in on February 9, 2019

แด่แม่ป้าเจน

read |

Views

44700944_2448823345157724_7082629876896759808_n

เมื่อวันปิยะ 23 ตุลาที่ผ่านมา ถ้าใครมีเพื่อนสายสัตว์ป่าหลายคน ก็อาจจะพบว่าวันนั้นจอเฟซบุ๊คเต็มไปด้วยภาพเพื่อนๆ ถ่ายรูปคู่กับ “ป้าเจน”

ฉันหมายถึง เจน กู้ดดัล (Jane Goodall)

ใครจะไม่ตื่นเต้นที่ได้เจอ ดร.เจน กู้ดดัลตัวจริง เธอเป็นไอคอนระดับโลกที่แม้แต่คนเดินถนนนอกวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าก็รู้จัก โดยเฉพาะในเมืองฝรั่ง เธอบุกเบิกงานวิจัยพฤติกรรมลิงชิมแพนซีป่าในอาฟริกาในยุค 60 ซึ่งปฏิวัติมุมมองและแนวทางการศึกษาพฤติกรรมสัตว์ป่า ทำลายนิยามเดิมของมนุษย์ที่เคยถือว่าต่างจากสัตว์อื่นเพราะเป็น “ผู้ประดิษฐ์เครื่องมือ” เมื่อพบว่าลิงชิมก็ทำเช่นกันแม้ว่าจะเป็นเครื่องมือที่พื้นฐานกว่า และยังพบความสลับซับซ้อนของสังคมชิมแพนซีอีกมากมาย ทั้งในปางร้ายและปางธรรม

ถึงกลางยุค 80 เมื่อการทำลายป่าและธรรมชาติอื่นๆ กลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก เธอผันตัวเองออกจากงานวิจัยสู่งานอนุรักษ์และงานพัฒนายั่งยืนที่สร้างเครือข่ายไปทั่วโลก แล้วยังเขียนหนังสืออีกมากมายหลายเล่ม

ปัจจุบันเธออายุ 84 ปีแล้ว เดินทางทั่วโลก 300 วันต่อปี เพื่อบรรยายและช่วยเหลือโครงการอนุรักษ์ต่างๆ ครั้งนี้เธอมาเมืองไทยเพื่อปาฐกถาในงานประชุมประจำปีของสมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) โดยมีองค์การสวนสัตว์ไทยเป็นเจ้าภาพ

เมื่อสาวๆ เจน กู้ดดัลเป็นคนสวยมาก ยามแก่เธอก็งาม มีราศีสว่างและอบอุ่น เธออ่อนโยน แต่หนักแน่นและมุ่งมั่น ตาเธอยังเป็นประกายเมื่อพูดถึงสัตว์และเรื่องสนุกๆ และมีพลังชีวิตอย่างเหลือเชื่อ คิดดู อายุ 84 บินถึงไทยตอนกลางคืน รุ่งขึ้นคุยกับสื่อมวลชน แว้บออกไปดูสวนสัตว์พาต้า (ซึ่งเธอเรียกว่าคุกขังสัตว์เพราะสภาพแย่มาก) กล่าวสุนทรพจน์โดยเริ่มด้วยทำเสียงร้องทักทายแบบชิมแพนซีอันเป็นแบรนด์ประจำตัว พบแฟนคลับมะรุมมะตุ้มท่วมท้น แล้วพบสื่ออีก ถ้าเธอเจ็ทแหลกบ้างเธอก็ไม่แสดงออกเลย

สุนทรพจน์เธอพูดง่ายๆ แต่จับใจ ฉันคงจะไม่เล่า เพราะคิดว่าหลายคนได้เล่าไปกันบ้างแล้ว และนิตยสารสารคดีกับเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกยังได้สัมภาษณ์พิเศษอีก ไปรออ่านทางโน้นเลย

สิ่งที่อยากเล่าคือเรื่องแม่ของป้าเจน เลี้ยงให้เธอเป็นเจน กู้ดดัล นักสัตววิทยา-นักอนุรักษ์สะท้านโลกอย่างนี้ได้อย่างไร

ป้าเจนได้เจอคนเจ๋งๆ หลายคนในชีวิตที่ช่วยสนับสนุนปั้นเธอขึ้นมา แต่ถ้าถามว่าใครเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความเป็นเจน กู้ดดัลมากที่สุด เธอตอบทันทีโดยไม่ต้องหยุดคิดว่า “แม่”

แม่ป้าเจนชื่อ มาร์กาเร็ต ไมแฟนเว โจเซฟ แต่ใครๆ ก็ดูจะเรียกเธอว่า “แวน” (Vanne) เป็นนักเขียนนิยาย ความพิเศษของแม่แวนคือเธอเคารพในความเป็นมนุษย์ปัจเจกของลูกสาวมาก

ป้าเจนชอบสัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ และแม่ก็สังเกตเห็น ตอนเธอสองขวบเธอกอบไส้เดือนเต็มอุ้งมือเอาไปนอนด้วยในเตียง แม่แวนไม่กรี๊ด ไม่อี๋ ไม่ดุ แต่กลับนั่งเล่าเรื่องราวของไส้เดือนให้ลูกน้อยฟัง ค่อยๆ อธิบายว่าผิวบางของมันต้องการความชื้นในดินอย่างไร และมันจะตายถ้านอนอยู่บนเตียงกับลูกในบ้าน เธอจึงเอาไปปล่อยด้วยความเข้าใจ

ป้าเจนอายุเพียงห้าขวบเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น ครอบครัวย้ายจากลอนดอนไปอยู่ในฟาร์มชนบท ป้าเจนมีหน้าที่เก็บไข่ไก่ และก็งงว่าไข่มันออกมาทางไหน เพราะดูตัวไก่แล้วไม่เห็นมีรูอะไรขนาดเท่าใบไข่เลย ป้าเจนจึงไปนั่งเฝ้าดูไก่ในเล้า หายตัวไปสี่ชั่วโมงจนใครๆ ตกใจ ไม่รู้ไปตกน้ำตกท่าที่ไหน แต่เมื่อป้าเจนวิ่งตาเป็นประกายตื่นเต้นกลับถึงบ้าน แม่ไม่โวยเลยสักคำ แต่นั่งฟังลูกสาวเล่าถึงการค้นพบสุดมหัศจรรย์ของเธอ

ป้าเจนเล่าว่าตอนเด็กๆ แม่จะไปยืมหนังสือสัตว์จากห้องสมุดมาเล่าให้เธอฟังตลอด เพราะว่าเธอชอบมัน และตอนเธออายุสิบขวบเธอได้เอาเงินที่เก็บหอมออมไว้ของตัวเองไปซื้อหนังสือมือสองเล่มเล็กชื่อ “ทาร์ซานและเหล่าลิงใหญ่” ซึ่งจุดประกายความไฝ่ฝันจะเดินทางไปหาสัตว์ในอาฟริกาขึ้นมา (เธอบอกว่าทาร์ซานแต่งงานกับเจนผิดคนแล้ว) ใครๆ ก็ส่ายหน้ากับความฝันเพ้อเจ้อของเธอ ทุกคนนอกจากแม่

ต้องเข้าใจว่าในช่วงสมัยที่ป้าเจนเป็นวัยรุ่น ยุค 40-50 นานก่อนยุคฮิปปี้จะมาถึง ความฝันแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของเด็กผู้หญิงที่ยังคงต้องอยู่ในกรอบ มีตัวเลือกในชีวิตน้อย อย่าว่าแต่ผู้หญิงเลย สำหรับผู้ชายก็ไม่ธรรมดา

แม่แวนฟังเธอและบอกเธอว่า ถ้าเธอต้องการสิ่งนี้จริงๆ เธอจะต้องทำงานหนัก คว้าทุกโอกาสที่โผล่เข้ามา และมุ่งมั่น ไม่ท้อ ไม่เลิก “Never give up” แม่บอก

ป้าเจนจึงทำงานเสิร์พอาหารเพื่อเก็บเงินเดินทางไปอาฟริกา เมื่อติดต่อได้งานเลขานุการในฟาร์มของคนรู้จักที่เคนยา จนได้เจอนักโบราณคดีในตำนาน หลุยส์ ลีคคี ที่แนะนำและช่วยเปิดทางให้เธอเข้าป่าไปวิจัยลิงชิมแพนซี โดยมีแม่แวนไปอยู่ด้วยในช่วงสี่เดือนแรก เพื่อให้ป้าเจนได้รับไฟเขียวจากราชการในยุคนั้น

ทุกคนที่เอาหนังสือไปให้ป้าเจนในวัย 84 เซ็นในงานประชุมสวนสัตว์ ถ่ายรูปลายเซ็นป้าอวดขึ้นเฟสบุ๊ค พบว่ามีวรรคสุดท้ายเขียนเหมือนกันหมดว่า “Never give up”

ป้าเจนไม่ได้เขียนเป็นสูตรสำเร็จไลฟ์โค้ช วลีนี้มีความหมายและที่มาที่มีค่ายิ่งในชีวิต

แน่นอนว่าป้าเจนเป็นคนโชคดีที่รู้ใจตัวเองชัดเจนกว่าคนส่วนใหญ่มาตั้งแต่เกิด แต่ถ้าแม่แวนไม่ฟังไม่ตอบสนองเธอมาตั้งแต่ต้น ป้าเจนจะรักษาและพัฒนาความสนใจใคร่รู้นั้นต่อไปได้เท่าไหร่ ก่อนที่มันจะถูกปัดไปเป็นเรื่องบ้าๆ ขำขันของเด็ก แล้วก็หันไปคิดอะไรแบบผู้ใหญ่เสียที

เมื่อโตเป็นวัยรุ่น แม่ได้สนับสนุนด้วยการช่วยวางแผนดำเนินตามฝัน เพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าลูกจะก้าวเดินบนทางเลือกออกไปได้จริง ในตอนที่ป้าเจนเป็นสาวอายุ 20 ต้นๆ ขึ้นเรือไปอาฟริกาตามลำพัง คนรอบตัวล้วนต่อว่าแม่แวน ว่าไม่ห่วงลูกหรือ เป็นสาวเป็นแส้ ไปอาฟริกาทวีปมืดคนผิวดำ ทำไมถึงปล่อยให้ไป

แม่แวนเชื่อใจลูก มั่นใจในตัวลูก ไม่ได้บุ่มบ่ามพรวดพราดไปอย่างไร้เดียงสา แต่ป้าเจนฝัน แม่จึงช่วยโค้ชให้มีทักษะชีวิต เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องประสบบนเส้นทางนั้น ทีมแวน-เจนบ่มเพาะเตรียมตัวกันร่วมสิบปี

คงไม่ต้องสรุปว่าครูที่ดี ที่เป็นไกด์ เป็นเมนทอร์ นั้นเป็นอย่างไร?


กรุงเทพธุรกิจ, พฤศจิกายน 2561

อ้างอิง
  1. ภาพเรื่องจาก : http://www.kgou.org
  2. ภาพปกจาก : https://disqus.com
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share