in on July 7, 2016

เมื่อร้านยังขายของชำ

read |

Views

ที่ทำงานของผู้เขียนเพิ่งรับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้ามาทำงาน เธอมาจากประเทศอินเดียติดตามสามีมาอยู่ที่มาเลเซียมีโอกาสได้คุยกันถึงแผนชีวิตในวันข้างหน้า

klong19

เธอบอกว่าอยากปักหลักอยู่ที่มาเลเซียเพราะสะดวกสบาย อยากหาเครื่องปรุงอาหารอินเดียก็หาได้ง่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำที่มีอยู่ทั่วไป ไม่เหมือนกับอยู่ประเทศอื่นๆ อย่างอเมริกาออสเตรเลียหรือแคนาดาที่จะซื้อได้จากร้านที่ขายของเฉพาะจากอินเดียหรือจากเอเชียเท่านั้น

ความสะดวกสบายในข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตมานานแล้วว่าร้านขายของชำที่มาเลเซียนี้มีอยู่หลากหลายประเภทและทำเลที่ตั้งก็มีอยู่ทั่วๆ ไป ทั้งใกล้ตลาดหรือตามตึกแถวในย่านชุมชน บรรยากาศของร้านทำให้นึกถึงเมืองไทยย้อนไปซัก 30-40 ปี ในช่วงที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก จำได้ว่าเคยถีบจักรยาน (สมัยนั้นเค้าไม่เรียกว่าขี่จักรยานนะ) ไปซื้อน้ำปลาให้แม่ โดยต้องเอาขวดเก่าที่เป็นขวดแก้วไปแลกด้วย ถือว่าเป็นการพิสูจน์ความสามารถในระดับหนึ่ง เพราะต้องถือกลับมาให้ได้โดยที่ขวดน้ำปลาไม่ตกหรือกระแทกแตกกลางทางซะก่อน หรือหากว่าต้องไปซื้อน้ำอัดลม (ในขวดแก้ว) เลี้ยงต้อนรับเวลามีญาติๆ มาเยี่ยมก็ต้องจ่ายเงินค่ามัดจำขวดก่อนถึงจะเอากลับมาได้ทั้งขวดเป็นอันว่าไม่มีขวดพลาสติกเหมือนอย่างทุกวันนี้

ความแตกต่างที่ปลุกให้ผู้เขียนตื่นจากวัยเด็กก็คงเป็นที่ประเภทของสินค้าที่ขายอยู่ในร้าน ถ้าเป็นร้านของชำที่เป็นร้านของคนอินเดียที่มีป้ายหน้าร้านเขียนไว้ว่า Cash & Carry (เรียกว่า จ่ายแล้วหิ้ว ก็คงได้) จนกลายเป็นชื่อเล่นของร้านประเภทนี้ ของที่ขายในร้านก็จะเน้นไปทางสินค้าบริโภค เครื่องปรุงและส่วนประกอบที่ใช้ในการทำอาหารอินเดีย แต่ก็มีสินค้าอุปโภคทั้ง สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ครีมน้ำมันใส่ผมต่างๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดียด้วยเช่นกัน

ประเภทถัดมาก็คือมินิมาร์เก็ตขนาดย่อมแบบไม่ติดแอร์ ร้านแบบนี้มักจะตั้งอยู่ในละแวกหมู่บ้านมีของทุกอย่างตั้งแต่เครื่องเขียน สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ไปจนถึงกระเทียม หอมแดง และผักสดบางประเภทที่นิยมทำอาหาร เช่น มะเขือเทศ มะเขือยาว ถั่วฝักยาว พริกสด อย่างละนิดละหน่อย ส่วนสินค้าที่ขายหมุนเวียนมากที่สุดคงไม่พ้นขนมปัง

ร้านขายของชำเหล่านี้ เป็นร้านที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนรอบๆ เวลาของขาดครัวกระทันหัน ผู้เขียนเองก็ได้ใช้บริการร้านใกล้บ้านแบบนี้เวลาที่ต้องการมะพร้าวขูด หน้าร้านจะมีเครื่องขูดมะพร้าวตั้งอยู่ให้รู้ว่าขาย สั่งปุ๊บ เฉาะปั๊บ ขูดกันเดี๋ยวนั้นเลย ลูกชายถูกฝึกให้เป็นม้าใช้ ขี่จักรยาน (เลื่อนระดับเพราะว่าเป็นจักรยานเสือภูเขาไม่ใช่ถีบอย่างรุ่นแม่) ไปซื้อมะพร้าวหรือเวลาที่ทำขนมใส่กะทิทั้งหลาย

ในย่านธุรกิจหนาแน่น ร้านของชำเหล่านี้เริ่มที่จะเลือนหายไป พร้อมๆ กับสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนไปตามกระแส มีร้านสะดวกซื้อเข้ามาแทนที่ ทั้งมินิมาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม รวมไปถึงร้านเซเว่นยอดฮิต แม้จะไม่มากและไม่มีลูกเล่นของสินค้าหน้าเคาน์เตอร์เหมือนอย่างในเมืองไทย แต่หน้าตาของร้านเซเว่นที่มีการพัฒนาให้เป็นคาเฟ่ก็เรียกลูกค้าเข้าร้านไปตากแอร์ได้พอสมควร

เวลาเดินผ่านร้านเหล่านี้ แรงกระตุ้นให้เดินเข้าไป ดูเหมือนจะไม่ใช่เป็นเพราะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สินค้านั้นๆ แต่เป็นเพราะความสะดวกซื้อเป็นตัวกระตุ้นให้เดินเข้าไป เหยื่อที่ติดกับเหล่านี้ง่ายที่สุดคือเด็กๆ ตัวอย่างใกล้ตัวก็คงเป็นลูกชายทั้งสองของผู้เขียนเอง ที่บางทีก็ดึงผู้เขียนเข้าไปเพื่อจะให้จ่ายเงินค่าขนมปังสอดไส้แบบที่ซื้อได้จากร้านขายของชำข้างๆ นั่นแหล่ะ

เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนวิธีค้าขายจึงเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความอยาก ไม่แน่ใจว่าร้านของชำหรือร้านจ่ายแล้วหิ้วจะอยู่ได้นานอีกแค่ไหน คนที่มีอายุมากกว่าและรุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนยังเห็นประโยชน์จากร้านเหล่านี้และใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ แต่คนรุ่นหลังดูเหมือนว่าจะสนใจแต่ร้านสะดวกซื้อหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต จึงไม่น่าแปลกใจที่อีกไม่นานร้านของชำก็จะลดจำนวนลงพร้อมกับการเปลี่ยนการใช้พื้นที่ซึ่งมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาเปลี่ยนพื้นที่เป็นห้างสรรพสินค้า

ที่เมืองไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพเราผ่านจุดนั้นมานานแล้ว ที่ร้านขายของชำเหลือแทบจะนับจำนวนได้ผู้เขียนคิดว่าบรรยากาศของเมืองที่น่าอยู่นั้น นอกจากจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ทั่วไปแล้วยังน่าจะต้องนับเอาความอบอุ่นของสังคมด้วยเหมือนกันลำพังต้นไม้ครึ้มแต่ตึกครึ้มตามไปด้วยก็คงไม่ไหว มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตึกสูงๆ ห้างใหญ่ๆ ก็จะรู้สึกราวกับว่าอยู่ในเมืองไร้ชีวิต

ก็ได้แต่หวังว่าความเปลี่ยนแปลงจะยังมาถึงที่นี่ไม่เร็วเกินไปนักขอให้มีโอกาสได้รอไหว้วานหลานย่าให้ขี่จักรยานไปซื้อของที่ร้านของชำก่อนนะ

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก: http://www.thongthailand.com/index.php?lite=article&qid=42081354
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share