ไฟโตสเตอรอลมีผลในการลดคอเลสเตอรอลในเลือดของชาวฟินแลนด์ ส่งผลให้ภายใน 5 ปีหลังจากนั้น อัตราการตายของชาวฟินแลนด์ในวัยทำงานเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดลดลงถึงร้อยละ 70 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้สรรเสริญโดยจัดอันดับคุณภาพชีวิตของชาวฟินแลนด์อยู่อันดับที่ 11 ของโลก

กล่าวกันว่าในการศึกษาแบบทดลองสุ่มตัวอย่างที่เรียกว่า Double Blind (มีผู้แปลว่า การทดลองแบบอำพรางทั้งสองฝ่าย ซึ่งหมายความว่า ผู้ทำการทดลองและอาสาสมัครไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกทดสอบเช่น ยา นั้นอาสาสมัครคนใดได้บ้าง โดยมีคนที่รู้คือ ผู้ควบคุมการทดลองเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้สัมผัสกับอาสาสมัครโดยตรง) เพื่อช่วยลดความแปรผันของตัวแปรต่าง ๆ เช่น งานวิจัยชื่อ Cholesterol lowering efficacy of plant stanol ester in a new type of product matrix, a chewable dietary supplement ของ Laitinen และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Functional Foods ชุดที่ 30 หน้าที่ 119–124 ในปี 2017 นี้ แสดงให้เห็นว่า การกินแพลนท์สตานอลช่วยลดคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดเลว (LDL) แต่ไม่ลดไขมันชนิดดี (HDL) หรือมีผลกระทบใดๆ ต่อระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ เป็นต้น


ภาพจาก : http://lc.gcumedia.com/hlt362v/the-visual-learner/double-blind.html

ผู้เขียนได้ข้อสังเกตหนึ่งในการเข้าไปดูเว็บที่มีการขายผลิตภัณฑ์ที่มีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบคือ ชนิดของพฤกษเคมีกลุ่มนี้ที่อยู่ในการโฆษณาทางการค้าในบ้านเรานั้นมักเป็น แพลนท์สตานอล หรือ สตานอล (แต่ในต่างประเทศนั้นมีแพลนท์สเตอรอลด้วย) ดังนั้นจึงฉุกใจว่า ชื่อต่าง ๆ ของพฤกษเคมีกลุ่มนี้น่าจะมีความหมายในส่วนลึก ใช่แต่ว่าจะพูดแค่ ไฟโตสเตอรอล เท่านั้น

คำว่า สเตอรอล นั้นเป็นชื่อของกลุ่มสารเคมี (ที่เป็นอนุพันธ์อัลกอฮอลของสารกลุ่มที่เรียกว่า steroid ซึ่งควรออกเสียงว่า สเตียรอยด์) ซึ่งมีองค์ประกอบค่อนข้างซับซ้อนแต่มีเอกลักษณ์พอที่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ที่สนในเรื่องนี้เห็นเข้าจะจำได้ทันที สารกลุ่มสเตอรอลที่เรารู้จักดีมาก ๆ คือ คอเลสเตอรอล ดังนั้นในกรณีของ ไฟโตสเตอรอล นั้นจึงมีความหมายว่าเป็น สเตอรอลที่ถูกสร้างขึ้นในพืช

ตำราเกี่ยวกับพฤกษเคมีนั้นกล่าวว่า ไฟโตสเตอรอลแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อยคือ แพลนท์สเตอรอล (plant sterol) และแพลนท์สตานอล (plant stanol) ซึ่งนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า สเตรอลและสตานอลตามลำดับ สำหรับสูตรโครงสร้างทางเคมีนั้นมีความต่างกันเล็กน้อยแต่คุณสมบัตินั้นต่างกันพอควร

ขอให้ท่านผู้อ่านทราบว่า สตานอล นั้นคือ อนุพันธ์ของสเตอรอล โดยในโครงสร้างทางเคมีของสตานอลนั้นเกิดจากการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในส่วนที่เป็นวงแหวนของโมเลกุลของสเตอรอลเพื่อเพิ่มความอิ่มตัว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีของอนุพันธ์ที่เกิดขึ้นให้ต่างจากเดิม

ไฟโตสเตอรอลทั้งสองกลุ่มนี้ ขณะผ่านเซลล์ซึ่งเป็นผนังลำไส้เล็กเพื่อเข้าสู่กระแสเลือดนั้น ส่วนใหญ่ถูกระบบชีวเคมีของเซลล์ขับสารกลุ่มนี้กลับออกไปสู่ลำไส้เล็ก จึงมีเพียงส่วนน้อยที่เข้ากระแสเลือด กลุ่มนักวิจัยอเมริกันกล่าวว่า อาหารที่มีปริมาณไฟโตสเตอรอลและคอเลสเตอรอลใกล้เคียงกันนั้น มีเพียงร้อยละ 5 ของแพลนท์สเตอรอลและ ร้อยละ 0.5 ของแพลนท์สตานอลเท่านั้นที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดของเรา เมื่อเทียบกับคอเลสเตอรอลจากอาหารที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดถึงราวร้อยละ 50

แพทย์ผู้หนึ่งในอินเตอร์เน็ทตั้งข้อสังเกตว่า แพลนท์สเตรอลส่วนที่เข้าสู่ระบบโลหิตได้นั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้ถ้ามีมากไป ทั้งนี้เพราะสารนี้มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับคอเลสเตอรอล ดังนั้นเมื่อมีปริมาณในเลือดมากก็อาจเกาะผนังหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ประเด็นข้อสังเกตนี้เป็นที่สนใจอย่างยิ่งของนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ ในขณะที่แพลนท์สตานอลนั้นยังไม่มีข้อมูลที่เป็นสัญญานบ่งชี้ว่าก่อปัญหาดังกล่าว

ในทางการค้านั้น พฤกษเคมีกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถูกแยกออกมาจากน้ำมันพืชระหว่างการปรับสภาพให้น้ำมันพืชดูดีขึ้นสำหรับการบริโภค ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดในโรงงานสกัดน้ำมันพืชให้น้อยลง นักวิทยาศาสตร์ทางอาหารจึงต้องมองหาประโยชน์จากสิ่งแยกออกมา เพื่อให้ไม่ต้องทิ้งมันเสียเปล่า ทำนองเดียวกับโรงงานที่ทำอาหารจากเนื้อปลาที่ไม่ยอมทิ้งแม้หัวปลาให้เป็นขยะของสิ่งแวดล้อม โดยนำหัวปลาไปสกัดเอาน้ำมันโอเมกา 3 ออกมาขายก่อน จากนั้นซากที่เหลือจึงถูกนำไปต้มจนได้ของเหลวเข้มข้นที่มีกลิ่นของคาวปลาเพื่อใช้ผสมกับอาหารที่โฆษณาอ้างว่ามีปลาเป็นส่วนผสม สุดท้ายแล้วปลาทั้งตัวแทบไม่เหลือซากให้นำไปใช้ทำปุ๋ยเลย

หลังจากไฟโตสเตรอลถูกสกัดออกจากน้ำมันพืชแล้ว สารเหล่านี้อาจถูกขายให้กับโรงงานผลิตอาหารเพื่อใช้เสริมให้อาหารนั้นดูมีคุณภาพและราคาดีขึ้น หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ต้องการสารเคมีธรรมชาตินี้เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดซึ่งสูงผิดปรกติ

ท่านผู้อ่านควรทราบว่า พฤกษเคมีทั้งสองชนิดนั้นไม่ใช่สารอาหารและไม่ใช่ยา เพราะแม้ร่างกายดูดซึมสารนี้สู่กระแสเลือดได้ แต่ไม่มีการนำไปใช้ในการซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกายหรือออกฤทธิ์บำบัดโรค ที่สำคัญสารกลุ่มนี้ต่างจากคอเรสเตอรอลตรงที่ไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นเกลือน้ำดีเหมือนคอเรสเตอรอล แต่ถูกเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในรูปที่ร่างกายสามารถขับทิ้งออกไปกับอุจจาระ

 

บทบาทของพฤกษเคมีชนิดนี้ในร่างกายมนุษย์คือ รบกวนการดูดซึมคอเรสเตอรอลจากอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นการลดปริมาณโคเลสเตอรอลที่ถูกนำไปประกอบเป็น LDL (ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ ไขมันเลว) จึงส่งผลเนื่องให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและภาพรวมในการตายของคนในปัจจุบัน

ข้อมูลที่ได้จากเว็บซึ่งขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เล่าถึงกระบวนการทำงานของพฤกษเคมีกลุ่มนี้กล่าวว่า ระหว่างคอเลสเตอรอลรอถูกดูดซึมจากลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกายนั้น ไฟโตสเตอรอลสามารถเข้าไปแย่งที่คอเลสเตอรอลในส่วนที่เป็นไขมันของ ไมเซลส์ (micelles ซึ่งเป็นของผสมของสารที่ไม่ละลายน้ำในอาหารที่กินเข้าไปและน้ำดีที่ส่งมาจากถุงน้ำดี ของผสมนี้เกิดขึ้นก่อนการดูดซึมของไขมันผ่านผนังลำไส้เล็ก) ส่งผลให้คอเลสเตอรอลที่ไม่ถูกรวมเข้าไปในไมเซลส์ถูกขับออกจากร่างกายไปกับอุจจาระ

ในชีวิตประจำวันของเรานั้น อาหารที่มีสเตอรอลและสตานอลสูงคือ ถั่วต่าง ๆ (และพืชน้ำมันอื่น ๆ เช่น งา เมล็ดฝ้าย มะกอกฝรั่ง) แต่เนื่องจากเรากินถั่วในรูปแบบเป็นตัวประกอบของมื้ออาหารมากกว่าเป็นองค์ประกอบหลัก ดังนั้นแหล่งอาหารที่ทำให้เราได้พฤกษเคมีกลุ่มนี้ตามธรรมชาติแบบเป็นชิ้นเป็นอันเนื่องจากสัดส่วนในการบริโภคอาหารเหล่านี้เพิ่มขึ้นในปัจจุบันคือ ธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผักและผลไม้เช่น กล้วย ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ

ปริมาณสเตอรอลและสตานอลจากการกินอาหารพืชผักตามธรรมดาในชีวิตประจำวันนั้น อาจเพียงพอต่อความต้องการในการควบคุมคอเลสเตอรอลในเลือดของคนธรรมดา ที่กินอาหารแบบระวังแหล่งของคอเลสเตอรอล แต่สำหรับคนที่กินไม่เลือกหรือมีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม) แค่อาหารธรรมดาอาจไม่พอในการช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามของผู้มองเห็นโอกาสในการนำเอาพฤกษเคมีกลุ่มนี้ที่ถูกสกัดออกออกจากมันพืชมาเติมลงในอาหารบางชนิดที่เหมาะสม เช่น เนยเทียม มายองเนส โยเกิร์ต น้ำส้มคั้น ขนมอบกรอบ หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยตรง ซึ่งน่าจะเหมาะกับผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงแต่ไม่ประสงค์จะกินยาลดการสร้างคอเลสเตอรอลคือ สตาติน (statin)



ภาพจาก : http://www.coagulumreport.it/

ยาลดไขมันที่ชื่อสตาตินนั้น ออกฤทธิ์ที่ตับโดยยับยั้งเอ็นซัมในกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลในตับ ปัญหาของยานี้คือ มีผลข้างเคียงในการยับยั้งการสร้างโคคิวเทน (Co-enzyme Q10) ซึ่งเป็นสารชีวเคมีในไมโตคอนเดรียของเซลล์ที่เกี่ยวข้องในการสร้างพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ดังนั้นโอกาสที่กล้ามเนื้อของผู้ที่กินยาจะอ่อนแรง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ พร้อมความเสี่ยงต่ออาการเบาหวานอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางคน

ดังกล่าวแล้วว่า ปริมาณไฟโตสเตอรอลที่ร่างกายได้รับตามปกติจากอาหารประจำวันนั้นอาจต่ำเกินไปสำหรับผู้ที่กินอาหารโดยไม่ระวังการได้รับคอเลสเตอรอล นักวิจัยหลายคน (ที่ชอบการคำนวณเกี่ยวกับ อาหารแลกเปลี่ยน หรือ food exchange) สรุปผลจากงานวิจัยต่าง ๆ ว่า แพลนท์สตานอลวันละ 1.5 – 1.8 กรัมนั้นสามารถยับยั้งการดูดซึมคอเสลเตอรอลได้ร้อยละ 30 – 40 แต่การจะให้ได้พฤกษเคมีในปริมาณที่กล่าวนี้จำต้องกินอาหารต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งคือ ส้ม 500 กิโลกรัม องุ่น 133 กิโลกรัม อัลมอนด์ 100 กิโลกรัม น้ำมันถั่วเหลือง 33 กิโลกรัม หรือข้าวสาลี 5.1 กิโลกรัม จึงจะได้สตานอล 2 กรัม ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปรกติของระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจึงจำต้องเลือกการได้รับพฤกษเคมีนี้ ในรูปสารสกัดที่นำมาเติมในอาหารบางชนิดดังกล่าวแล้วข้างต้นหรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ในทางวิชาการแล้วมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า พฤกษเคมีกลุ่มนี้มีสัมฤทธิผลค่อนข้างมาก (สามารถหาดูข้อมูลได้ตามเว็บขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทนี้) เริ่มแรกนั้นบทบาทของไฟโตสเตอรอลต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ถูกกล่าวถึงในบทความชื่อ Reduction of Blood Cholesterol in Man ซึ่งเขียนโดยนายแพทย์ 0. J. Pollak ในวารสารชื่อ Circulation เมื่อปี 1953 (วารสารนี้ยังคงมีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับหัวใจอยู่ถึงปัจจุบัน โดยเป็นวารสารหลักของ American Heart Association ซึ่งถ้าท่านใดที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษพอน่าจะลองแวะเข้าไปดูที่เว็บ www.heart.org/HEARTORG เพราะมีบทความที่เกี่ยวกับสุขภาพของหัวใจที่น่าอ่านมากมาย)

ไฟโตสเตอรอลนั้นถูกผลิตขายในลักษณะของยามาตั้งแต่ปี 1954 เพื่อใช้บำบัดอาการคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยมีความแตกต่างจากสตาติน (ยาซึ่งได้รับการพิสูจน์ค่อนข้างชัดว่า ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการยับยั้งการสร้างคอเรสเตอรอลในผู้ป่วย) อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพิสูจน์ที่เป็นเรื่องเป็นราวนักว่า การให้ยาสตาตินและไฟโตสเตียรอลพร้อมกันนั้นช่วยให้คอเรสเตอรอลต่ำลงกว่าการให้ยาหรือไฟโตเรียรอลเพียงอย่างเดียว หรือก่ออันตรายหรือไม่แต่อย่างใด ดังนั้นผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยารวมควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ซื้อมากินเอง

ข้อมูลจาก Wikipedia กล่าวว่า หน่วยงานของสหภาพยุโรปที่ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารคือ EFSA (The European Foods Safety Authority) ได้สรุปว่า ปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือดถูกลดลงได้ร้อยละ 7-10.5 ถ้าผู้บริโภคกินสเตอรอลหรือสตานอล 1.5-2.4 กรัมต่อวัน โดยผลที่ได้ในการลดคอเลสเตอรอลจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ และถ้าเพิ่มระยะเวลาของการกินออกไปถึง 85 สัปดาห์ ผลในการลดคอเลสเตอรอลยังคงที่อยู่ได้ จึงอาจกล่าวโดยสรุปว่า พฤกษเคมีกลุ่มไฟโตสเตียรอลสามารถลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ และส่งผลถึงการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

ในสหรัฐอเมริกานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายอมให้มีการอ้างว่า อาหารใดเป็นแหล่งของสเตอรอลจากพืชนั้น ต้องมีสารสเตอรอลเอสเตอร์อย่างน้อย 0.65 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเมื่อกินอาหารนั้น 2 หน่วยบริโภคทำให้ได้สเตอรอลอย่างน้อย 1.3 กรัม ซึ่งทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ(อาจ) ลดลง ส่วนในกรณีของสตานอลนั้นอาหารต้องมีสตานอลเอสเตอร์ 1.7 กรัมต่อหน่วยบริโภคซึ่งเมื่อกินอย่างน้อย 2 หน่วยบริโภคทำให้ได้สตานอลเอสเตอร์ 3.4 กรัมก็ (อาจ) จะได้ผลในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจเช่นเดียวกัน

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา (Health Canada) นั้น Wikipedia กล่าวว่า ได้มีการทบทวนหลักฐานจากรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ไฟโตสเตรอลในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในอาสาสมัคร 84 เรื่องที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 1994-2007 พบว่า การกินพฤกษเคมีกลุ่มนี้เฉลี่ย 2 กรัมต่อวันสามารถลดปริมาณไขมันเลวหรือ LDL-คอเลสเตอรอลได้ร้อยละ 8.8 ผลการทบทวนนี้ทำให้กระทรวงสุขภาพของแคนาดาอนุญาตให้แสดงข้อความถึงประโยชน์ของอาหารที่มีไฟโตสเตรอลว่า สามารถลดคอเลสเตอรอลในเลือด คู่ไปกับข้อความว่า การมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

แม้ว่าไฟโตสเตรอลนั้นดูแล้วค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะเป็นองค์ประกอบธรรมดาที่มีในอาหารพืชผักและถั่วทั่วไป แต่ก็ยังมีผู้บริโภคที่อาจมีปัญหากับพฤกษเคมีกลุ่มนี้คือ ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมกระบวนการขับสารนี้ออกจากเซลล์ของลำไส้เล็กกลับสู่ทางเดินอาหาร (ดังกล่าวแล้วข้างต้น) ส่งผลให้มีไฟโตสเตอรอลอยู่ในเลือดสูงกว่าในคนปรกติ อาการนี้เรียกว่า Phytosterolaemia ข้อมูลจาก Wikipedia กล่าวประมาณว่า ผู้เคราะห์ร้ายดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อความผิดปรกติที่เกิดกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจถ้ากินอาหารมีไฟโตสเตอรอลสูงได้

อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกสงสัยว่า ผู้เขียนหันกลับไปสนับสนุนการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเสียแล้วหรือ จึงขออธิบายเพื่อแสดงจุดยืนของผู้เขียนว่า ไม่ใช่เลย การเขียนบทความนี้เพียงเพื่อต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจเท่านั้นว่า ถ้าท่านมีระดับคอเรสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว อาจมีแพทย์บางคนแนะนำให้ท่านกินผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแทนยา ซึ่งท่านมีสิทธิจะเลือกหาทางอื่นได้อีก เพราะในความเป็นจริงแล้วยังมีวิธีอื่นซึ่งเป็นการลดคอเรสเตอรอลในเลือดด้วยอาหารธรรมดา ดังจะอธิบายต่อไปนี้

จากความรู้ทางชีวเคมีซึ่งมีการสอนทั่วไปในสถานศึกษาต่าง ๆ นั้นกล่าวว่า ร่างกายเราต้องผลิตน้ำดีในตับ โดยใช้คอเรสเตอรอลจากเลือดเป็นวัตถุดิบ น้ำดีนั้นสำคัญต่อการดูดซึมไขมันซึ่งเป็นตัวพาวิตามินที่ละลายในไขมันคือ วิตามิน เอ อี ดี เค ผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด หลังการทำงานแล้วน้ำดีจะไปสู่ลำไส้ใหญ่แล้วถูกดูดซึมกลับไปที่ถุงน้ำดีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

ดังนั้นหลักการลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดด้วยอาหารธรรมดานั้น สามารถอาศัยพื้นฐานกระบวนการทางชีวเคมีนี้ โดยการยับยั้งการดูดซึมกลับของน้ำดีที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเกิดได้โดยอาศัยเพกตินจากอาหารเป็นตัวจับน้ำดีในลำไส้ใหญ่ แล้วพาออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระ ส่งผลให้ตับต้องนำคอเรสเตอรอลจากเลือดมาสร้างน้ำดีที่สูญเสียไป วิธีการนี้จะได้ผลดีได้ต่อเมื่อมีการควบคุมชนิดของอาหารที่กินแต่ละวันให้มีคอเลสเตอรอลต่ำด้วย

 

เพกตินคือ ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) มีคุณสมบัติเป็นโพลีแซคคาไรด์ที่เป็นโครงสร้างของผนังเซลล์ของพืชชั้นสูงเกือบทุกชนิด เมื่อถูกแยกออกมาจากผักและผลไม้จะแสดงคุณสมบัติเป็นสารที่ทำให้เกิดเจล (วุ้น) เมื่อละลายในน้ำ เราสามารถเพิ่มปริมาณของเพกตินในลำไส้ใหญ่จากอาหารหลายชนิดที่เรากินในชีวิตประจำวัน เช่น ถั่วต่าง ๆ ผลไม้ตระกูลส้ม (โดยเฉพาะขนมเปลือกส้มโอซึ่งต้องไม่หวานนัก) แครอท ฟักทอง กล้วย มัน แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ ถั่วเขียว มะเขือเทศ องุ่น แตงโม แตงกวา สับปะรด เป็นต้น (อาหารเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วมีไฟโตสเตียรอลธรรมชาติอยู่แล้วเช่นกัน)

งานวิจัยและบทความทบทวนเอกสารเกี่ยวกับการที่เพกตินสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ (ซึ่งผู้อ่านสามารถไปดาว์นโหลดมาอ่านได้) นั้น เช่น Pectin penta-oligogalacturonide reduces cholesterol accumulation by promoting bile acid biosynthesis and excretion in high-cholesterol-fed mice ในวารสาร Chemico-Biological Interactions ชุดที่ 272 (2017) หน้าที่ 153-159 และ The Interaction Between Insoluble and Soluble Fiber ในหนังสือ Dietary Fiber for the Prevention of Cardiovascular Disease หน้าที่ 35-59 ซึ่งพิมพ์ในปี 2017 นี้เอง

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ อียูหรือสหภาพยุโรปได้มีข้อความในบทความชื่อ Authorised EU health claims on pectins ในวารสาร Foods, Nutrients and Food Ingredients with Authorised EU Health Claims ชุดที่ 2 หน้า 153-174 ในปี 2015 ได้ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีเพกตินสามารถใส่ข้อความบนฉลากว่า “Pectins contribute to the maintenance of normal blood cholesterol concentrations” ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีเพกตินเป็นองค์ประกอบที่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับเข้าร่างกาย 6 กรัมต่อวัน ซึ่งการที่อียูยอมให้มีการอ้างนี้เป็นการอาศัยความรู้จากการศึกษาแล้วในคน

การที่เพกตินช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลได้ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันมานานพอควรแล้วในวงการแพทย์ ดังนั้นแพทย์หลายคนจึงแนะนำให้คนไข้เพิ่มการกินผักและผลไม้ที่มีเพกตินสูงเป็นหนทางแก้ไข้ปัญหาคอเรสเตอรอลสูงในลำดับแรก ถ้าไม่ได้ผลจึงลองใช้ยาสตาติน

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share