in on March 26, 2015

หน้าที่พลเมือง

read |

Views

เมื่อเดือนที่แล้วเกิดเหตุการณ์เล็กๆ เรื่องหนึ่งที่สวนเบญจกิติ

สวนนี้แต่ก่อนเป็นพื้นที่บึงขนาดใหญ่ของโรงงานยาสูบ ติดกับศูนย์ประชุมสิริกิต เมื่อนำมาปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะก็ออกแบบการใช้สวนรอบๆ บึง ทำเป็นลู่ออกกำลังกายสองวง ความยาวรอบวงประมาณ 2 กิโลเมตร วงใหญ่ด้านในรอบบึงเป็นลู่วิ่งและเดิน วงนอกเป็นลู่จักรยานสองเลน ไม่กว้างมากนัก เพียงพอให้จักรยานแซงกันได้ โดยมีแนวต้นไม้คั่นกลางระหว่างลู่วิ่งกับลู่จักรยาน

สวนเบญจกิติจึงเป็นสวนกลางเมืองแห่งเดียวในย่านที่ออกแบบรองรับการปั่นออกกำลังกาย ให้คนวิ่งและคนปั่นใช้สวนร่วมกันได้อย่างสะดวก ช่วงเช้าและเย็นมีคนมาเดิน วิ่ง ปั่นกันจำนวนมาก

แต่แน่นอนว่าสวนก็ต้องรองรับกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ (ใจจริงแล้ว อยากเห็นสวนสาธารณะทำหน้าที่ได้มากกว่าเป็นปอดและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ อยากเห็นมันทำหน้าที่ผลิตอาหาร เป็นสวนผลไม้ให้กับคนเมืองด้วยซ้ำ) ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สวนเบญจกิติก็ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดการแสดงอลังการ “พระมหาชนก เดอะฟีโนมีนอลไลฟ์โชว์” ด้วยมีสระขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบฉากสำคัญ

การแสดงในตอนกลางคืนจัดตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2557 สวนทั้งสวนถูกปิดไม่ให้ใครเข้าใช้ตลอดช่วงวันแสดง แม้จะนึกบ่นเงียบๆ กันว่าทำไมจึงไม่คิดออกแบบเวทีและที่นั่งชมการแสดงให้อยู่ร่วมกับกิจกรรมใช้สวนอื่นๆ ได้ แต่ผู้ใช้สวนขาประจำก็ยอมรับ หันไปวิ่งกับรถยนต์ในโรงงานยาสูบแทน โดยหวังจะได้สวนคืนมาในเดือนถัดไป

แต่เมื่อเปิดปีใหม่มาก็พบว่าเศษวัสดุก่อสร้างเวทียังเก็บไม่หมด คงกองอยู่บนลู่วิ่งด้านทิศเหนือ และบังคับให้คนวิ่งเบนเข้าไปวิ่งเรียงเดี่ยวร่วมกับจักรยานซึ่งก็ต้องเรียงเดี่ยวเช่นกัน ถึงกระนั้น ผู้ใช้สวนก็ยังยอมรับสภาพกัน แม้จะไม่สะดวกและค่อนข้างอันตรายโดยไม่จำเป็น ก็ยังหวังกันว่าเดี๋ยวเขาคงมาเคลียร์ เพราะในต้นเดือนมกราคมก็ยังเห็นคนงานตอกโป้งๆ รื้อเวทีในน้ำอยู่

แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีคนงานมาทำอะไรอีก ถังน้ำมันที่ใช้พยุงเวทีกองพะเนิน เคียงข้างเศษวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ตั้งอยู่เต็มลู่วิ่ง/เดิน ตั้งอยู่เฉยๆ อย่างนั้นอาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่า โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ

ในที่สุดผู้เขียนก็ทนไม่ไหว จึงถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊คส่วนตัวและรายงานแก่ กทม.ผ่านแอ๊พบางกอกอายส์ พร้อมกับโทรแจ้งศูนย์ร้องเรียน 1555 ของ กทม. ในวันที่ 2 กุมพาพันธ์ เจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้และโทรกลับมาในวันที่ 4 บอกว่าได้ประสานแล้วและทางฝ่ายผู้เกี่ยวข้องแจ้งว่าจะเข้าดำเนินการ ขอให้เราไปตรวจสอบดูด้วย เราก็ไปดูในวันที่ 6 พบว่าไม่ได้มีการย้ายขยะก่อสร้างไปไหนเลย แค่แหวกๆ เปิดช่องเดินหนึ่งฟุต ซึ่งยังเต็มไปด้วยเศษวัสดุบนพื้นและแยงๆ ออกมาด้านข้าง ก็ไม่มีใครกล้าแทรกตัววิ่งผ่าน ต้องเบนเข้าลู่จักรยานตามเดิม

ถึงวันที่ 9 กุมพาพันธ์ ผู้เขียนจึงโทรกลับไปที่ 1555 เพื่อแจ้งว่ายังไม่ได้ดำเนินการ ทางศูนย์ก็ยืนยันว่าฝ่ายที่ประสานไปเข้าจัดการแล้ว ก็เลยถ่ายรูปและโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊คอีกครั้งพร้อมรายงานสถานการณ์ มีการแชร์ออกไปมากมาย ร่วมถึงในเพจของเพื่อนที่เป็นสื่อมวลชน

ในบ่ายวันนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่พร้อมคนงานเข้ามาเคลียร์ของออกไปจนหมด

ขณะเดียวกันทางผู้จัดงาน นายวินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล ก็แจ้งผ่านเฟซบุ๊คว่าตนได้เคลียร์ของออกจากลู่วิ่งเสร็จสมบูรณ์ไปตั้งแต่ก่อนปีใหม่ เหลือแค่วัสดุเล็กๆ น้อยๆ และเสาเข็มในน้ำที่จะทยอยขนเพราะเป็นงานละเอียดซับซ้อน ทางกทม.เองก็บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตามสัญญาเขาต้องเคลียร์ในสองเดือน นี่ยังไม่ถึงสองเดือน แต่เมื่อมีคนใช้สวนร้องเรียนมา ทางผู้จัดก็กรุณามาทำงานเพิ่มเติม ตามแผนคือจะขนย้ายไปยังโครงการช่างหัวมันในพระราชดำริ เปิดการเรียนรู้ให้แก่เด็กด้อยโอกาส เวทีแสดงนี้เป็นงานศิลปะละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลาถอดเก็บขนย้าย

ฟังเหมือนกับว่าพวกคนใช้สวน (โดยเฉพาะนังคนที่ร้องเรียน) นี่มันเป็นคนชั้นกลางในประเทศกรุงเทพที่เห็นแก่ตัวเหลือประมาณ แหม ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสปอร์ตคลับและโปโลคลับนี่คะ สวนและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ จึงเป็นทรัพยากรกลางที่สำคัญสำหรับเรา

แต่เราก็รู้สึกขอบคุณที่เขาเข้ามาเคลียร์ให้โดยเร็วเมื่อโวยวายกันออกไป ดีกว่าปัญหาร้อยแปดที่ชาวบ้านอื่นๆ ต้องทนทุกข์ร้องเรียนกันเป็นปีๆ อย่างเทียบไม่ได้

ที่เล่ามานี่เป็นแค่แบ็คกราวน์ เพราะเรื่องที่อยากจะคุยกันจริงๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ทางการมาเคลียร์ขยะก่อสร้าง (ยืนยันว่าไม่ใช่งานศิลป์วิจิตรละเอียดอ่อน)

ทันทีหลังเหตุการณ์คลี่คลายได้ ก็มีทั้งเพื่อนและคนไม่รู้จักส่งสารเข้ามาหาทางเฟซบุ๊คหลายคน บอกเล่าถึงปัญหาสารพัดในสวนสาธารณะต่างๆ และอยากให้เราช่วยไปผลักดันกับทางการ

เหม่ นี่มันไม่ใช่หน้าที่พลเมืองของเราทุกคนหรอกหรือ? ทำไมจึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของคนโวยวายเพียงไม่กี่คน?

มันน่าคิดว่าทำไมเราชอบบ่นกันเงียบๆ ลับหลัง แต่ไม่ยอมออกหน้า? เราอยากรักษาภาพความเป็นคนน่ารักไม่เรื่องมากของเราในสังคม หรือเรากลัวจะเปลืองตัว? เพราะขนาดเรื่องตรงไปตรงมาชัดเจนแค่นี้ พยานเห็นก็เพียบ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงยังสามารถบิดเบือนข้อมูลและปรับเฉดสีให้ผู้ร้องเรียนเป็นตัวร้ายได้อย่างเนียนๆ

ตราบใดที่เราหวังพึ่งคนเพียงไม่กี่คนให้เป็นปากเป็นเสียง สภาพปัญหาต่างๆ ก็ไม่มีวันพัฒนา เพราะในที่สุดมันก็ถูกปัดไปเป็นแค่ปัญหาของขาประจำจอมโวย ไม่รู้จักอดทนอยู่หยิบมือเดียว เสียงของเขาก็หมดพลังหมดความหมายไปในที่สุด แต่ถ้าเป็นเสียงของพลเมืองทั่วไปจำนวนมากมาย มันกลายเป็นวาระสังคม เป็นมาตรฐานใหม่ที่ภาครัฐต้องพิจารณาไม่สร้างความเหลื่อมล้ำกับส่วนรวม

หน้าที่พลเมืองผู้เพียรพยายามพึ่งตนเองคือบทเรียนจากพระมหาชนกไม่ใช่หรือ?


กรุงเทพธุรกิจ มีนาคม 2558

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share