in on February 21, 2017

แม่น้ำโขง “ของเรา”

1 min read |

Views

แม้จะไม่ใช่ลูกแม่น้ำโขง แต่ชีวิตการงานและการเดินทางท่องเที่ยวทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสความงามและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้ลืม

ความงาม ความสมบูรณ์เหล่านี้ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้ผู้มาเยือนเเละชื่นชม แต่เพื่อคนริมโขงได้ใช้ประโยชน์ “อยู่กิน” จนก่อเกิดเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีค่าเกินกว่าจะประเมินราคาเป็นตัวเงิน

 

สงกรานต์ปีหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสไปอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หาดทรายริมน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาลถูกแปลงเป็นลานจัดงานสงกรานต์สองฝั่งโขงเชื่อมมิตรภาพคนไทยกับคนลาว เมื่อเดินลัดเลาะไปตามทางเดินริมน้ำ ชาวบ้านเชื้อเชิญให้ลงไปดูปลาขนาดใหญ่น้ำหนักเกือบร้อยกิโลกรัมที่ถูกจับได้และถูกผูกไว้กับเรือลอยตัวอยู่ในน้ำตื้นๆ และแน่นอนว่าหนึ่งในเมนูอาหารที่พลาดไม่ได้คือยำไข่น้ำจากแม่น้ำโขงนั่นเอง

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยพูดคุยกับช่างภาพเก่าแก่ของจังหวัดนครพนมที่ถ่ายภาพหาดทรายหน้าแล้งช่วงอำเภอเมือง จังหวัดนครพนมอันสวยงามจนดึงดูดช่างภาพธรรมชาติจากทั่วโลกมาถ่ายภาพริ้วทรายที่ให้อารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างตามมุมมองและช่วงเวลา นอกจากนี้ผู้เขียนนั่งเรือเล็กๆ ลัดเลาะไปตามร่องน้ำระหว่างแผ่นดินใหญ่กับหาดทรายริมโขงเพื่อดูนกน้ำและนกอพยพจำนวนมหาศาล บนหาดทรายชาวบ้านปลูกผักล้มลุกดูอุดมสมบูรณ์

เมื่อพักที่บ้านพักครูที่ตั้งอยู่บนแหลมเล็กๆ ยื่นออกไปในแม่น้ำโขงในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีและลงไปอาบน้ำโขงให้ความรู้สึกลึกลับและตื่นเต้นยิ่งนัก ยามค่ำบนฟ้าดาวส่องแสงระยิบระยับ ในน้ำปลาเล็กปลาน้อยตอดขาอยู่ตลอดเวลา ชวนจินตนาการถึงตำนานพญานาคแห่งแม่น้ำโขงและเรื่องเล่าในละครเรื่องภูติแม่น้ำโขง ส่วนการนั่งเรือเลาะริมโขงไปยังบริเวณที่เรียกว่าเวินบึกจึงรู้ที่มาของชื่อเรียกว่าเป็นแอ่งน้ำที่ปลาบึกใช้วางไข่ งสรุปได้ว่าในแม่น้ำโขงเต็มไปด้วยสรรพชีวิต

 

ที่แขวงจำปาศักดิ์ สปป. ลาว น้ำตกหลี่ผีและคอนพะเพ็งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้เขียนเคยนั่งเรือขนาดเล็กผ่านเกาะแก่งต่างๆในเขตสี่พันดอน ช่วงหน้าแล้งสองข้างทางที่เรือเล็กผ่าน บางช่วงเป็นโขดหินและน้ำตื้นจนผู้โดยสารต้องพับขากางเกงลงเดินไปบนน้ำที่ลึกระดับแข้งเพื่อลดน้ำหนักเรือและให้เรือผ่านน้ำไปได้ สองข้างทางเต็มไปด้วยเครื่องมือประมงขนาดเล็กแปลกตา ส่วนที่น้ำตกหลี่ผีและคอนพะเพ็งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกไนแองการ่าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมักมีภาพชาวประมงผิวคล้ำแดดเป็นแบคกราวด์ที่มีชีวิตอยู่เสมอ

 

ต่ำลงไปที่โตนเลสาป ประเทศกัมพูชา ผู้เขียนไปโตนเลสาปในช่วงหน้าแล้งที่น้ำแข้งขอด กว่าเรือท่องเที่ยวจะแล่นตามร่องน้ำไปจากเขตโคลนเลนได้ก็ใช้เวลานาน ปริมาณน้ำในทะเลสาปแห่งนี้ขึ้นลงตามฤดูกาล หน้าแล้งน้ำลด ชาวประมงมีความสุขสนุกสนานกับการจับปลา  หน้าฝนมรสุมฝนตกและน้ำจากแม่น้ำโขงเอ่อเข้ามาเติมเต็มทำให้ที่นี่เป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ปลาที่โตนเลสาปไม่ใช่อาหารสำหรับชาวเขมรเท่านั้น ปลาจำนวนมหาศาลจะถูกนำเข้ามาเลี้ยงดูคนไทยอีกด้วย

หากคุณเคยไปโฮจิมินห์หรือไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจคือการล่องเรือดูตลาดน้ำที่เรือขนาดใหญ่ขนผักและผลไม้จากเกาะต่างๆมาค้าขายกันกลางแม่น้ำ และเมื่อแวะเกาะในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะพบเห็นพืชผักผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์เพราะได้รับตะกอนดินที่เป็นธาตุอาหารมาจากตอนเหนือของแม่น้ำโขง

เมื่อไม่นานมานี้นายกรัฐมนตรีออกมาพูดว่า “แม่น้ำโขงไม่ใช่ของเรา” และ “แก่งเป็นแค่หิน” จากประสบการณ์ตรง ผู้เขียนขอเถียงว่าแม่น้ำโขงคือแม่น้ำ “ของเรา” ที่ชาวอุษาคเนย์เป็นเจ้าของร่วมกัน มิใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง และแก่งไม่ใช่เป็นแค่หิน แต่เป็นที่พักที่พึ่งพิงของสัตว์และพืชรวมกันนับพันชนิด เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของคนริมโขง ซึ่งเป็นผู้ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมแห่งอุษาคเนย์ที่มีเอกลักษณ์ยากจะมีลุ่มน้ำใดเสมอเหมือน

การระเบิดแก่งหินกลางแม่น้ำโขงที่บริเวณอำเภอเชียงของ ของประเทศไทยจะทำให้แม่น้ำโขงจะกลายเป็นท่อน้ำขนาดใหญ่ ระบบนิเวศน์ทั้งในน้ำและชายฝั่งไม่เหมาะกับการ “หาอยู่หากิน” ของสัตว์และพืชและคนชายฝั่งอีกต่อไป สิ่งที่ปรากฏอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะสูญหายไปและยากจะกู้คืน

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share