in on December 22, 2016

อยู่อย่างเมืองท่องเที่ยว

read |

Views

ไม่รู้ว่าผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนผู้เขียนหรือเปล่า ว่าเราอยู่และเติบโตท่ามกลางเมืองท่องเที่ยวและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้เมืองไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ตามแต่จะจำแนกประเภท บางช่วง บางเวลาด้วยเหมือนกัน บางครั้ง อันดับความนิยมของเมืองไทยอาจจะหล่นๆ ลงมาบ้าง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทั่วโลกรู้จักเมืองไทยมากพอสมควร ผู้เขียนเองมีโอกาสได้พบปะคนต่างชาติเสมอๆ (ไม่นับคนมาเลเซียที่ผู้เขียนมาทำตัวกลมกลืนด้วย) กว่า 95 เปอร์เซนต์ เคยมาเมืองไทยแล้ว ที่เหลือก็ไม่เคยมีใครบอกว่าไม่รู้จักเมืองไทย

การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนรู้จักมากมายขนาดนี้ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เราก้าวไปถึงระดับนั้นได้ ทั้งด้านทำเลที่ตั้งอันห่างไกลจากภัยธรรมชาติหนักๆ อย่างภูเขาไฟ หรือลมไต้ฝุ่น ส่วนภูมิประเทศก็หลากหลาย สวยงามตั้งแต่ภูเขา นาข้าว เรื่อยไปจนจรดทะเล อีกทั้งศิลปะวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกลงไปกว่าเจ็ดร้อยปี ตระหง่านเคียงข้างกับแหล่งช้อปปิ้งตั้งแต่เช้าจนเย็นย่ำค่ำมืด จะริมถนน บนห้างสรรพสินค้า เรื่อยไปจนถึงสะพานลอย นับได้ว่าถูกใจขาเที่ยวทุกประเภท

 

แน่นอน คนไทยย่อมเป็นองค์ประกอบหลักของการเป็นเมืองท่องเที่ยวอันโด่งดัง การมี “ยิ้มสยาม” ที่คล้ายจะติดตัวเรามาจากรุ่นสู่รุ่น จะหนักหนาอย่างไรก็ยิ้มไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นยิ้มสู้ ยิ้มอำพราง ยิ้มกรุ้มกริ่ม ยิ้มเย้ายวน หรือจะยิ้มรูปแบบใดก็ตาม ก็ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา ข้อมูลจากเวปไซต์กรมการท่องเที่ยวแสดงให้เห็นว่า ในปีพ.ศ. 2558 รายได้จากนักท่องเที่ยวกว่า 29 ล้านคน คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1.4 ล้าน ล้านบาท ซึ่งกระจายไปสู่ธุรกิจและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งโดยตรงและทางอ้อม เช่น ที่พัก บริการอาหาร บริการขนส่ง และร้านค้าปลีกย่อยที่เป็นจุดช้อปปิ้ง ดูคล้ายๆ กับว่า ยิ่งมีนักท่องเที่ยวมาก ยิ่งดี

ความตื่นเต้นแก่ธุรกิจการท่องเที่ยวกำลังจะทวีขึ้นในปีหน้า เพราะทางองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหภาพประชาชาติ (UNWTO) ได้ประกาศให้ปี 2560 เป็น ปีสากลแห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนา (International Year of Sustainable Tourism for Development) โดยมีแนวคิดหลักในเรื่อง “การท่องเที่ยวเพื่อสันติภาพและการพัฒนา” ซึ่งยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวพ.ศ. 2558 – 2560 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ดูเหมือนจะได้วิเคราะห์สถานการณ์การท่องเที่ยวไว้แล้ว และมีแผนที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวของโลก ทั้งในด้านการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าและบริการ และการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

ย้อนกลับไปอ่านสองบรรทัดสุดท้ายอีกครั้ง… ส่งเสริมการตลาด พัฒนาสินค้า บริหารจัดการ… ผู้เขียนคิดว่าทั้งสามส่วนนี้ ไม่น่าจะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้โดยองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหภาพประชาชาติได้มากนัก ฝ่ายธุรกิจและผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ อาจจะได้รับข่าวสารหรือคำสั่งโดยตรง แต่ผู้ที่เป็นเจ้าภาพร่วมอีกค่อนประเทศ อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรจะทำอย่าไร และที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” มักจะถูกตีความในทิศทางที่แตกต่างกับความหมายมาโดยตลอด

ยกตัวอย่างเรื่องสำคัญ เรื่องกิน โดยเนื้อแท้ เมืองไทยมีความสามารถและศักยภาพในการอยู่ได้ด้วยตนเองสูงมาก ลองคิดเล่นๆ ดูว่า หากแต่ละประเทศ ถูกตัดขาดจากกันและกันโดยสิ้นเชิงเป็นเวลาซัก 10 ปี (หมายเหตุ แนวคิดนี้ ไม่เกี่ยวกับกำแพงของเฮียทรัมป์นะ) พวกเราจะไม่ตกอยู่ในข่ายขาดแคลนข้าว ผัก ผลไม้ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหาร เพราะประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีพื้นที่ในการเกษตรเพียงพอต่อการเลี้ยงดูคนในประเทศ และเลยไกลไปถึงคนในภูมิภาคด้วย

แต่ที่ไม่ทันได้นึกคือ เรากำลังขาดเกษตรกรรุ่นใหม่ เมื่อตอนต้นทศวรรษ ราวๆ พ.ศ. 2500 คนไทยกว่า 75 เปอร์เซนต์เป็นเกษตรกร ห้าสิบปีผ่านไป เรามีเกษตรกรน้อยกว่า 40 เปอร์เซนต์ ผลิตอาหารมาเลี้ยงดูคนทั้งประเทศ และรวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศอีก 29 ล้านกว่าคนต่อปี อีกนานแค่ไหนที่การบริโภคจะเลยหน้าการผลิต

ส่วนพฤติกรรมการรับประทานของนักท่องเที่ยวก็ไม่เหมือนกับการทานตามปกติ เพราะผู้ที่จัดการต้อนรับนักท่องเที่ยวต้องเสาะหาอาหารนานาชนิดมาเลี้ยงดู จะด้วยรูปแบบบุฟเฟต์ โต๊ะจีน หรืออาหารตามสั่งก็ตาม มักจะออกมาในรูปแบบ “มากมายก่ายกอง” ทั้งตอนเสริฟและตอนที่เหลือทิ้ง

คิดเท่านี้ ความฝันจะไปให้ถึงการเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก็ดูจะเลือนราง ลำพังจัดการขยะของเรากันเองก็ยังจะไปไม่รอด งานไหน งานนั้น ขยะก่ายกองทิ้งไว้ให้รู้ว่างานที่เพิ่งจบไปนั้นใหญ่จริงใหญ่จัง แล้วคราวนี้ จะต้องดูแลขยะที่เกิดจากธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย

จะไปให้ถึงเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนได้ ต้องมีระบบจัดการขยะทั่วถึง ป้ายสื่อสารต้องชัดเจน และที่สำคัญ ต้องคิดรูปแบบการท่องเที่ยวแบบลดขยะให้ได้ก่อน

ไม่อย่างนั้น เราอาจได้ “อยู่อย่างเมืองขยะ” ในเร็วๆ นี้

ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share