“สิ่งที่ผมแปลกใจมากคือใจกลางมหาสมุทรที่มนุษย์ไม่เคยไปเยือนกลับมีพลาสติกมากกว่าแพลงก์ตอนถึง 6 เท่า ทุกปีึสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนับแสนตัวและนกทะเลอีกนับล้านตัวตายเพราะพลาสติก ผมช็อคมากที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้กำลังจะสูญพันธุ์ และช็อคยิ่งกว่าที่คนในแวดวงนี้บอกว่าการเก็บขยะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้” โบยัน สแลต เด็กหนุ่มชาวดัชน์บอกเล่า
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เขาเป็นนักเรียนมัธยมวัย 17 ปีที่ฮ็อตที่สุดในแวดวงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังการพูดที่เวที TedTalk ว่าเขามีวิธีกำจัดขยะกองมหึมาขนาดใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศส 3 เท่า หรือน้ำหนักประมาณ 80,000 เมตริกตัน
“ชาลร์ส มัวร์ นักวิจัยที่ค้นพบแผ่นขยะในมหาสมุทรแปซิฟิคประมาณการว่าต้องใช้เวลา 79,000 ปีเพื่อจัดการขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ผมเชื่อว่ามหาสมุทรสามารถทำความสะอาดตัวเองในแค่ 5 ปีเท่านั้น”
ขณะที่คนส่วนใหญ่คิดว่าการกำจัดขยะในทะเลทำได้ด้วยการนำเรือและตาข่ายไปดักจับขยะและนำขึ้นมาจัดการบนบก แต่เด็กหนุ่มผู้หลงไหลการดำน้ำอย่างโบยันใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมปลายมาประยุกต์ เขาคิดว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์ และกระแสน้ำสามารถขับเคลื่อนขยะในท้องทะเลไปยังชายฝั่งได้
“ถ้าเราอยากจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ก็ต้องคิดให้แตกต่าง ทำไมต้องลงไปในมหาสมุทร ในเมื่อมหาสมุทรเข้ามาหาคุณได้ ทำไมต้องเอาเรือไปลอยลำแล้วกวาดขยะ แทนที่จะวิ่งตามเก็บพลาสติก คุณก็แค่รอให้พลาสติกลอยเข้ามาหาคุณ โดยไม่ต้องเสียพลังงานอะไรเลย”
แนวคิดนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลการออกแบบเชิงเทคนิคยอดเยี่ยม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ เนเธอร์แลนด์ รางวัล 20 นักธุรกิจรุ่นเยาว์ที่มีอนาคตไกล และรางวัลแชมป์ออฟดิเอิร์ธ ขององค์การสหประชาชาติ
จากนักเรียนมัธยมเมื่อหกปีที่แล้ว วันนี้โบยันกลายเป็นนักศึกษาด้านวิศวกรรมการบิน เขาระดมทุนทางสาธารณะผ่านระบบคลาวด์ได้เงินประมาณ 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพชื่อเดอะ โอเชี่ยน คลีนอัพ (The Ocean Cleanup) ซึ่งมีเขาเป็นซีอีโอ จากนั้นระดมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมนับร้อยคนในการทำความคิดของเขาให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มนักธุรกิจในซิลิคอนวัลเลย์เข้าร่วมลงทุนกว่า 31.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ถ้าเราตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญกว่าเงิน เงินก็จะมา” เขากล่าว
ที่ผู้เขียนหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนอีกครั้งเพราะเมื่อวันที่ 8 กันยายน มีข่าวปรากฎในสื่อทั่วโลกว่าปฏิบัติการจัดการกองขยะในมหาสมุทรแปซิฟิคของโบยันเริ่มต้นขึ้นแล้ว
เครื่องมือชิ้นนี้ประกอบด้วยแนวป้องกัน (แบริเออร์) ยาว 600 เมตร มีชายยาว 3 เมตรแขวนอยู่ใต้น้ำ เมื่อถูกลมและกระแสน้ำพัดจะโค้งเป็นรูปตัวยู พัดให้ขยะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำและใช้เรือลำเลียงนำไปกำจัดบนบกต่อไป ส่วนปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลสามารถว่ายหนีออกทางด้านใต้ชายผ้าได้ โดยคาดว่าจะเก็บขยะได้ปีละประมาณ 50 เมตริกตัน และหากประสบความสำเร็จจะเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น 60 เท่า เพื่อให้เก็บขยะได้ 14,000 ตันต่อปี หรือจะเก็บขยะให้ได้ 50 % ภายใน 5 ปี
ปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปได้และผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มออกมาแสดงความห่วงใยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น เครื่องมือนี้จะทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งปลาและแพลงก์ตอนติดเครื่องมือไปพร้อมขยะ ซึ่งต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด
ผู้เขียนเห็นว่าไม่ว่าปฏิบัติการนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลว สิ่งที่สำคัญคือการที่เขาได้พิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็นว่าการดูแลโลกใบนี้มิใช่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเชิงโครงสร้าง เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคสังคมข่าวสารออนไลน์ล้วนรับรู้ถึงความรุนแรงและเร่งด่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาจะต้องอยู่ร่วมอีกยาวนาน และเมื่อเขารู้สึกมีส่วนร่วม เขาจะมีแนวคิดที่แปลกใหม่ชนิดที่อิจฉริยะในยุคก่อนหน้าต้องอ้าปากค้างเลยทีเดียว
เราคงไม่สามารถเรียกคนรุ่นนี้แบบดูแคลนว่า “เด็กเมื่อวานซืน” ได้อีกต่อไป
เรียบเรียงจาก
https://www.treehugger.com/plastic/ocean-cleanup-about-launch-heres-what-it-faces.html