เกาะชิโกกุของญี่ปุ่นเป็นสถานที่ในตำนาน เป็นบ้านเกิดของพระกุไกหรือโกโบไดชิผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายชินงอนในต้นคริสตศตวรรษที่ 9 และริเริ่มการปฏิบัติธรรมเดินแสวงบุญ “โอเฮงโระ” ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเส้นทางเดินแสวงบุญ 88 วัดทั่วเกาะ ระยะทางเกือบ 1,300 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินนานนับเดือนผ่านป่าเขาชัน
ชิโกกุจึงมีภาพพจน์ของธรรมชาติและวัฒนธรรมเก่าแก่มีกลิ่นอายของรุกขเทพจิตวิญญานป่าเก่าเป็นดินแดนแห่ง “ญี่ปุ่นที่ลับเลือน” (Lost Japan)
ฉันจึงตื่นเต้นมากเมื่อได้โอกาสไปเยือนจังหวัดโทขุชิมะทางด้านตะวันออกของเกาะชิโกกุ คณะของเราประกอบไปด้วยผู้ได้รับทุน Asian Leaders Fellowship Program (ALFP) 8 คนจาก 8 ประเทศในเอเชียจากสาขาอาชีพต่างๆ กัน เราพักกันที่เมืองคามิยามาเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ที่เผชิญชะตากรรมสังคมคนแก่เช่นเดียวกับเมืองชนบทอื่นๆ ทั่วญี่ปุ่น ประชากรลดลงไปเรื่อยๆ ทิ้งบ้านเก่ารกร้างไว้ทั่วแต่เมืองคามิยามาได้หาวิธีฟื้นฟูชีวิตเมือง สร้างเสน่ห์ดึงดูดคนหนุ่มสาวจากเมืองใหญ่เข้ามาตั้งรกรากอัดฉีดชีวิตขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง
แนวทางสร้างสรรค์ชุบชีวิตของชุมชนคามิยามาคือสิ่งที่ทางเจ้าภาพญี่ปุ่นอยากพาเรามาดูเป็นเรื่องที่ต้องขอเก็บไว้เล่ากันเต็มๆ ในโอกาสต่อไป แต่วันนี้อยากเล่าถึงสิ่งที่สังเกตเห็นเองรอบตัวที่ไม่มีใครตั้งใจให้ดูและอธิบายให้ฟัง
คามิยามาตั้งอยู่ในหุบริมแม่น้ำจากเมืองมีถนนแคบชันตัดขึ้นเขาไปถึงวัดโชซันจิซึ่งเป็นวัดสำคัญในเส้นทางแสวงบุญ รู้สึกว่าตามลายแทงจะถือว่าเป็นวัดภูเขาแห่งแรกบนเส้นทาง
แค่รถหักเข้าเขตป่าเราทุกคนก็ตื่นตาตื่นใจเพราะมันร่มครึ้มไปด้วยดงสนซีดาร์และไซเปรสญี่ปุ่นขนาดใหญ่สูงลิ่ว ยิ่งตรงบริเวณวัดนั้นมีต้นยักษ์ๆ มากมายหลายต้น อายุร้อยปีเป็นอย่างน้อยใหญ่กว่าในโซนป่าทั่วๆ ไปใกล้เมือง
ความยิ่งใหญ่ของต้นไม้ตรึงเราเหมือนถูกมนต์สะกด แต่เมื่อมองออกไปทั่วๆ ดูทิวเขารายล้อมทั้งหุบก็ให้เอะใจว่ามันมีแต่เจ้าซีดาร์และไซเปรสอยู่แค่สองชนิดเป็นหลัก มีเพียงไม่กี่หย่อมที่เห็นดงไผ่หรือต้นก่อ เมเปิล และไม้ผลัดใบอื่นๆ แซม
แม้ว่าซีดาร์และไซเปรสสองชนิดนี้จะเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของญี่ปุ่น แต่มันก็แปลกอยู่ดี
เขาแถบนี้ไม่ได้สูงมากและถ้ากางแผนที่โลกออกมาดูจะพบว่ามันอยู่บนเส้นรุ้งแนวเดียวกับมอร็อคโคตอนเหนือของทวีปอาฟริกาห่างไกลจากโซนป่า boreal ใกล้ขั้วโลกมากนัก ป่าธรรมชาติจึงน่าจะเป็นป่าสนผสมไม้ผลัดใบชนิดต่างๆ ว่าไปแล้วต้นไม้ท้องถิ่นที่เป็นไม้กึ่งเขตร้อน เช่น ปาล์มใบพัดจีนและยี่เข่ง ยังพบได้เหนือถึงโตเกียว แล้วทำไมที่นี่จึงมีแต่สนสองชนิดเป็นเทือกๆ สุดสายตา โดยเฉพาะซีดาร์ญี่ปุ่น?
กดไอโฟนถามลุงกู พลันข้อมูลก็ทะลักหลั่งไหลออกมา มันเป็นหายนะจากนโยบายรัฐบาลหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฟื้นประเทศและต้องการให้ญี่ปุ่นมีทรัพยากรไม้พึ่งตัวเองอย่างพอเพียง โดยมองว่าต้นไม้อื่นๆ ไม่มีค่าปลูกซีดาร์และไซเปรสดีกว่าโตก็เร็ว ทำฟืนก็ได้ สร้างบ้านก็ดี แมลงไม่กิน
เขาญี่ปุ่นจึงเต็มไปด้วยซีดาร์แน่นทึบความว่าแถบเขาฟูจิก็เป็นเช่นนี้ ใครเคยไปคงเห็นกันแล้ว แต่ญี่ปุ่นกลับหันไปใช้ไม้จากป่าเขตร้อนเอเชีย ทิ้งป่าสนปลูกให้กลายเป็นป่าร้างความหลากหลายทางชีวภาพบดบังแสงไม่ให้ต้นอื่นขึ้น ไม่มีอาหารให้สัตว์ รากตื้นของมันไม่เก็บน้ำและไม่ยึดหน้าดิน เกิดภัยน้ำหลากดินถล่มได้ง่าย ถล่มแล้วก็ใช่จะเปิดโอกาสให้ต้นอื่นขึ้นได้ เพราะไม่มีต้นพ่อต้นแม่มาทิ้งเมล็ด แถมป่าซีดาร์ยังปล่อยเกสรฟุ้งกระจายถึงขั้นเห็นเป็นหมอกละอองเรณู คนป่วยแพ้เกสรรุนแรงกันมากมาย
เป็นข้อมูลที่คนญี่ปุ่นไม่เล่าให้เราฟัง แต่ใครออกไปเที่ยวเดินป่านอกเมืองก็เห็นกันทั้งนั้น
ย้อนกลับมาที่เมืองคามิยามา ตอนเช้าฉันออกไปเดินริมแม่น้ำ ดูเผินๆ ก็งดงามดั่งโปสการ์ด ถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊คเพื่อนก็อิจฉา แต่ในรายละเอียดมันส่อความผิดปกติอยู่หลายประการเล่าไม่ไหวยาวเกินเอาเป็นว่ามันสอดคล้องกับข้อมูลน้ำหลากรุนแรงจากป่าซีดาร์ อย่างไรก็ตามฉันเห็นรอยเท้ากวางหลายรอย ดีใจมาก กลับไปเล่าให้ทุกคนฟังในวงกินข้าวเช้า
บังเอิญมีคนทำอีโคทัวร์ญี่ปุ่นมาพักอยู่ด้วย เป็นคนอเมริกันเกิดในญี่ปุ่น เขาเล่าว่าประชากรกวางและหมูป่าที่เพิ่มขึ้นกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าไม่มีสัตว์ผู้ล่าคอยควบคุม แต่ในช่วง 20 ปีมานี้มันเริ่มรุกเข้ามาในเมือง กินพืชไร่ทำลายนา
มันรุกลงมาเพราะป่าสนซีดาร์–ไซเปรสไม่ค่อยมีอาหารและตอนนี้เมืองไม่ค่อยมีคน
แต่ก่อนคนเคยขึ้นเขาไปหาของป่าบ้างไรบ้าง เดี๋ยวนี้คนแก่เฒ่า เหลือกันอยู่น้อย ร้างไปทีละหลังสองหลัง
แม้ว่าเมืองนี้จะเริ่มมีคนหนุ่มสาวย้ายจากเมืองใหญ่เข้ามาอยู่ แต่ก็เป็นคนวงการไอที ตามมาด้วยคนเปิดร้านอาหารต่างๆ ไม่ใช่คนตัดฟืนหาเห็ดป่า
ทางออกหนึ่งจึงกลับไปสวมบทบาทผู้ล่าจับหมูป่ามาทำไส้กรอกกิน
บางพื้นที่เริ่มมีแผนฟื้นฟูป่าระยะยาว ทะยอยตัดสนซีดาร์และไซเปรสออกเพื่อปลูกไม้ผลัดใบพื้นถิ่นดั้งเดิมเข้าไปแทน เป็นมาตรการสำคัญในการกอบกู้ระบบนิเวศและเพิ่มอาหารธรรมชาติให้สัตว์ป่า
แต่เราไม่คิดว่ากวางและหมูป่าจะถอยร่นกลับขึ้นเขาไปง่ายๆ ตราบใดที่คนอยู่กันน้อย
ต่อให้ไม่มีผลผลิตจากสวนไร่นาชาวบ้านเป็นอาหารดึงดูด พวกมันก็คงอยากหากินในที่ลุ่มซึ่งอุดมสมบูรณ์กว่า ใช้ชีวิตง่ายกว่า อย่าลืมว่านี่คือบ้านเดิมของมันที่มนุษย์มายึดไปจนหมด ขับไล่ไสส่งมันขึ้นเขา
สังคมญี่ปุ่นอาจมองว่าประชากรร่อยหรอในชนบทเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่บางทีมองอีกมุมหนึ่งหมู่บ้านเมืองเล็กหดหายไปบ้างบางแห่งอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้หวนคืนและถ้าให้ดีก็น่าจะคืนสัตว์ผู้ล่าอย่างหมาป่าเข้าไปควบคุมกวางสร้างความสมดุลย์
ปล่อยพวกเขาอยู่ในหุบที่ไม่มีเราบ้างแล้วเขาจะช่วยดูแลระบบนิเวศให้แก่เรา