เขาหลวงไม่อาจดำรงความยิ่งใหญ่อยู่ได้ หากขนาดหัวใจของคนเดินป่าไม่ใหญ่พอ
เขาหลวง นครศรีธรรมราชได้รับสมญาว่าหลังคาแดนใต้เพราะมียอดเขาสูงสุดในภาคใต้ 1,835 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเรียกได้ว่าเขาหลวงคือแหล่งกำเนิดสรรพชีวิตของภาคใต้ เพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงชันตั้งขวางกึ่งกลางแผ่นดินด้ามขวานรอรับมรสุมจากทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันก่อให้เกิดป่าดงดิบชื้นหนาทึบ มีกล้วยไม้กว่า 300 ชนิด สัตว์ป่าอีกกว่า 300 ชนิด และเป็นต้นธารของลำธารและลำคลอง 15 สายซึ่งความสมบูรณ์พืชพรรณและความสูงชันของภูเขาทำให้ที่นี่กลายเป็นหนึ่งในแหล่งเดินป่าที่นักเดินป่าอยากมาพิชิตและเรียนรู้ความยากลำบากสักครั้งในชีวิต
แน่นอนว่าหากปราศจากการรบกวนของมนุษย์และไม่ถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติร้ายแรง เช่น ไฟป่าหรือน้ำป่าครั้งใหญ่ ธรรมชาติย่อมฟื้นฟูตัวเองได้ภายในเวลาไม่นานนัก ผู้เขียนไปเดินป่าเขาหลวงช่วงต้นเดือนเมษายนที่ฝนไม่ตกมาหลายเดือนแล้ว แต่ช่วงสองวันสุดท้ายของการเดินห้าวันฝนกลับตกลงมา สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังฝนตกคือนอกจากเหล่าทากจะชูคอสลอนต้อนรับผู้มาเยือน ทั้งมอสและเฟิร์นสีเขียวหม่นและแห้งเหี่ยวก็แปรเปลี่ยนเป็นสีเขียวสดชั่วข้ามคืน ส่วนพื้นดินก็ชุ่มฉ่ำร่วนซุยชนิดที่ทำให้นักเดินป่ามืออาชีพเสียท่าและเสียหน้าลื่นล้มหลายราย
ทว่าเขาหลวงมิได้ยืนหยัดอยู่ตามลำพัง ทั้งคนนำทางและเจ้าหน้าที่อุทยานพูดตรงกันว่าเขาหลวงฝั่งยอดเขาและน้ำตกพรหมโลกยังไม่ถูกรุกรานทำลายมากนักจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อขยายพื้นที่เกษตรหรือการท่องเที่ยว ตรงกันข้ามกับเขาหลวงฝั่งคีรีวงที่เมื่อต้นปีมีข่าวคนบุกรุกถากถางที่ดินขนาดกว้างนับร้อยไร่ อย่างไรก็ดีแม้ไม่มีคนตัดไม้หรือคนล่าสัตว์ก็ยังมีคนเข้าไปใช้ประโยชน์จากเขาหลวงอยู่ดี คนกลุ่มหลักก็คือนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินป่าหรือเรียกว่านักเดินป่า ซึ่งจะไปเดินเขาหลวงได้ก็ต่อเมื่อมีคนนำทางที่ชำนาญพื้นที่
ยังดีที่มีกลุ่มคนนำทางที่รักและตระหนักถึงคุณค่าของเขาหลวงอยู่ไม่น้อย หนึ่งในกลุ่มคนนำทางที่ผู้เขียนใช้บริการคือกลุ่มมนุษยชาติรักเขาหลวง นำโดยบ่าว พรหมโลก ชายวัยห้าสิบต้นๆ ที่เดินป่าเขาหลวงมากว่าสามสิบปี ผู้เขียนรู้จักชื่อเสียงของเขาก่อนพบตัวจริงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ในฐานะตัวตั้งตัวตีจัดงาน “เกลอเขา เกลอเล” ที่บริเวณวังปลาแงะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาชักชวนเพื่อนศิลปินเพื่อชีวิตของภาคใต้มาเล่นดนตรี หนังตะลุง และอ่านบทกวีเพื่อให้คนพรหมโลกซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรับน้ำจากเขาหลวงตระหนักถึงขุมทรัพย์ที่ได้รับจากเขาหลวง อันเป็นที่มาของสโลแกน “พรหมโลก น้ำใสกริบ” และชวนให้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของคนต้นน้ำที่จะส่งผลเป็นลูกโซ่ถึงคนปลายน้ำลงสู่ท้องทะเล
บ่าวพรหมโลกเป็นคนท้องถิ่นที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายหลังการไปเรียนต่อเมืองกรุงเขากลับมาบ้านเกิดเป็นครูเป็นช่างรับเหมาระบบไฟฟ้าเป็นคนทำสวนทุเรียนที่ไม่ใช้สารเคมีเป็นคนทำรีสอร์ทที่เกาะพีพีเกือบสิบปีและสุดท้ายกลับมาเป็นชาวสวนและคนนำทางแห่งเขาหลวงที่อำเภอพรหมคีรี
อาชีพที่พบปะผู้คนที่หลากหลายและการคลุกคลีกับธรรมชาติในเขาหลวงมาอย่างยาวนาน พบเห็นฤดูกาลและวงจรธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านและสั่งสมความสมบูรณ์ให้แก่เขาหลวงมานับไม่ถ้วน ทำให้เขาพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าคนที่เข้าใจแก่นแท้ของธรรมชาติจะเข้าใจสรรพสิ่ง และจะไม่มีการทำลายล้างเกิดขึ้น ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือประชาชนธรรมดา
ด้วยเหตุนี้ทีมคนนำทางของเขา ซึ่งประกอบด้วยคนหนุ่มที่รู้จักเส้นทางและพรรณไม้บนเขาหลวงเป็นอย่างดีจึงมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะนำทางโดยไม่ทำร้ายเขาหลวง เช่น ไม่เก็บต้นไม้ดอกไม้หายากกลับบ้าน ใช้ไม้ที่ตายแล้วเป็นฟืนหุงต้ม ไม่ทิ้งขยะและสิ่งแปลกปลอมใดๆ ไว้บนเขา ขยะใดที่เผาได้ก็จะเผาและนั่งดูจนกว่าขยะชิ้นสุดท้ายจะมอดไหม้ในกองเพลิงที่จะถูกดับก่อนออกเดินทางต่อไป แม้แต่การขับถ่าย หากเป็นการถ่ายหนักก็ควรขุดหลุดฝังกลบเพื่อไม่ให้เป็นสิ่งแปลกปลอมต่อสัตว์ป่า และไม่ขับถ่ายบริเวณทางน้ำหรือในลำน้ำเพราะที่นี่คือแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของคนพื้นราบ
สิ่งที่พิสูจน์คุณภาพของคนนำทางแห่งเขาหลวงคณะนี้และคนนำทางคณะอื่นที่ใช้เส้นทางนี้คือตลอดเส้นทางเดินห้าวันสี่คืนจากน้ำตกอ้ายเขียวสู่ยอดพรหมโลกและวนกลับลงมาบริเวณน้ำตกพรหมโลกเราแทบไม่พบขวดถุงพลาสติกหรือขยะใดๆเลย
ทว่าคนนำทางมีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวยังไม่พอ กลุ่มคนที่เข้าไปเยี่ยมเยียนเขาหลวงปริมาณมากกว่าคนนำทางคือนักเดินป่านั่นเอง นักเดินป่าแต่ละคนไปเขาหลวงด้วยความปรารถนาที่หลากหลาย บ้างเพื่อพิชิตยอดเขาที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในภาคใต้ บ้างเพื่อพิชิตกายและใจตัวเอง บ้างไปเพื่อชื่นชมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เช่น ไปดูกล้วยไม้หายากหรือป่าดึกดำบรรพ์ หรือดูนกเฉพาะถิ่นบางตัว บ้างไปเพื่อเก็บภาพธรรมชาติหรือภาพตัวเองกับธรรมชาติมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย บ้างไปเพื่อเลิก(กลัว)ทาก เพราะที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทากชุกชุมตลอดปี
แน่นอนว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักสมปราถนาบ้างได้เป็นผู้พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้บ้างได้รู้ศักยภาพร่างกายและเรียนรู้ใจตัวเองบ้างได้พบเห็นธรรมชาติที่สวยและสมบูรณ์จนแทบลืมหายใจและบ้างมีภาพสวยๆอวดเพื่อนๆแบบวันต่อวันเพราะบนเขามีสัญญาณอินเตอร์เนตเป็นช่วงๆบ้างโดนทากหลายตัวดูดเลือดจนเลิกกลัวทากไปเลย
ผู้เขียนเชื่อว่าน้อยคนนักจะผิดหวังจาการแบกเป้ปีนเขาหลวง ไม่ว่าจะเดินกี่วันกี่คืนก็มักมีประสบการณ์และเรื่องเล่าที่ยากจะลืมเลือน และเรื่องยากจะลืมเลือนที่ผู้เขียนพบเจอก็คือการวิ่งหนีน้ำป่าขณะอาบน้ำในลำธารซึ่งไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งบอกมาก่อนว่าในวันที่อากาศดีท้องฟ้าแจ่มใสฝนไม่ตกน้ำป่าจะมาเยือน กรณีนี้คนนำทางบอกว่าน้ำป่ามาจาก “ฝนเขาใน” นั่นคือฝนที่ตกบนเขาด้านบนเทือกเขานั่นเอง
คงไม่ต่างจากภาพใหญ่ของสังคมที่คนที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมักเป็นคนส่วนน้อย น่าเสียดายที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิถีการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก จากประสบการณ์นำทางนับสิบปีของบ่าว พรหมโลก เขาบอกว่าในจำนวนคนเดินป่ายี่สิบคณะ จะมีสักหนึ่งหรือสองคณะเท่านั้นที่เข้าใจ ให้ความร่วมมือ และเคารพกติกาของคนนำทาง และสิ่งที่คนนำทางอย่างเขาสามารถทำได้ก็คือการ “ตามเก็บ” ขยะและสิ่งแปลกปลอมที่คนเดินป่าทิ้งไว้เพื่อให้เขาหลวงสะอาดและสมบูรณ์อย่างที่ควรเป็น
ดังนั้นสิ่งที่นักเดินป่าควรฝึกฝนก่อนไปเดินเขาหลวงก็คือการฝึกขนาดหัวใจให้ใหญ่ขึ้น ทั้งในเชิงรูปธรรมคือการออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อมัดต่างๆ รวมถึงปอดและกล้ามเนื้อหัวใจ และในเชิงนามธรรมคือการหมั่นตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ จากนั้นก็ตั้งปณิธานว่าเราจะเดินป่าเพื่อชื่นชม เชื่อมโยง และเรียนรู้จากธรรมชาติ มิใช่ไปเพื่อทำลาย เมื่อขนาดหัวใจใหญ่พอแล้วก็ออกเดินทางไปเยือนเขาหลวงได้เลยค่ะ