in on December 6, 2016

หนทางเลี่ยงมะเร็ง ตอน 3

read |

Views

ในสองตอนที่ผ่านไป ผู้เขียนได้บรรยายถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมะเร็งพร้อมทั้งให้สมมุติฐานที่น่าจะเป็นกระบวนการของการก่อปัญหา ปัจจัยดังกล่าวนั้นได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกิน อาหารหมักเกลือ สารหนู เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ และเบต้าแคโรทีนที่ขายในรูปของอาหารเสริม เครื่องดื่มมาเต ปลาเค็มหมักแบบกวางตุ้ง อาหารเนื้อหมัก อาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอะฟลาทอกซิน

ส่วนในตอนที่ 3 นี้จะเป็นการกล่าวถึงปัจจัยอีก 2 ปัจจัยซึ่งได้แก่ ความสูงและน้ำหนักแรกเกิดมากเกินไป เเละจะกล่าวถึงปัจจัยที่ World Cancer Research Fund เชื่อว่าช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งได้แก่ ผักมีแป้งต่ำ ผลไม้ต่างๆ การขยับเขยื้อนร่างกาย และใยอาหาร พร้อมทั้งสมมุติฐานที่น่าจะเป็นของปัจจัยต่างๆ โดยในรายละเอียดนั้นเป็นดังนี้

ความสูง (Height) ข้อมูลทางระบาดวิทยาระบุว่าคนที่สูงมากกว่าคนอื่นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างเต้านมไตรังไข่ตับอ่อนและต่อมลูกหมากมากกว่าคนที่เตี้ยกว่า

ปัจจัยเรื่องความสูงนี้ยังต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อใช้อธิบายกระบวนการและหนทางลดความเสี่ยงต่อมะเร็งที่อาจเกี่ยวข้อง ดังนั้นคนไทยจึงไม่ควรกังวลในเรื่องนี้จนไปบั่นทอนการที่สมาคมกีฬาต่าง ๆ พยายามค้นหานักกีฬาไทยที่มีความสูงเกิน 190 เซนติเมตรเพื่อสนับสนุนให้เล่นวอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ฯลฯ เนื่องจากการแข่งขันกีฬาระดับสากลนั้น ถ้าสูงใหญ่และสุขภาพดีโอกาสชนะย่อมสูงขึ้นด้วย ดีกว่านักกีฬาเตี้ย ผอมบาง แรงปะทะต่ำ เล่นอย่างไรก็มีแนวโน้มจะแพ้วันยังค่ำ

น้ำหนักแรกเกิดมากเกินไป (Greater birth weight) เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

ประเด็นนี้ดูน่าประหลาดมากในสมัยที่ผู้เขียนเกิด (เมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว) เพราะใครบ้างจะไปจำน้ำหนักแรกเกิดของตัวเองได้ ยกเว้นจะมีผู้จดไว้เมื่อเกิดออกมาจากท้องแม่ อย่างไรก็ดีปัจจุบันในสูติบัตรของเด็กไทยที่เกิดในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานนั้นได้มีการระบุน้ำหนักแรกเกิดไว้แล้ว  ครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนคุมวิชาสัมมนาของนักศึกษาปริญญาโทได้มีการนำบทความวิชาการเกี่ยวกับผลจากความเข้มข้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดแม่ต่อความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมของลูกสาวที่เกิดในช่วงนั้นมาอภิปรายในห้องเรียน

ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนจำได้จากการสัมมนาครั้งนั้นคือ ในระหว่างท้องนั้นระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของหญิงตั้งท้องต้องสูงกว่าระยะที่ไม่ท้องและคงระดับไว้จนกว่าจะคลอดลูก มิเช่นนั้นโอกาสแท้งลูกจะเกิดได้ ประเด็นสำคัญที่ตามมาคือ การแท้งลูก ซึ่งจัดว่าเป็นการขัดขวางกระบวนการทำงานของเอสโตรเจนในมดลูกให้ไม่ครบวงจร ส่งผลให้สตรีผู้นั้นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกสูงกว่าสตรีทั่วไป

สำหรับกรณีที่หญิงมีน้ำหนักตัวมากกว่าปรกติก่อนคลอดนั้น มักมีผลทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวเมื่อแรกคลอดสูงด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ หญิงที่อ้วนระหว่างท้องนั้นมักมีปริมาณเอสโตรเจนในเลือดสูงกว่าหญิงที่ท้องแต่ไม่อ้วนเป็นสิบถึงเป็นร้อยเท่า ผลที่ตามมาคือเด็กหญิงที่อยู่ในมดลูกแม่นั้นจะมีสภาพเหมือนอยู่ในอ่างเอสโตรเจน (บทความวิจัยนั้นใช้คำว่า Estrogen bath) ตลอดเวลาที่อยู่ในท้องแม่ และเอสโตรเจนจากแม่จะเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำให้เซลล์เต้านมของเด็กหญิง (ซึ่งรวมถึงเด็กชายหรือไม่บทความไม่ได้ระบุไว้) นั้นมีการสร้างบริเวณรับ (receptor) เอสโตรเจนสูงกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งการมีบริเวณรับฮอร์โมนนี้มากย่อมทำให้เอสโตรเจนออกฤทธิ์ได้มากขึ้นกว่าเด็กที่มีในระดับของบริเวณรับเอสโตรเจนปรกติเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

เอสโตรเจนนั้นเป็น Anabolic hormone คือเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการแบ่งเซลล์นักกีฬาบางคนรวมทั้งนักเพาะกายนิยมใช้ฮอร์โมนนี้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่และแข็งแรงขึ้น โดยลืมนึกไปว่าฮอร์โมนนี้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ร่างกายสร้างขึ้นดังกล่าวแล้วในตอนที่ผ่านมาของบทความชุดนี้

ในกรณีที่เต้านมของเด็กหญิงมีบริเวณรับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าเด็กอื่น เนื่องจากขณะแม่ท้องแล้วมีน้ำหนักตัวสูงนั้น เด็กคนนี้จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าปรกติ (ท่านผู้อ่านไม่ควรสับสนกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเนื่องจากมียีนมะเร็งที่เรียกว่ BRCA ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน) ทั้งนี้เพราะปรกติแล้วเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เป็นสาวนั้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพื่อเข้าเกาะที่บริเวณรับของเซลล์ที่ต่อมน้ำนม (mammary gland) ของเต้านมกระตุ้นให้เซลล์เตรียมพร้อมสำหรับแบ่งเซลล์เพื่อสร้างน้ำนมถ้ามีการปฏิสนธิและมีตัวอ่อนเกาะที่ผนังมดลูก

สิ่งที่สังเกตได้ในสตรีที่มีบริเวณรับของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าปรกติคือ มีการขยายขนาดของเต้านมช่วงก่อนมีประจำเดือนอย่างชัดเจนพร้อมกับความเจ็บปวด จากนั้นขนาดเต้านมจะลดลงเมื่อมีประจำเดือนผ่านไป (เนื่องจากไม่มีการปฏิสนธิในมดลูก) แต่บางครั้ง (โดยเฉพาะในสตรีใกล้หมดการมีประจำเดือนแล้วไม่เคยมีลูก) การเตรียมพร้อมของเซลล์ต่อมน้ำนมบางครั้งอาจเลยเถิดกลายเป็นมีการเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นเองอย่างผิดพลาด ซึ่งการเพิ่มเซลล์ในลักษณะนี้มักนำไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้นการที่อวัยวะคือ เต้านม ได้ทำงานครบรอบตามที่ควรเป็นคือมีน้ำนมให้ลูกดื่ม จึงกลายเป็นหนทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ดังจะกล่าวต่อไปในปัจจัยลดความเสี่ยงมะเร็ง

ปัจจัยที่มีหลักฐานชัดว่าลดความเสี่ยงของมะเร็ง

ผักมีแป้งต่ำ (Non-starchy vegetables) คือ ผักตระกูลกระหล่ำ (กระหล่ำปลี บรอคโคลิ ผักโขม คะน้า ดอกกระหล่ำ เทอร์นิบ เป็นต้น) มีหลักฐานการศึกษาว่าช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปากคอและทางเดินอาหาร

ความจริงผักตระกูลนี้เป็นที่รู้กันมานานจากการศึกษาเเล้วว่าช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้เพราะเป็นผักที่มีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นระบบทำลายสารพิษ

นานมาแล้วมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า การบริโภคอาหารของชาวจีนเมืองหนึ่งที่มีกระหล่ำปลีเป็นจานเด็ดอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งโดยรวมสองเท่า จึงเป็นที่ทราบกันดีในวงการวิชาการที่ศึกษาเรื่องอาหารลดความเสี่ยงของมะเร็งว่า ผักตระกูลนี้เป็นของดีราคาไม่แพงนักที่ควรถูกเลือกให้มาอยู่บนโต๊ะอาหาร เพียงแต่ว่าต้องซื้อชนิดที่เป็นผักอินทรีย์เพื่อเลี่ยงสารพิษทางการเกษตรหน่อย

ความสามารถในการป้องกันมะเร็งของผักตระกูลกระหล่ำปลีได้รับความสนใจอย่างมากและทราบว่าเป็นผลเนื่องจากการผักตระกูลนี้มีสารกลุ่มกลูโคซิโนเลท (glucosinolate สารธรรมชาติกลุ่มนี้ทำให้ผักตระกูลกระหล่ำปลีมีกลิ่นและรสเฉพาะตัว) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะที่กลูโคซิโนเลทอยู่ในผักที่มีสภาพดี สารกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถแต่อย่างไรในการป้องกันมะเร็ง แต่เมื่อสารนี้ถูกเอนไซม์ชื่อ มัยโรซิเนส (myrosinase) ซึ่งในสภาพที่ผักเป็นปรกติจะไม่ทำงาน แต่เอนไซม์นี้จะทำงาน (คือสามารถการย่อยกลูโคซิโนเลทเป็นสารกลุ่มใหม่คือ อินโดล (indole) และ กลุ่มไอโซไตโอไซยาเนต (isothiocyanate)) ได้เมื่อเซลล์ของผักแตกเนื่องจากการหั่นซอยตำซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดในครัวของชาวเอเชียพฤติกรรมนี้ต่างจากพฤติกรรมในครัวของพ่อครัวและแม่ครัวชาติตะวันตกที่มักหั่นผักตระกลูกระหล่ำปลีเป็นชิ้นใหญ่ๆซึ่งทำให้โอกาสที่เอนไซม์มัยโรซิเนสได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคน้อยกว่าถึงกับมีนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปท่านหนึ่งกล่าวในบทความวิชาการว่าชาวตะวันตกควรหันมาศึกษากระบวนการปรุงอาหารของชาวเอเชียเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากอาหารในการป้องกันโรคไม่ติดต่อต่างๆ

สำหรับผักอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากมีแป้งต่ำเช่นเดียวกัน ผู้บริโภคควรเน้นเลือกบริโภคผักชนิดที่มีสีเข้มเพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระซึ่งน่าจะช่วยในการต้านมะเร็งได้เช่นกัน

ผลไม้ต่างๆ เมื่อได้กินในปริมาณที่มากพอในแต่ละมื้ออาหารช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปอดปากคอและหลอดอาหาร

ประเด็นนี้อธิบายได้ด้วยความจริงที่ปรากฏแล้วว่า ผลไม้เป็นแหล่งใยอาหารและสารที่มีประโยชน์ งานวิจัยทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่มักระบุในภาพรวมของผักและผลไม้ในมื้ออาหารมีศักยภาพในการต้านมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็งของทางเดินอาหาร

ผู้เขียนได้เขียนบทความสั้น ๆ ให้แก่นิตยสารฉบับหนึ่งจำนวน 12 ตอนเกี่ยวกับผลไม้ที่คนไทยน่าจะกิน (ไม่ได้กำหนดว่าต้องกินก่อนตายนะครับ) สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนพบจากการค้นข้อมูลรวมทั้งประสบการจากการสอนและทำวิจัยได้พบว่า ผลไม้พื้นๆ ที่มีขายในบ้านเราหลายชนิดเช่น กล้วย มังคุด องุ่น และส้มนั้น มีศักยภาพในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้

กล้วยเป็นทั้งอาหารและยา ผู้เขียนกินกล้วยช่วยเพิ่มพลังงานก่อนการเล่นแบดมินตันหรือถีบจักรยาน เนื่องจากกล้วยอุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติซึ่งทำให้ลดอาการอ่อนเพลียได้ดี นอกจากนี้องค์ประกอบสำคัญอีกชนิดหนึ่งของกล้วยคือ ใยอาหาร นั้นช่วยทำให้ท้องอิ่มได้นานกว่าอาหารก่อนออกกำลังกายจานอื่น ที่สำคัญกล้วยช่วยให้ขับถ่ายได้เป็นประจำทุกวันซึ่งควรช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งทางเดินอาหารตอนล่าง ด้วยเหตุผลที่ว่าใยอาหารนั้นเป็นโปรไบโอติกคืออาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัส เป็นพรีไบโอติกที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา นักวิชาการสุขภาพส่วนใหญ่เชื่อว่าการมีพรีไบโอติกและโปรไบโอติกพร้อมกันในลำไส้ใหญ่เป็นการช่วยปรับสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารตอนล่างให้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเซลล์มะเร็ง (ดังจะอธิบายในตอนท้ายของบทความตอนนี้)

มังคุดเป็นผลไม้ที่มีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษบางชนิด จึงอาจกล่าวได้ว่า มังคุดเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ งานวิจัยในวารสาร  Journal of the Society for Integrative Oncology เมื่อปี 2006 เรื่องหนึ่ง กล่าวว่ามังคุดมีสารชื่อ แซนโธน (Xanthones) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการขยายจำนวนของเซลล์มะเร็งอย่างไรก็ดีผู้ป่วยมะเร็งคงต้องรองานวิจัยที่วางแผนการศึกษาในคนไข้ที่ดีกว่านี้ในอนาคตดังนั้นระหว่างนี้อย่าเพิ่งไปหลงเชื่อการโฆษณาจากคนขายน้ำมังคุดซึ่งมีตั้งแต่เขาเป็นใครก็ไม่รู้ในอินเตอรเน็ตตลอดไปจนถึงบุคคลากรด้านสาธารณสุขที่มักกล่าวว่าน้ำมังคุดใช้บำบัดมะเร็งได้ทั้งที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่าน้ำมังคุดไปรบกวนการทำงานของยาบำบัดมะเร็งอื่นหรือไม่

องุ่น (สีเข้มต่างๆ ) นั้นมีงานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งมีมากมายเหลือคณานับ) ให้ผลการศึกษาว่า ผลไม้นี้ควรป้องกันการเกิดการออกซิเดชั่นในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจ ลดอาการความดันโลหิตสูง ป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิด ต้านการกลายพันธุ์ของสารพิษ ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อ สำหรับเมล็ดองุ่นซึ่งเรามักคายทิ้งนั้น ถ้าต้องการตามกระแสการกินสารสกัดจากเมล็ดพืชก็สามารถนำเมล็ดองุ่นที่คายแล้วมาตำในครกพร้อมเหล้าขาว จากนั้นจึงกรองผ่านผ้าขาวบางก็จะได้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นแบบง่าย ๆ กินเพื่อความสบายใจ

ส้มเป็นผลไม้ที่พบว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการกินน้ำส้มคั้นโดยกล่าวว่า การดื่มน้ำส้มจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ดีกว่าการกินส้มทั้งผล ฟังดูเเล้วก็ประหลาดดี เพราะการดื่มน้ำส้มนั้นทำให้ผู้ดื่มไม่ได้รับใยอาหารเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีเมื่ออ่านบทความวิจัยนั้นโดยละเอียดทำได้พบว่า คนในเมืองเล็กเมืองหนึ่งชื่อ Sun City ในรัฐอะริโซนาของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีแดดจัดและร้อนแห้งต่างจากบ้านเรา) ดื่มน้ำส้มแล้วมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนในเมืองเดียวกันที่กินส้มทั้งลูก ซึ่งอธิบายได้ว่าการคั้นน้ำส้มนั้นได้มีการบีบเอาน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นสารขมของผิวส้มลงไปในน้ำส้มคั้นด้วย สารขมที่ศึกษานั้นมีชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ ดีลิโมนีน (d-Limonene)

จากการค้นข้อมูลทำให้พบว่า ลิโมนีนและสารอื่นที่อยู่ในน้ำมันผิวส้มน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งในคนได้ โดยอาศัยความสามารถของสารเหล่านี้ในกระบวนการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวเองได้ (ในบทความชื่อ Cancer Prevention by Natural Compounds ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Metabolism and Pharmacokinetics ปี 2004) ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้ผู้เขียนนึกได้ว่า แต่เดิมคนไทยมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังค่อนข้างต่ำ (ทั้งที่บ้านเรานั้นแดดแรงเหลือคณา) นั่นอาจเป็นเพราะเรามีวัฒนธรรมการกินน้ำพริกซึ่งต้องมีการคั้นน้ำมะนาวด้วยมีด ทำให้มีการบีบเอาน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกมะนาวลงไปในน้ำพริก ซึ่งเป็นกลิ่นรสเฉพาะของน้ำพริก มะนาวนั่นเอง อย่างไรก็ตามสารลิโมนีนในปริมาณสูงถูกพิสูจน์มาแล้วว่าก่อให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่ใครจะเสี่ยงไปซื้อลิโมนีนสังเคราะห์ในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากิน

การขยับเขยื้อนร่างกาย (Physical activity) เป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ เต้านมและมดลูกของสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว

มีหลายคนในเน็ทอธิบายสาเหตุของการไม่ค่อยได้ขยับเขยื้อนร่างกายว่า เพราะไม่มีโอกาสบ้าง ขาดกำลังใจบ้าง ไร้อารมณ์บ้าง เป็นต้น ข้ออ้างนี้น่าจะเป็นจริงเพราะเห็นได้จากการที่สถานบริการเกี่ยวกับการทำให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อนร่างกาย (ซึ่งคนไทยเรียกผิดๆ ว่า ฟิตเนส ทั้งที่ความจริงควรเรียกว่าสถานที่ออกกำลังกายหรือ gymnasium) นั้นเป็นที่นิยมของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายซึ่งต้องการคนมาคอยบังคับ ชี้(นิ้ว)แนะให้วิ่ง ให้กระโดด หรือทำอะไรก็ได้ที่อวัยวะของร่างกายไม่อยู่กับที่พร้อมทั้งได้เหงื่อออกมา

ในความเป็นจริงมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายสามารถออกแรงได้ในแต่ละวันอย่างพอเพียง ขอเพียงแต่ หัดทำงานบ้านเอง หัดเดิน (เฉพาะเที่ยวกลับบ้านเพราะรถมักติดอยู่แล้ว จะยืนหรือนั่งเฉยๆในรถปรับอากาศทำไม) ถ้าบ้านอยู่ในเมืองไม่ไกลจากที่ทำงาน แต่ไม่ควรเดินในตอนเช้าเพราะเมืองไทยเป็นเมืองที่มีอากาศร้อนกว่า 300 วันต่อปีและตอนเช้าตรู่อาจมีโจรชุมกว่ายุงในบางพื้นที่ มนุษย์เงินเดือนมักต้องการวันหยุดคือวันอาทิตย์ (บางคนได้วันเสาร์ด้วย) เพื่อนอนพักด้วยความเข้าใจ (ผิด) ว่าเป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับสู่สภาพเดิม เพราะช่วงวันทำงานนั้นมนุษย์เงินเดือนมักสะสมขยะอารมณ์ในร่างกายซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะขจัดทิ้งออกไปกับเหงื่อในวันหยุดพักผ่อน ด้วยการเล่นกีฬาให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้สนุกแบบสมัยเป็นเด็กที่ได้วิ่งเล่น สมองได้คิดถึงสิ่งอื่น และได้มีการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน (endorphin) ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้นพร้อมสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดคือการลดน้ำหนักซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็ง

ใยอาหาร (Dietary fiber) ที่ได้จากผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ พืชหัวต่างๆ ข้าวไม่ขัดสี ธัญญพืช นั้นเป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง

ความรู้ว่าใยอาหารป้องกันมะเร็งนั้นมีมาค่อนข้างนานแล้ว โดยมีการพบข้อมูลว่า ประชากรในถิ่นที่มีการกินอาหารพืชผักสูงมีอัตราการเป็นมะเร็งต่ำกว่าประชากรในถิ่นที่กินเนื้อสัตว์และแป้งเป็นหลัก โดยพื้นฐานแล้วการกินผักผลไม้ช่วยให้มนุษย์หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดขับถ่ายได้ดี ซึ่งเป็นหนทางกำจัดสารพิษออกจากร่างกายเเละถูกกระตุ้นด้วยปริมาณของอุจจาระในลำไส้ใหญ่ ดังนั้นด้วยคุณสมบัติที่ใยอาหารอุ้มน้ำได้ดีอุจจาระจึงถูกเพิ่มให้มีน้ำหนักมากขึ้นจึงถูกขับถ่ายเร็วขึ้นในแต่ละวัน สังเกตุได้จากผู้ที่กินผักผลไม้มากจะขับถ่ายอย่างน้อยวันละครั้งถึงหลายครั้งโดยไม่ได้มีอาการท้องเสีย

นอกจากนี้ใยอาหารหลายชนิดมีคุณสมบัติทางเคมีกายภาพ (physicochemical property) ในการจับสารพิษ (ซึ่งถูกอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ลำไส้ เปลี่ยนแปลงให้มีความสามารถในการละลายน้ำแล้ว) ได้ดี จึงทำให้โอกาสที่สารพิษที่รอถูกขับออกจากร่างกายจะถูกกระบวนการทางชีวเคมีที่เกิดเนื่องจากแบคทีเรียบางชนิดในทางเดินอาหารตอนล่างทำให้สารพิษถูกดูดซึมกลับคืนสู่ร่างกายน้อยลง

สำหรับคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของใยอาหาร โดยเฉพาะใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (หรือที่ฝรั่งใช้คำผิดว่า soluble fiber โดยผู้เขียนขอให้เหตุผลที่ว่าผิดนั้นเพราะ คำว่า soluble ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ที่เราแปลเป็นไทยว่า ละลายได้ นั้นมีความหมายทางเคมีว่า capable of being dissolved, especial easily dissolved in some solvent เมื่อละลายแล้วไม่ควรเหลือกาก แต่ใยอาหารที่ตำราทุกเล่มเรียกว่า soluble fiber นั้นเมื่อใส่ลงน้ำจะเพียงอุ้มน้ำไว้ทำให้พองตัว แต่ไม่เป็นเนื้อเดียวกับน้ำเหมือนเวลาเกลือละลายน้ำ ดังผู้เขียนจึงไม่แปลคำนี้ว่าใยอาหารที่ละลายน้ำเหมือนผู้อื่น) นั้นเป็นองค์ประกอบของอาหารที่ร่างกายย่อยไม่ได้แต่ถูกผลักดันลงไปสู่ลำไส้ใหญ่ซึ่งมีแบคทีเรียหลายชนิดที่เราเรียกว่า probiotic สามารถกินใยอาหารนี้แล้วปล่อยกรด (เช่น กรดแลคติก) ออกมาปรับให้สภาวะแวดล้อมของลำไส้ใหญ่ซึ่งปรกติมีความเป็นด่างกลายเป็นกลาง

เหตุที่ลำไส้ใหญ่ของคนที่กินผักผลไม้น้อยมีสภาวะค่อนไปทางด่างนั้นเพราะในการย่อยอาหารในลำไส้เล็กนั้น ลำไส้ต้องปรับภาวะแวดล้อมให้เป็นด่างเหมาะต่อการทำงานของน้ำย่อยที่หลั่งออกมาจากตับอ่อน ดังนั้นทุกอย่างที่เหลือจากการย่อยในลำไส้เล็กจึงมีฤทธิ์เป็นด่าง และเมื่อเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่จึงทำให้สภาวะในลำไส้ใหญ่เป็นด่างไปด้วย สภาวะนี้ในลำไส้ใหญ่เหมาะต่อการขยายตัวของเซลล์มะเร็งซึ่งมักเกิดจากสารพิษบางชนิดที่ปนอยู่ในอุจจาระ หรือเป็นการเกิดของเซลล์มะเร็งตามธรรมชาติ (ซึ่งบางคนมียีนนี้โดยเฉพาะ) แต่ในกรณีผู้ที่กินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีมากพอ สภาวะความเป็นกรดด่างในลำไส้ใหญ่จะกลายเป็นกลางซึ่งเซลล์มะเร็งจะไม่เจริญต่อไป

(โปรดติดตามตอนที่ 4 ในเดือนหน้า)

เเก้ว กังสดาลอำไพ

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ เป็นนักพิษวิทยาที่กินเงินบำนาญ จึงมีเวลาเขียนบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ ในคอลัมน์ กินดีอยู่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สอน วิจัยและเป็นประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการในมหาวิทยาลัยมหิดลนาน 31 ปี มาเขียนบทความกึ่งวิชาการที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกกินอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจะได้ไม่ถูกลวงในภาวะสังคมปัจจุบันที่แทบจะเชื่อใครไม่ได้เลยในอินเตอร์เน็ท

Email

Share