เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งเก็บตัวอย่างเนื้อปลาแซลมอนในร้านอาหารญี่ปุ่นที่เห็นว่ามีสีแดงชมพูสดผิดปกติไปตรวจในห้องแลบด้วยการแช่น้ำไม่กี่นาทีพบว่าเนื้อปลากลายเป็นสีซีดขาวจึงสรุปว่าเนื้อปลาถูกย้อมสี ขณะที่นักวิทยาศาสตร์นักพิสูจน์อีกท่านโพสต์ข้อความว่าสีแดงที่ละลายออกมาไม่น่าจะใช่สีย้อม แต่เป็นสารโปรตีนธรรมชาติในเนื้อปลาที่เรียกว่ามายโอโกลบิน
(ดูเพิ่มเติมที่นี่ http://www.posttoday.com/social/hot/433936)
ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องที่ใหญ่กว่าเนื้อปลาแซลมอนย้อมสีหรือไม่คือการมองลึกไปอีกนิดว่าปลาแซลมอนเหล่านี้มาจากไหน และขอบอกว่าเรื่องแซลมอนย้อมสีจะกลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปเลยทีเดียว หากรู้ว่าแซลมอนที่เรากินอยู่ถูกเลี้ยงมาแบบไหน และในอนาคตอันใกล้อุตสาหกรรมแซลมอนของโลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางใด
แซลมอนถูกยกระดับให้เป็นปลาในดวงใจของคนไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ผู้เขียนเดาว่าความนิยมแซลมอนน่าจะมาจากสองเหตุผลหลักคือ หนึ่งความนิยมอาหารญี่ปุ่น และสองแซลมอนได้ชื่อว่ามีไขมันโอเมก้า 3 ในระดับสูง ซึ่งเป็นไขมันดีที่ทำหน้าที่ปกป้องและฟื้นฟูเซลที่สึกหรอ โดยเฉพาะเซลสมอง มีการเชื่อมโยงว่ากินปลาแซลมอนแล้วฉลาด สมองไม่เสื่อม
จะว่าไปความนิยมแซลมอนเป็นกระแสโลกมาหลายปีแล้ว และกำลังได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศเศรษฐกิจใหม่ในเอเชีย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าแซลมอนกินส่วนแบ่งสินค้าประมงถึง 14 % และถือเป็นปลาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการทำซูชิในเอเชีย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าเมื่อปีที่แล้ว (คศ.2015) ยอดส่งออกการส่งเนื้อปลาแซลมอนสดจากนอรเวย์ไปยังยุโรปเติบโตกว่าปีที่ก่อนหน้า 18 % เฉพาะอังกฤษ สเปน และโปรตุเกสนำเข้าแซลมอนเพิ่มขึ้น 30 %
คนที่นิยมดูสารคดีชีวิตสัตว์ป่าอาจจะเคยเห็นภาพแม่แซลมอนดั้นด้นว่ายทวนน้ำจากท้องทะเลไปวางไข่ในแม่น้ำ เมื่อวางไข่แล้วตายไปตามวงจรชีวิต เนื้อแซลมอนเหล่านี้จึงมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและอุดมไปด้วยไขมันชั้นเลิศอย่างโอเมก้า 3 แต่คุณรู้หรือไม่ว่าทั่วโลกมีการค้าขายปลาแซลมอนที่เติบโตในธรรมชาติเพียงน้อยนิด เคยมีผู้คำนวณว่าคิดเป็นเพียง 0.5 % แซลมอนในท้องตลาดเท่านั้น แซลมอนที่เรากินกันทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาที่เลี้ยงในฟาร์มขนาดใหญ่ แรกเริ่มเดิมที่มีการเลี้ยงแซลมอนบริเวณชายฝั่งประเทศในเขตเหนือเส้นศูนย์สูตรซึ่งอากาศหนาวเย็น นอรเวย์เป็นประเทศแรกที่ค้นพบวิธีเลี้ยงแซลมอนในช่วงปี 1960 และเริ่มส่งออกช่วงปี 1980 ส่วนแคนาดาและชิลีเริ่มเลียนแบบในช่วงปี 1990 ต่อมาประเทศชิลีผลักดันจนทำให้แซลมอนกลายเป็นสินค้าออกอันดับสองของประเทศ ปัจจุบันประเทศที่ทำฟาร์มแซลมอน คือนอรเวย์ ชิลี แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
อาจมีคำถามว่ากินแซลมอนเลี้ยงแล้วเป็นไง ต่างจากการเลี้ยงกุ้งหรือปลาทับทิบในบ้านเราอย่างไรรึ คำตอบคือแซลมอนเหล่านี้ถูกเลี้ยงแบบระบบเปิดในกรงตาข่ายขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าว คล้ายกับการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำในบ้านเรา แต่ขนาดใหญ่กว่าเกินกว่าจะเปรียบเทียบ กรงๆ หนึ่งสามารถใส่ปลาได้เป็นแสนๆ ตัว เคยมีการเปิดเผยว่าบ่อแซลมอนใหญ่ๆ สามารถใส่ปลาแซลมอนลงไปได้ถึง 1.4 ล้านตัวเลยทีเดียว สิ่งที่มักเกิดขึ้นกับการทำฟาร์มปลาอย่างเข้มข้นคือการใช้ยา ศัตรูตัวร้ายในบ่อปลาแบบเปิดคือเหาทะเลที่มักจะเกาะและกัดจนปลาเป็นแผลและทำให้ปลาติดเชื้อ การติดเชื้อนำมาสู่การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาล
การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มแซลมอนเป็นเรื่องใหญ่มานับสิบปีแล้วและดูเหมือนสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว (23 กรกฎาคม 2558) สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์ว่าประเทศชิลีมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคเรียในปลาแซลมอนจนทำให้สหรัฐอเมริกายกเลิกการนำเข้า ทั้งนี้เฉพาะปี 2014 อุตสาหกรรมแซลมอนของชิลีผลิตแซลมอนได้ 895,000 ตัน และใช้ยาปฏิชีวนะถึง 563,200 กิโลกรัม มีเพิ่มจากปี 2013 ถึง 25 เปอร์เซนต์ และ SalmonChile เปิดเผยว่าในปี 2014 ชิลีส่งออกแซลมอนมูลค่า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 24 เปอร์เซนต์ โดยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพียง 8.5 % (ดูเพิ่มเติมที่ http://reut.rs/2a8KhK3)…คุณคิดว่าปลาแซลมอนที่ถูกห้ามนำเข้าสหรัฐอเมริกาและแซลมอนที่เหลืออีกกว่า 90 % ถูกส่งไปที่ใด?
นอกเหนือจากการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาล และสารพิษตกค้างอันเนื่องมาจากเศษอาหารและยาที่พื้นทะเลใต้บริเวณกรงเลี้ยงและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ สิ่งที่นักชีววิทยากำลังกังวลคือกรณีปลาเลี้ยงหลุดจากตาข่ายออกไปผสมพันธุ์กับแซลมอนในธรรมชาติ ทำให้แซลมอนธรรมชาติสูญเสียความแข็งแรงทางพันธุกรรมซึ่งนำไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด
แต่นั่นก็เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากผู้บริโภคคนละฝั่งโลกอย่างเรา ทว่าข่าวล่าสุดที่ส่งผลถึงตัวคนกินแซลมอนโดยตรงและน่าจะทำให้คนรักแซลมอนรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ก็คือขณะนี้แซลมอนคือสัตว์จีเอ็มโอชนิดแรกของโลกที่ถูกส่งมาสู่จานอาหารของมนุษย์ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2558 ว่าการบริโภคแซลมอนจีเอ็มโอปลอดภัย
ผู้พัฒนาบอกว่าแซลมอนจีเอ็มโอที่ชื่อ AquAdvantage บอกว่าแซลมอนจีเอ็มโอเกิดจากการนำยีนของแซลมอนสายพันธุ์แอตแลนติกมาผสมกับยีนเจริญเติบโตของแซลมอนสายพันธุ์แปซิฟิกชื่อชินุก และยีนของปลาชนิดอื่น ทำให้แซลมอนจีเอ็มโอโตเร็วกว่าแซลมอนในฟาร์มหนึ่งเท่าตัว โดยใช้เวลาแค่ 16-18 เดือน ก็สามารถจับขายได้ แทนที่จะเป็น 3 ปีดังที่เคยเป็นมา
ใกล้เข้ามาทุกขณะ เมื่อ 19 พฤษภาคม 2559 องค์กรด้านสาธารณสุขของประเทศแคนาดาก็ออกมารับรองว่าปลาแซลมอนจีเอ็มโอปลอดภัยสำหรับการบริโภค โดยทางการบอกว่าไม่จำเป็นต้องติดฉลากระบุว่าเป็นปลาแซลมอนจีเอ็มโอเพราะระหว่างการทดสอบไม่พบปัญหาเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย…เป็นเหตุผลเดียวกับอาหารจีเอ็มโอชนิดอื่นๆ (http://bit.ly/2a3Tu4R)
เมื่อสองยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจของโลกออกมาประสานความร่วมมือกันเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าแซลมอนจีเอ็มโอซึ่งเป็นสัตว์จีเอ็มโอชนิดแรกที่ได้รับอนุมัติว่าปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์จะเดินทางมาถึงจานอาหารของผู้นิยมแซลมอนทั่วโลกในไม่ช้า ข้อมูลล่าสุดขณะนี้แซลมอนจีเอ็มโอถูกเลี้ยงในฟาร์มระบบปิดบนพื้นดินที่แคนาดาและปานามา
ผู้เขียนขอทำหน้าที่ไล่เลียงเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกี่ยวกับแซลมอนเพื่อฉายภาพว่าแซลมอนที่เรากินทุกวันนี้เดินทางมาจากไหนและมีอะไรซ่อนอยู่ในเนื้อแซลมอนสีชมพูสวยๆ ที่เหลือก็เป็นเรื่องที่ผู้อ่านต้องตัดสินใจว่าจะควักเงินกินแซลมอนต่อไปหรือไม่