ในที่ที่เราไม่เคยไป ต่อให้สวยงามน่าอัศจรรย์มากแค่ไหนก็ย่อมนึกภาพไม่ออก และหากจะเกิดหายนะภัยบางอย่างขึ้นที่นั่น เราย่อมไม่มีความรู้สึกร่วมหรือเสียดาย ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดในประเทศไทยหรือในโลกใบนี้ย่อมเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติ
ปุ๊กกี้ หญิงสาวผู้เคยย่ำเท้าไปตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทั่วโลกบอกด้วยความตื่นตะลึงเมื่อไปพบเห็นเนินมะปรางครั้งแรกว่า “สวยมาก เหมือนกุ้ยหลินเลย” แถมยังตื่นตาตื่นใจกับภาพค้างคาวนับล้านตัวที่บินออกหากินไปพร้อมกันเป็นสายยาวนานเกือบชั่วโมง ยังไม่นับการปั่นจักรยานไปตามเรือกสวนไร่นา
อำเภอเนินมะปรางเพิ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอนุรักษ์เมื่อที่นี่กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำยื่นขอสัมปทานทำเหมืองทอง ส่วนคนที่อยู่นอกแวดวงจะถามว่า “อยู่ที่ไหน” หรือ “ไม่เคยได้ยิน” แม้ว่าชาวเนินมะปรางกลุ่มหนึ่งได้พยายามบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองเพื่อนำไปสู่การปกป้องทรัพยากรของตัวเองมาเกือบสามสิบปีแล้ว
เมื่อถามว่าเนินมะปรางมีอะไรที่น่าสนใจ มะลิ ทองคำปลิว หรือ “ลุงมะลิ” ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง เล่าให้ฟังว่า ทางกายภาพเนินมะปรางเป็นเทือกเขาหินปูนและเขาหินปะการังอันสวยงาม มีถ้ำกว่า 100 แห่ง เพิ่งเปิดให้เข้าชมถ้ำหินงอกหินย้อยและซากหอยดึกดำบรรพ์เพียง 4-5 แห่ง และช่วงเย็นจะมีค้างคาวออกจากถ้ำจำนวนมหาศาล โดยบินออกอย่างต่อเนื่องเหมือนสายริ้บบิ้นสีดำหลายร้อยเส้นโบกพลิ้มยามต้องลมตัดกับฉากหลังท้องฟ้าฉาบแสงสีส้มเจิดจ้ายามตะวันตกดิน กินเวลานาน 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้เนินมะปรางยังอยู่ติดเขตป่าไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดของทุ่งแสลงหลวงฝั่งตะวันตก มีสัตว์ป่าและสัตว์คุ้มครองแทบทุกประเภท เช่น หมี เลียงผา กระทิง เสือ
ในเชิงเศรษฐกิจ เนินมะปรางเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของพิษณุโลก เป็นแหล่งปลูกมะม่วงส่งออกมากที่สุดของภาคเหนือ พื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่ เฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ซึ่งเป็นมะม่วงที่ราคาแพงที่สุด ราคาส่งออกประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท ข้อมูลปี 2558 ประชากรมีรายได้จากมะม่วงอย่างเดียวมูลค่า 5 พันล้านบาท ถือเป็น “ทองคำบนดิน” เลยทีเดียวนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งลูกผลไม้อื่นๆเช่นทุเรียนหลงรักไทยลำไยมังคุดมะขามหวานมะปรางและเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มากที่สุดในจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย
“เรามีความสวยงามทางธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีฐานเศรษฐกิจชุมชน คนทำมะม่วงส่วนมากส่งลูกเรียนจบปริญญา บางคนส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ แต่ที่นี่ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมย่อยหิน ซึ่งตลอดระยะทางแนวเขตอุตสาหกรรมย่อยหิน 35 กิโลเมตร มีชุมชน 4 ตำบล คนหลายหมื่นคนจะต้องเดือดร้อนเเละยังไม่รวมการขอสัมปทานเพื่อทำเหมืองทองคำ ซึ่งถ้ามีเหมืองทองคำเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างมหาศาล”
แม้ลุงมะลิกับพวกจะเริ่มทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เนินมะปรางมากว่าสามสิบปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยยังไม่รับรู้ จวบจนกระทั่งเมื่อปีสองปีที่ผ่านมาเนินมะปรางกลายเป็นที่รู้จัก เมื่อโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเริ่มกระชั้นเข้ามา ขณะเดียวกันก็มีคนเนินมะปรางรุ่นใหม่ที่มีฝีมือด้านศิลปะและการสื่อสารมาช่วยนำภาพอันสวยงามของเนินมะปรางออกสู่สังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตามมาด้วยการจัดกิจกรรมที่เชื้อเชิญให้คนนอกไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของชาวเนินมะปราง เช่น กิจกรรม “โอบกอดขุนเขา สัมผัสไออุ่น..ของคนเนินมะปราง” เชิญชวนคนมาปั่นจักรยานเพิ่มการท่องเที่ยวเชิงนิเวศซึ่งจัดมาแล้วหลายครั้ง
“ทำมา 30 ปีแล้ว เพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อปีที่แล้วนี้เอง เราอยากจะสื่อสารเรื่องความสวยงามทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเศรษฐกิจชุมชนเพื่อดึงคนมาเนินมะปราง และตอนนี้คนจากทั่วประเทศเริ่มรู้จักและมาเนินมะปรางแล้ว” ลุงมะลิกล่าว
ในมุมมองของผู้เขียน ภาพภูเขาหินปูนและต้นไม้เขียวขจีที่เนินมะปรางชวนให้นึกถึงฉากภาพยนตร์เรื่องอวตารที่โด่งดังนอกเหนือจากเรื่องราวแฟนตาซีแบบฝรั่งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแฝงประเด็นชวนคิดเรื่องดินแดนลี้ลับอันอุดมสมบูรณ์ที่มีส่วนช่วยอุ้มชูโลกแต่กำลังถูกรุกรานจากคนต่างถิ่นซึ่งเข้ากับสถานการณ์ที่ชาวเนินมะปรางกำลังเผชิญอยู่ยิ่งนักเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายคนทั่วโลกหลั่งไหลไปเยือนสถานที่ถ่ายทำที่อุทยานแห่งชาติจางเจียเจี้ยที่ประเทศจีนจนทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจีนไปเลย
ย้อนกลับมาที่เนินมะปราง สถานที่ที่ผู้ไปเยือนมักตั้งฉายาเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามระดับโลก เช่น “กุ้ยหลินเมืองไทย” นอกจากคุณจะได้ไปเที่ยวแหล่งธรรมชาติโดยไม่ต้องเดินทางไกลข้ามประเทศ เพราะเนินมะปรางอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทางเขตภาคเหนือตอนล่างเพียงประมาณ 70 กิโลเมตร ผลพลอยได้สำคัญที่ชาวเนินมะปรางคาดหวังคือ เมื่อเห็นความงามและความอุดมสมบูรณ์ของเนินมะปราง คุณย่อมรู้สึกรักและหวงแหนสมบัติของชาติชิ้นนี้และอยากให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติต่อไป…คนเนินมะปรางจะได้ไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป