in on August 17, 2017

เสื้อผ้ามือสอง

read |

Views

สงสัยจริงๆ ว่า โดยปกติแล้วผู้อ่านมีวิธีจัดการกับเสื้อผ้าที่ใส่ไม่ได้แล้วอย่างไรบ้างทั้งของตัวเองและของคนในครอบครัวเอาเสื้อผ้าเก่าไปแลกไข่จับใส่ถุงทิ้งขยะบริจาคผ่านองค์กรต่างๆ หรือส่งต่อให้คนอื่นด้วยตัวเอง

เท่าที่ผ่านมาผู้เขียนถือว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสได้มอบเสื้อผ้าเหล่านั้นให้แก่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง อย่างลูกหลานของแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่มาทำความสะอาดบ้านส่งให้เพื่อนที่ทำงานกับชุมชนผู้อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือส่งผ่านคุณพ่อบ้านที่ได้ทำงานกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่เป็นคนจากกลุ่มชนพื้นเมืองออรังอัสลี (Orang Asli) ที่ยังอาศัยอยู่ในป่า บางชิ้นที่จำต้องเป็นต้องซื้อให้เด็กๆ ใส่เวลามีงานที่โรงเรียนซึ่งได้ใส่เพียงแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น พอหยิบมาปัดฝุ่นจะใส่ในปีถัดไป ขนาดเอวของผู้ใส่ก็ล้นขอบกางเกงไปแล้ว เป็นอันว่าต้องส่งต่อให้ญาติผู้น้องของสองหนุ่มต่อไป

เรื่องเสื้อผ้ามือสองไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้เขียนเลยสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็มักจะไปดุ่มๆ เดินที่จตุจักรอย่างมีลุคแบบเท่ห์ๆ ลุยๆ และด้วยความที่ไซส์ไม่อยู่ในสาระบบไซส์ไทย (มันหดหู่น่ะ เพราะไซส์ไทยจะอยู่ที่ XXL) การไปซื้อเสื้อลายสก็อตกับกางเกงยีนส์ซึ่งมีที่มาจากเมืองนอกนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายและสร้างเสริมกำลังใจได้เยอะกว่า เพราะไซส์ M ก็ใหญ่พอแล้ว แม้ว่าจะมีตำนานเล่าต่อกันมาเยอะแยะว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร นับตั้งแต่บริจาคด้วยใจเมตตา ไปจนถึงไปถอดมาจากศพ  เอาเหอะ ขู่ยังไงก็ไม่กลัว ซื้อกลับมาแล้วต้มก่อนซักเป็นอันเท่ห์ได้ในราคาถูก พอโตเป็นผู้ใหญ่ได้มาทำงานใกล้ๆ กับซอยละลายทรัพย์ ก็จะมีเสื้อผ้ามือสองมาขายทั้งแบบกองและแบบแขวนราว แต่คราวนี้พอจะรู้เพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย คือบางชิ้นเป็นเสื้อผ้าที่ตกค้างสต็อคอยู่ในโกดังเก็บสินค้าด้วย เป็นอันว่าแค่ซักอย่างเดียว ไม่ต้องต้ม

ผู้เขียนมีโอกาสได้มารู้ว่าในมาเลเซียมีโรงงานขนาดใหญ่ที่รับรีไซเคิลเสื้อผ้าและวัสดุผ้าประเภทต่างๆ จากครัวเรือนโดยรับเสื้อผ้ามาจากองค์กรการกุศลในออสเตรเลียเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนที่มาจากญี่ปุ่นอเมริกาและภายในประเทศ ซึ่งเมื่อของเหล่านั้นเดินทางถึงโรงงาน คนงานกว่าร้อยคนก็จะทำหน้าที่เลือกของที่ยังอยู่ในสภาพดีใส่ได้แยกไปตามเกรดสินค้าและประเภทต่างๆ นับตั้งแต่เสื้อกางเกงกระโปรงกระเป๋ารองเท้าตุ๊กตาและอื่นๆ อีกมากมาย  สินค้าที่อยู่ในสภาพดีเหล่านั้นจะถูกส่งไปขายในประเทศที่ประชากรส่วนมากไม่สามารถซื้อเสื้อผ้าราคาปกติได้ เช่น ประเทศในแอฟริกา อินเดีย และปากีสถาน

(ภาพจาก: FT Photo Diary)

ส่วนของที่อยู่ในสภาพเสียหาย จะถูกนำมาแยกผ้าออกจากกระดุมซิปและของตกแต่งต่างๆ เพื่อนำผืนผ้าชิ้นใหญ่ไปมัดรวมกันส่งขายเพื่อเป็นผ้าขี้ริ้วใช้งานในภาคอุตสาหกรรม เช่น ในโรงงานผลิตรถยนต์ที่ต้องมีการเช็ดถู ขัดมันให้แวววาว ผ้าขี้ริ้วเหล่านี้จะถูกส่งผ่านเครื่องตรวจหาโลหะก่อนแพ็คเป็นมัดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โลหะเหล่านั้นไปขูดข่วนชิ้นส่วนและรถใหม่ๆ เหล่านั้น พวกเศษผ้าต่างๆ ที่เหลือจากการเลือกเพื่อประโยชน์ข้างต้น ก็จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานซีเมนต์เพื่อใช้ในเตาเผาที่ต้องการอุณหภูมิสูงถึง 2 พันองศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งสำคัญในการกำจัดของที่ไม่ต้องการจากสังคมการบริโภคพอๆ กับเตาเผาขยะเพื่อพลังงานเลยทีเดียว

(ภาพจาก: The Ethics of Vintage)

ของอื่นๆ อย่างเสื้อสเว็ตเตอร์ เสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวทั้งหลาย ไม่ได้เป็นที่ต้องการจากประเทศในแอฟริกาก็จะถูกส่งไปยังอินเดียเพื่อแยกเอาเส้นใยมาใช้ในการผลิตผ้าห่มและเส้นใยรองใต้พรม ในขณะที่ตุ๊กตากอดนุ่มทั้งหลายจะถูกส่งไปยังโรงงานในมาเลเซีย นำไปผลิตเป็นผ้ากำมะหยี่หรือวัสดุกันลื่นหรือเป็นเส้นใยสังเคราะห์บุผ้าน่วมและใส้ของหมอนอิง

รองเท้าถือเป็นของที่จัดการยากอย่างหนึ่งเพราะหากไม่มาเป็นคู่หรือมีความเสียหายมากก็จะถูกส่งไปยังแหล่งฝังกลบขยะ เนื่องจากไม่สามารถส่งไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานได้ด้วย ซึ่งผลจากการเผายางและพลาสติกจะทำให้เกิดแก๊สพิษตามมา

(ภาพจาก: Guangzhou Yihuiso Trade Company Ltd.)

ส่วนกระเป๋า ก็ถือว่ายากไม่น้อยหน้ากัน เพราะมักจะผลิตจากวัสดุหลากชนิด ประกอบรูปเข้าด้วยทำให้แยกออกจากกันได้ยาก ใช้เวลาในการจัดการมาก แต่ไม่ได้คุ้มกับของที่จะนำไปใช้ได้ เพราะกระเป๋าส่วนมากทำมาจากพลาสติก หนัง ซิปพลาสติก ห่วงโลหะ และอื่นๆ ประดาจะนำมาตกแต่ง แม้จะน่าเศร้าที่ของบางอย่างไม่สามารถนำไปทำประโยชน์ต่อได้ แต่จากสถิติที่พบจากโรงงานนี้ ผู้จัดการโรงงานบอกว่า ประมาณ 60% เป็นสินค้าที่สามารถนำไปสวมใส่และใช้ได้ ประมาณ 38% เป็นของที่ถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิล และมีน้อยกว่า 2% ที่จัดว่าเป็นของที่ต้องทิ้งจริงๆ

ต่อจากนี้ไป หากจะซื้อเสื้อซักตัว รองเท้าซักคู่ กระเป๋าซักใบ ก็ต้องชวนกันมาคิดให้ถ้วนทั่วว่าเมื่อถึงบั้นปลายชีวิตของการใช้ของเหล่านั้น (ด้วยมือของเรา) จะมีวิธีจัดการอย่างไรให้แน่ใจได้ว่าจะไม่ไปตกอยู่ในกลุ่ม 2% ที่เดินทางไปแหล่งฝังกลบทันที

เอาไปแลกไข่ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแล้วนะ

อ้างอิง
  1. ภาพ yard sale: https://www.trulia.com/blog/7-ideas-for-starting-an-annual-neighborhood-yard-sale/
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share