in on August 22, 2015

เรื่องเล่าจากเกาหลี: ตัวอย่างความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าระดับประเทศ

read |

Views

ศาสตราจารย์ชเว แจยง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชุงนัม ดูเหมือนนักธุรกิจเกาหลีทุกกระเบียดนิ้ว พูดน้อย แต่งตัวเนี้ยบ ดูสุภาพเรียบร้อยมากกว่าจะเป็นนักวิจัยป่าไม้ อาจารย์แจยงมาเป็นตัวแทนกรมป่าไม้ของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เพื่อนำเสนอประสบการณ์ในการฟื้นฟูป่าที่ว่ากันว่าประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

 

สถิติอันน่าทึ่งก็คือเกาหลีใต้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่ประมาณ 35% หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็น 64% ได้ภายในระยะเวลา 60 ปี (1952-2012) ทั้งยังเพิ่มความหนาแน่นของต้นไม้ต่อพื้นที่ได้ถึง 14 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกันเกาหลีใต้มีประชากรเพิ่มขึ้นสองเท่า ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นถึง 300 เท่า จาก GDP 67 เหรียญสหรัฐ เป็น 23,837 เหรียญสหรัฐ

อาจารย์แจยงย้ำว่า ประเทศของเขาไม่ได้รวยแล้วถึงมาฟื้นฟูป่า ย้อนกลับไปเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้ยังมีฐานะยากจนมาก สาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่าในสมัยนั้นคือความต้องการไม้ฟืนมาเป็นเชื้อเพลิงในการให้ความอบอุ่น และการขยายพื้นที่เพื่อการเกษตร ตอนนั้นประชากรส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรที่ทำไร่เลื่อนลอย เปิดถางพื้นที่ใหม่ไปเรื่อยๆ หน่วยงานที่ดูแลป่าไม้ในสมัยนั้นก็มีบทบาทไม่ชัดเจน อ่อนปวกเปียก

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศได้แก่ประธานาธิบดีปาร์คชุงฮี ตอนนั้นเกาหลีใต้ประสบกับวิกฤติการณ์หลายด้าน เพราะประเทศเพิ่งผ่านพ้นจากสงครามกลางเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่งจะเริ่มต้นเตาะแตะ แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติหลายครั้ง ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม มีปัญหาการกัดเซาะหน้าดินอย่างรุนแรง ไม้ฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงก็เริ่มขาดแคลน
park-chung-hee
ประธานาธิบดีชุงฮี ตระหนักว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ จึงตัดสินใจว่าต้องเริ่มฟื้นฟูป่าไม้อย่างจริงจังทันที ไม่เช่นนั้นแล้วต่อไปลูกหลานชาวเกาหลีคงจะลำบากแน่ๆ จากนั้นเขาก็เดินหน้ารณรงค์ฟื้นฟูป่าอย่างจริงจัง โดยลงไปสั่งการและติดตามความก้าวหน้าในการฟื้นฟูเขาหัวโล้นหลายแห่งด้วยตัวเอง

อาจารย์แจยง นำเอาวีดีโอเก่าๆ ที่บันทึกการฟื้นฟูป่าของเกาหลีใต้มาให้ดู ภูเขาหลายแห่งที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นไม่ใช่เป็นแค่เขาหัวโล้นธรรมดา แต่เป็นภูเขาที่แทบไม่เหลือหน้าดินอยู่เลย การฟื้นฟูจึงต้องเริ่มตั้งแต่การปรับพื้นที่ดินใหม่ หาบขนดินขึ้นไปบนภูเขาด้วยแรงคน ปลูกหญ้าเพื่อช่วยยึดเกาะดินก่อน     แล้วจึงค่อยนำต้นไม้ไปลงทีละต้นๆ และต้องดูแลชนิดประคบประหงม คอยขนดินขึ้นไปเติมเป็นระยะๆ

ภาพเคลื่อนไหวเก่าๆ ที่ฉายให้เห็นคนเกาหลีแบกจอบแบกเสียม ขนดินขึ้นไปปลูกต้นไม้บนเขาที่ไม่มีพืชพันธุ์อะไรเหลืออยู่เลย เป็นความพยายามอันน่าเหลือเชื่อ และทั้งหมดนี้มีผู้นำระดับประธานาธิบดีไปกำกับด้วยตัวเอง

ประธานาธิบดีชุงฮีต้องการแสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่ยากสุดๆ นั้นเป็นไปได้ และภายในเวลาแค่ 4 ปี โครงการฟื้นฟูป่าเพื่อรักษาหน้าดินที่เมืองยองอิลก็เริ่มเห็นผลสำเร็จ ต้นไม้กลับมาขึ้นคลุมภูเขาอีกครั้ง ภูมิทัศน์โดยรอบเริ่มกลายเป็นสีเขียว หลังจากนั้นโครงการฟื้นฟูป่าก็ขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ จนพลิกฟื้นผืนดินได้อย่างเหลือเชื่อ

Koeran reforestaion

เปรียบเทียบพื้นที่โครงการฟื้นฟูป่าเพื่อรักษาหน้าดินที่ยองอิลปี 1973 (บน) และปี 1977 (ล่าง)

ปัจจัยเสริมที่เอื้อให้การฟื้นฟูป่าในเกาหลีใต้ก้าวหน้าตามลำดับก็คือ การเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงจากไม้ฟืนไปเป็นถ่านหินและแก๊ส และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากระบบเกษตรไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทำให้ความต้องการในการใช้ที่ดินลดลง

อาจารย์แจยงสรุปให้ฟังว่าปัจจัยสี่ประการที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าไม้ก็คือ 1) มีผู้นำที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ 2) สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 3) กำหนดนโยบายที่ชัดเจนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กรมป่าไม้จนเป็นมืออาชีพ และ 4) บูรณาการนโยบายและเน้นการประสานงานทั้งระหว่างหน่วยงานของภาครัฐด้วยกันเองและภาคเอกชน

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นวาระเร่งด่วนที่ไม่เพียงจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่ยังเป็นการปรับปรุงดินและส่งเสริมให้นิเวศบริการด้านต่างๆ กลับคืนมาให้กับภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การเพิ่มแหล่งผลิตน้ำจืดตามธรรมชาติ การฟื้นฟูประชากรสัตว์ที่ทำหน้าที่ผสมเกสรในสวนผลไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง (ดูข้อมูลที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประเมินผลประโยชน์จากป่าไม้ได้ ที่นี่)

ก่อนจะจบการบรรยาย อาจารย์แจยงย้ำอีกครั้งว่าประเทศของเขาไม่ได้ฟื้นฟูป่าตอนที่พัฒนาแล้ว ตอนนั้นเกาหลีใต้ยังยากจนมากแต่ก็ยังทำกันมาได้ และกลายมาเป็นผู้นำในการถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จด้านการฟื้นฟูป่าให้กับประเทศอื่นๆ ผ่านความร่วมมือนานาชาติ

บทเรียนสำคัญจากเรื่องจริงเรื่องนี้ก็คือ การฟื้นฟูป่าหรือการทำงานอนุรักษ์ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินหรืองบประมาณอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความตั้งใจจริง

‘The best time to plant a tree was 20 years ago. The next best time is now’

– Chinese proverb

เก็บตกมาเล่าจากการประชุม Capacity-building workshop for Southeast Asia on ecosystem conservation and restoration to support achievement of Aichi Biodiversity Targets 28 April – 2 May 2014, Jambi, Indonesia

เดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 กรมป่าไม้ประเทศเกาหลี (Korea Forest Service) เปิดตัวโครงการ The Forest Ecosystem Restoration Initiative อันเป็นโครงการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านการฟื้นฟูป่าให้กับประเทศอื่นๆ โดยจะให้การสนับสนุนทั้งในเชิงเทคนิควิธีการและเงินทุนในการดำเนินการในบางกรณี

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/th/
  2. ภาพจาก: www.daum.net
  3. ภาพจาก: AP
  4. ภาพจาก: www.cbd.int
เพชร มโนปวิตร

นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน นักแปลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เริ่มเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้มูลนิธิโลกสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2546 และเปิดพื้นที่คอลัมน์ Natural Solution เพื่อต้องการนำเสนอข่าวดี กรณีศึกษาที่น่าเอาอย่าง รวมทั้งแนวคิดสำคัญที่อาจเป็นทางออกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิกฤติการณ์ต่างๆของโลกในปัจจุบัน

Email

Share