in on November 15, 2017

หวงและห่วง…แม่ทุเรียนของพี่

read |

Views

เทศกาลกินทุเรียนที่มาเลเซียเมื่อกลางปีที่ผ่านมามีความเงียบเหงาผิดไปจากเดิม เพราะทุเรียนมีราคาแพงเกินกว่าปกติ ชนิดที่เรียกว่ามูซัง คิง (Musang King) ราคาขึ้นสูงถึงกิโลละพันบาท ซึ่งเป็นราคาแบบที่ชั่งกันทั้งลูก ไม่ใช่ราคาแบบที่แกะเนื้อขาย และที่นำออกมาวางขาย ก็ใช่ว่าจะมีจำนวนเยอะ จนพ่อค้าสามารถเล่นตัว ไม่รับการต่อรองราคาใดๆ จากลูกค้าเลย

รัฐเปรัคเป็นรัฐที่มีการผลิตทุเรียนรุ่นกลางปีออกมาขายมากและเป็นที่รู้จักกันดี ฤดูกาลที่ทุเรียนจากรัฐเปรัคจะให้ผลผลิตออกมาวางขายตามท้องตลาดคือ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงต้นเดือนกันยายน ส่วนในช่วงเดือนธันวาคมต่อไปจนถึงมกราคม จะเป็นผลผลิตที่มาจากสวนทางพื้นที่ตอนใต้ของแหลมมลายูอย่างรัฐยะโฮร์

 

เหตุที่จำนวนของทุเรียนลดน้อยถอยลงไปอย่างผิดหูผิดตามในปีนี้ มีสาเหตุหลักๆ อยู่สองอย่าง โดยประการแรก เป็นเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนไป ทุเรียนในพื้นที่ตอนกลางของประเทศมาเลเซีย จะออกดอกในช่วงต้นปี แถวๆ ตรุษจีน และเมื่อดอกออกแล้ว ก็จะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์กว่าจะติดลูก ปีนี้ มีฝนตกชุกในช่วงก่อนและหลังตรุษจีนซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ทำให้ดอกทุเรียนถูกฝนชะ หล่นร่วงจากต้นไปเป็นจำนวนมาก ส่วนดอกที่ยังพอเหลืออยู่ติดต้น โดยเฉลี่ย จะโตมาเป็นผลทุเรียนได้แค่ 25 เปอร์เซนต์ จึงทำให้จำนวนทุเรียนที่ควรจะถึงมือลูกค้ายิ่งน้อยลงไปอีก ใครว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไม่มีจริง และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ก็ตาม ทาสทุเรียนทั้งหลายประจักษ์แก่ใจ ชัดเจนในปีนี้

ส่วนประการที่สอง ความต้องการลิ้มรสทุเรียนไม่ได้หยุดอยู่แค่ในมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ว่าเดินทางไกลไปถึงประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อแบบเจ้าบุญทุ่มและเต็มใจซื้อในราคาที่สูงกว่าที่คนท้องถิ่นจะเต็มใจจ่ายด้วยค่าเงินที่แข็งกว่า โดยข่าวแจ้งว่า ราคาทุเรียนมูซังคิงที่ขายในเมืองจีนมีราคาสูงถึงกิโลละ 5 พันบาท ในขณะที่ในมาเลเซียวางขายที่กิโลละ 1 พันบาท จนเป็นข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวอื่นไปหลายวัน เพราะปกติขายอยู่กิโลละราวๆ 300 – 400 บาท ซึ่งผู้เขียนก็ทำใจไม่ซื้อ และได้แต่แอบคิดถึงทุเรียนชะนีเมืองไทย

ในเมื่อทุเรียนออกผลมาน้อย ชาวสวน ผู้ที่มีรายได้แค่ปีละหนจากสวนทุเรียน ก็ย่อมเลือกที่จะขายด้วยการส่งออก เพราะได้ราคาสูงกว่าการส่งขายภายในประเทศมาก โดยเฉพาะทุเรียนเกรดเอ ส่วนที่เหลือตกเกรดส่งออก ก็ส่งขายภายในประเทศ ซึ่งได้ข่าวว่าสวนทุเรียนเมืองไทยเองก็ถูกเหมาโดยล้งจีนเข้ามาซื้อทุเรียนถึงหน้าสวน แล้วส่งแบบไม่ต้องเสียภาษีส่งออก จ่ายค่าผ่านแดนผ่านไปทางเวียดนามเข้าสู่ประเทศจีนไปอย่างสะดวกดาย ที่วางขายในประเทศไทย ก็เป็นทุเรียนตกเกรดเช่นกัน

 

ผู้เขียนเองได้แต่นึกแบบจับแพะมาชนแกะว่า นี่ถ้าทางรถไฟสายคุนหมิงที่เล่าไปในบทความที่แล้วนั้น สำเร็จลุล่วงเมื่อไหร่ก็ตาม ก็จะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางของสินค้าต่างๆ ทำให้มีออเดอร์แบบสั่งวันนี้ กินได้วันพรุ่งนี้เกิดขึ้นแน่ๆ และทุเรียนจากมาเลเซียและไทยก็คงจะนั่งโบกี้ขนส่งไปตามเมืองต่างๆ ของจีนได้อย่างง่ายดาย งานนี้คนมาเลเซียและคนไทยที่ชอบกินทุเรียนคงตรอมใจกว่านี้มาก

เมื่อความเติบโตทางทางเศรษฐกิจมีพื้นฐานมาจากการค้าขายแบบยึดตลาดเช่นนี้ ในระยะสั้น ผู้คนอาจจะยังไม่รู้สึกอะไร เพราะคิดไปว่าปีนี้ราคาแพง เพราะฝนฟ้าไม่เป็นใจ รอไว้กินปีหน้าก็ได้ เพราะเท่าที่ผ่านมาก็จะเหมาโทษรวมๆ ว่าเพราะลานีญา (La Nina) เข้ามามีอิทธิพลทำให้ฝนชุก ผลไม้ติดลูกน้อย เดี๋ยวปีตต่อไปกจะมีเอลนินโญ่  (El Nino) เกิดขึ้น ฝนน้อย ทุเรียนก็จะติดลูกกันสะพรั่ง ทำให้ทุเรียนล้นตลาดราคาถูก จนสามารถกินกันจนอ้วนดีมีความสุขกันถ้วนหน้า (แม้ว่าปีนั้นจะขาดแคลนน้ำใช้ไปด้วยก็ไม่เป็นไร)

ส่วนผลระยะยาว ก็ขึ้นอยู่กับว่าสัญญาการค้าระหว่างชาวสวนกับพ่อค้าจากเมืองจีนนั้น มีข้อผูกมัดกันมากแค่ไหน หากสัญญารัดตัวถึงขนาดว่าต้องส่งออกจนเหลือขายภายในประเทศน้อยนิด กลไกการปั่นราคาก็จะเกิดตามมา เพราะอุปทานที่จะป้อนเข้ามือผู้ซื้อนั้นมีไม่มาก แต่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด

แม้ว่าจะไม่นับทุเรียนว่าเป็นหนึ่งในผลิตผลการเกษตรที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนมาเลเซียและคนไทย เหมือนอย่างข้าวและพืชผักอื่นๆ แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หากเราโดนฮุบผลผลิตจนทำให้มีกลายเป็นผลไม้ที่มีราคาแพงและหาได้ยากขนาดนี้ ก็อาจจะก่อให้เกิดความสั่นคลอนทางจิตใจของคนในประเทศด้วย บางคน (แถวๆ นี้) ขาดทุเรียนแล้วทำเหมือนใจจะขาด อาการสาหัสพอๆ กับแฟนบอกเลิกเลยทีเดียว

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share