in on January 16, 2017

เด็กเลี้ยงปล่อย

read |

Views

เราอาจคุ้นเคยกับคำว่าไก่เลี้ยงปล่อย (free range hen) มันมีสภาพตรงข้ามกับไก่ที่ถูกเลี้ยงในกรงขนาดยักษ์ในโรงงานที่ถูกกำหนดสภาวะแวดล้อมทั้งแสง อุณหภูมิ ยา และอาหารอย่างเคร่งครัด ผลก็คือไก่อยู่ในสภาพเครียดป่วยง่าย ไม่สามารถออกมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอกได้

เด็กก็เช่นกัน ทุกวันนี้เด็กๆ ส่วนใหญ่มีสภาพไม่ต่างอะไรกับไก่ที่ถูกเลี้ยงในโรงงาน หากมองในมิติที่เด็กๆ ถูกกำหนดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่เชื่อว่าสะอาดสะดวกและปลอดภัย นั่นคือโรงเรียน บ้าน และโรงเรียนสอนพิเศษ ถ้าหากมีเวลาว่างๆ เด็กๆ จะก้มหน้าอยู่กับหน้าจอมือถือแทบจะไม่มีโอกาสออกไปสัมผัสกับธรรมชาติเลย พวกเขาจึงแทบไม่รู้จักชื่อหรือที่มาของพืชผัก ผลไม้ที่กินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

คำว่า “เลี้ยงปล่อย” ในที่นี่ไม่ใช่หมายถึง “ทิ้งขว้าง” หากแต่การเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับธรรมชาติที่แท้จริงอย่างต้นไม้หรือดินทรายบ้างแต่ก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ เพราะธรรมชาติจะช่วยให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการสมวัย

ฟรานเซส หมิง เกา (Frances Ming Kuo) นักวิจัยที่รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับผลเชิงบวกของธรรมชาติที่มีต่อสุขภาพกาย จิต และสังคมของเด็กๆ บอกว่ามีงานวิจัยมากมายพูดถึงคุณประโยชน์ของการสัมผัสสีเขียวไม่ว่าจะเป็นสวนธารณะ ป่าไม้ หรือสวนผักผลไม้  ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงธรรมชาติมักมีปัญหาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตย่ำแย่กว่า เธอจึงกล่าวว่าวิตามินจี (g) หรือวิตามินกรีน (green) คือสิ่งจำเป็นที่จะต้องกินบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ

จากประสบการณ์ตรงการโตมากับป่าและชนบททำให้ผู้เขียนมีเพื่อนเล่นเยอะ ทั้งเพื่อนที่เป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ และเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์ ผลคือเราไม่เคยกลัวสัตว์น้อยใหญ่ที่เพื่อนๆ เด็กเมืองกลัวจนร้องกรี้ดหรือวิ่งหนีอย่างไร้สติ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กแก จิ้งเหลน กบ เขียด คางคก เหี้ย หรืองู

กานต์ รัตนจุล นักวาดภาพธรรมชาติและคุณพ่อของเด็กชายฝาแฝดสองคนซึ่งถูกเลี้ยงดูแบบเด็กโฮมสคูลบอกว่า “พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ กลัวสัตว์แปลกๆ” เขาเคยได้ยินคนข้างบ้านขู่ลูกว่าถ้าดื้อจะให้จิ้งจกมาจับ ผลก็คือเด็กคนนั้นจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่กลัวจิ้งจก สัตว์เล็กๆ ที่ไม่มีพิษมีภัยแต่ช่วยเรากำจัดแมลง  …คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่กลัวตุ๊กแกเพราะนิทานหลอกเด็กเรื่องตุ๊กแกเจ้าอาฆาตตีนเหนียวหนึบ ชอบกระโดดเกาะคอมนุษย์จนต้องกินน้ำสาม ห้า หรือเจ็ดตุ่มมันจึงจะยอมปล่อย ผลก็คือเด็กกลัวตุ๊กแกไปจนแก่เฒ่า หากวิ่งหนีได้ก็จะหนี และหากทุบตีได้ก็จะทำ

“บ้านเราไม่ได้สอนให้เด็กกลัวสัตว์ เจอจิ้งจกตุ๊กแกหรืองูก็ก็เรียกให้ดู บอกว่าสัตว์ทุกอย่างเป็นเพื่อนกันหมดเลย ในป่าถ้าเจอเสือ เสือไม่กินเราหรอก เสือกลัวคน ถ้าเราไม่คิดร้าย ไม่มีใครทำร้ายเรา เวลานกบินไปบินมาก็เอาน้ำเอากล้วยให้นกกิน พวกมันก็จะมาหาเรา ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมดไม่รังแกกัน เวลาเข้าป่าเจอทากก็บอกว่าทากไม่มีผลร้าย แค่กินเลือดและคันๆ เวลามันเกาะเราก็เอาออก เขาก็จับมาดูแล้วปล่อยไป แต่พวกผู้ใหญ่กลัวทากกระโดดดึ๋งๆ” กานต์กล่าว

ในฐานะพ่อแม่ของเด็กโฮมสคูลที่มักพาลูกไปเรียนรู้ศึกษาและเข้ากลุ่มอยู่เสมอ กานต์บอกว่าเขาสังเกตพบว่าเด็กๆ ที่คลุกคลีและไม่หวาดกลัวธรรมชาติจะเป็นเด็กที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ดี กล้าแสดงออก ร่าเริงแจ่มใส ไม่กลัวเลอะ กล้าลุย เวลาไปกางเต้นท์ร้อนๆ ก็อยู่ได้อย่างสนุกสนาน

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสฟังนายแพทย์รังสฤษดิ์ กาญจนวนิช หรือ “หมอหม่อง” คุณพ่อของเด็กหญิงน้ำดอกไม้วัยประถมที่ฝึกฝนให้ลูกสาวและเด็กๆ ที่โรงเรียนของลูกเรียนรู้ธรรมชาติผ่านการเดินป่าทำความรู้จักกับต้นไม้ใบหญ้าและสัตว์เล็กสัตว์น้อย การทำให้เด็กๆ เห็นความน่ารักและหน้าที่ที่มีต่อโลกของพืชและสัตว์เหล่านั้นทำให้เด็กๆ เห็นสัตว์ที่ผู้ใหญ่กลัวสุดหัวใจอย่างทากเป็นเพื่อนเล่น พออยู่ที่บ้านหมอหม่องก็ยังสอนให้เด็กๆ ดึงธรรมชาติมาหาตัวเองด้วยการปลูกดอกไม้เรียกผีเสื้อหรือทำอ่างน้ำให้นกดื่มกินและเล่นสนุก

เรื่องราวคุณพ่อทั้งสองคนข้างต้น ชวนให้นึกว่าหากเรามีคุณพ่อคุณแม่ที่มีสัมพันธ์ที่ดีกับธรรมชาติเยอะๆ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายบ้านเมือง สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างตัวเหี้ยก็คงไม่ถูกฆ่าหรือโยกย้ายถิ่นที่อยู่เพียงเพราะพวกเขามองว่ามันหน้าตาน่าเกลียดและ “ดูอันตราย” ต่อมนุษย์ ทั้งๆ ที่มันเป็นสัตว์ที่ช่วยกำจัดซากเน่าเปื่อยเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศโดยไม่มีพิษภัยใดๆ เลย

อาจมีคำถามว่าการเลี้ยงเด็กให้รักธรรมชาติจะมีประโยชน์อะไร คำตอบน่าจะอยู่ที่ผลการศึกษาเมื่อสามปีที่แล้วขององค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ จากการเก็บข้อมูลเด็กๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวน 29 ประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กชาวดัทช์ในประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลก ส่วนเด็กๆ ในประเทศที่เราเชื่อกันว่าระบบการศึกษาและการดูแลเด็กดีที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกากลับติดอยู่อันดับท้ายๆ มีผู้อธิบายว่าเหตุที่เด็กชาวดัชน์มีความสุขที่สุดในโลกเพราะพวกเขาถูกเลี้ยงดูแบบปล่อย พวกเขาสามารถเดินเล่น ปั่นจักรยานหรือเล่นกีฬา แม้สภาพอากาศไม่เป็นใจเช่นฝนตก เด็กๆ จะถูกสอนให้หาเครื่องปกป้องตัวเองอย่างการสวมเสื้อกันฝนเสียมากกว่ายกเลิกการเล่น ซึ่งการเล่นกลางแจ้งจะทำให้เด็กๆ ใช้เวลารับมือกับสื่อในเชิงรับอย่างโซเชียลมีเดียน้อยลง ทำให้เด็กๆ มีความสุข

คำถามต่อมาคือ หากพ่อแม่ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเลยจะเลี้ยงดูลูกๆ อย่างไรให้รักธรรมชาติ
คำตอบคือขั้นตอนแรกห้ามขู่หรือหลอกให้เด็กกลัวโดยใช้สัตว์เป็นข้ออ้าง เช่น ถ้าดื้อเดี๋ยวตุ๊กแกจะมาเกาะ เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ทำให้เด็กไร้อคติและพร้อมจะเป็นมิตรกับเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์ และขั้นต่อไปคือการพาลูกไปสัมผัสธรรมชาติ ปัจจุบันมีกลุ่มที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเปิดให้เด็กๆ มาร่วมกิจกรรมมากมาย เช่น กิจกรรมของมูลนิธิโลกสีเขียว เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่ากิจกรรมเหล่านี้มักเป็นกิจกรรมที่ไม่มีค่าใช้จ่าย หากจะค่าใช้จ่ายก็เพียงแค่ค่าเดินทางหรือค่าอาหารการกินส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการพาเด็กๆ ไปเดินห้างสรรพสินค้ากินข้าวและดูหนังแน่นอน ดังนั้นสิ่งสำคัญประการแรกสุดจึงอยู่ที่การเปิดใจของพ่อแม่นั่นเอง

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share