in on March 30, 2015

แบ่งๆ กันกิน

read |

Views

สามสี่เดือนที่ผ่านมา มีแมววัยหนุ่มแวะเข้ามานั่งเล่นในบ้านหลายครั้งหลายครา สองหนุ่มน้อยที่บ้านจึงเริ่มหาอาหารในครัวมาให้กินตามธรรมเนียมของเจ้าบ้านที่ดี แต่ที่บ้านไม่ค่อยมีอาหารเหลือถึงแมว เพราะผู้เขียนชอบที่จะทำคราวละสองสามอย่างพอทานกันในมื้อนั้นๆ ท้ายที่สุดเด็กๆ ก็เลยมาขอให้แม่ซื้ออาหารแมวมาให้ ซึ่งได้ถูกตั้งชื่ออันแปลได้ตรงตัวว่า “พี่ตระหนก” เพราะพอมีเสียงอะไรนิดอะไรหน่อย แมวหนุ่มตัวนี้ก็มีอาการสะดุ้งหลบทุกครั้ง รวมทั้งยังเป็นแมวที่กล้าๆ กลัวๆ ขนาดที่ว่าชามใส่อาหารที่วางไว้ตรงที่หน้าประตูแต่ถ้าหากไม่มีใครเดินนำทางมาที่จาน พี่ตระหนกก็จะไม่ออกมากิน

Animal foode

หลังจากมีอาหารเลี้ยงแมววางอยู่หน้าบ้าน ก็พอจะเข้าใจแล้วว่า “หัวบันไดบ้านไม่แห้ง” เป็นยังไง อยู่ๆ ก็มีทั้งแขกไม่ได้เชิญหลายชนิดแวะเข้ามาจิกกินอาหารแมวจากชาม ทั้งนกเอี้ยงสาริกา นกกางเขน รวมไปถึงเจ้ากระแตจมูกยาว ที่วิ่งหลบไปหลบมาลองเชิงอยู่หลายครั้ง สุดท้ายก็กล้ามานั่งกินให้เห็นต่อหน้า พ่อบ้านเล่าให้ฟังว่า วันไหนที่ชามว่างเปล่า เจ้ากระแตจะมาส่งเสียงดังที่ลูกกรงประตูเป็นพักๆ ราวๆ กับว่ามาสั่งออเดอร์ให้ต้องเอาอาหารแมวมาเติมให้

ผู้เขียนและครอบครัวไม่แน่ใจว่าทำถูกหรือเปล่าที่ปล่อยให้อาหารแมวกลายเป็นอาหารนก (โชคดีที่นกยังไม่กลายเป็นอาหารแมว แม้ว่าพี่ตระหนกจะดักซุ่มอยู่บ้าง) แต่มองไปรอบๆ แล้ว ในบรรดาบ้านเกือบ 30 หลังคาในซอยนี้ บ้านของผู้เขียนเป็นบ้านที่มีต้นไม้ที่หน้าบ้านมากกว่าบ้านอื่นๆ ที่ส่วนมากจะเปลี่ยนสนามหญ้าบริเวณอันน้อยนิดให้เป็นที่จอดรถ ดังนั้น ต้นมะม่วง ต้นไผ่ และรั้วต้นเข็มจึงกลายเป็นที่พักพิงของสัตว์ในเมืองก๊วนนี้ ชามอาหารแมวจึงกลายเป็นของสาธารณะไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้

นั่งดูเพื่อนต่างสายพันธุ์ที่วนเวียนกันมากินอาหารจากชามเดียวกันแบบนี้นี่มันน่ารักจริงๆ เพราะว่าต่างก็มากินเพื่อความอยู่รอดแบ่งๆ กันไปทั้งสี่เท้าสองเท้า บางครั้งตอนเดินออกจากบ้านเห็นอาหารตกหล่นอยู่บนพื้น 2-3 ชิ้น พอกลับมาอีกทีก็หายไปจากพื้นแล้ว เป็นอันว่าตัวใดตัวหนึ่งในก๊วนนั้นทำหน้าที่เก็บกินทำความสะอาดให้เรียบร้อย

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวเปิดเผยข้อมูลสะท้อนระบบการกินทิ้งกินขว้างของคนเมืองที่มาเลเซียอย่างน่าตกใจ โดยหน่วยงานที่เป็นผู้จัดการเก็บขยะและดูแลความสะอาดพื้นที่สาธารณะ ออกมาให้ข้อมูลว่า ในปี 2014 คนเมืองกินทิ้งกินขว้างอาหารถึงวันละ 8 พันตัน ซึ่งเป็นปริมาณอาหารที่สามารถเลี้ยงคนได้ถึง 6 ล้านคน (เฉลี่ยว่ากินกันวันละ 1.2-1.4 กิโลกรัม) และถ้าหากนำอาหารที่ทิ้งขว้างในแต่ละวันนี้มาวางทับซ้อนกัน ครบ 18 วัน ก็จะสูงเท่าๆ กับตึกแฝด “เปโตรนาส” นั่นเลยทีเดียว

เส้นกราฟของปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งขว้างนี้ มีลักษณะเพิ่มขึ้นแบบ Exponential Growth เพราะในปี 2009 ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งนั่นมีมากเพียง 450 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวในปี 2011 แต่พอมาถึงปี 2014 ยอดกลับทะลุขึ้นไปถึง 8,000 ตันต่อวัน

BarChartWaste

องค์กรอาหารโลก หรือที่รู้กันดีในนามของ FAO ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ในการที่จะผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนทั้งโลกนั้น เราต้องเสียพื้นที่ที่ถือว่าอยู่อาศัยโดยพืชและสัตว์ (และคน) ได้ไปราวๆ 25% ของพื้นที่ และพื้นที่เหล่านั้นก็ได้มาจากการแผ้วถางและราบเตียนผืนป่าไปถึง 80% ของผืนป่าทั้งหมดที่โลกมีให้ ในกระบวนการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารก็ต้องใช้น้ำจืดถึง 70% และระหว่างขั้นตอนทั้งหมดก็ยังมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอีก 30%

จากการที่ต้องเปลี่ยนผืนป่ามาเป็นแหล่งผลิตอาหารให้มนุษย์ จึงกลายเป็นว่าตัวการหลักที่ผลักดันให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้น มาจากการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนบนโลกนี่เอง

โรงแรมในเมืองถือว่าประสบปัญหานี้อย่างหนักหน่วง เพราะต้องจัดบุฟเฟต์อาหารเช้า อาหารกลางวัน และงานเลี้ยงตามโอกาสต่างๆ ที่ลูกค้าสั่งจอง หากจัดอาหารไม่พอก็จะถูกต่อว่า จึงต้องจัดแบบ “เผื่อเหลือ” เพื่อแสดงระดับการบริการอันดีเยี่ยมแม้ว่าจะมีความพยายามของภาคอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีการเพื่อให้หลุมฝังกลบไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการจัดการอาหารที่เหลือทิ้ง เช่นการผลิตเครื่องจักรออกมาเพื่อเปลี่ยนอาหารเหลือทิ้งให้กลายเป็นอินทรีย์วัตถุภายใน 6-12 ชั่วโมง แต่นั่นก็หมายความถึงการที่ต้องสรรหาวัตถุดิบจากโลกมาสร้างเครื่องจักรและหาพลังงานมาใช้เดินเครื่อง

อย่ากระนั้นเลย เริ่มจากตัวเอง ที่บ้านของตัวเองกันก่อน ทำอาหารแต่พอดีทานกันในครัวเรือนหรือหากต้องเป็นแม่งานพ่องานจัดงานเลี้ยงใดๆ ก็ตาม ก็ให้นึกถึงวิธีที่จะบริการอาหารอย่างพอดีๆ ไม่ต้องเผื่เหลือจนเกินไปนัก

เอ.. หรือว่าจะประกาศสโลแกนในเชิงรักโลกก่อนเริ่มงานก็ได้นะ “ตักและทานอาหารแต่พอดีเพื่อโลกของเรา” … เชิญรับประทานได้แล้วค่ะ

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=a-I3Q75y7Ws
  2. ภาพโดย: ก้องทอง ลุดซาร์มี
  3. ภาพจาก: The star - Poskod.MY
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share