ท่ามกลางอากาศร้อนเดือนเมษายน 2559 สถานการณ์ชุมชนบ้านไม้ชานกำแพงเมืองป้อมมหากาฬกลับร้อนระอุยิ่งกว่า
ด้วยข่าวการไล่รื้อชุมชนจากทางกรุงเทพมหานคร ขีดเส้นตายให้ชาวชุมชนออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ (ต่อมาภายหลังได้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ และศาลปกครองได้รับคำฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งรื้อย้ายชุมชนของ กทม. ด้วย) เพื่อสร้างสวนสาธารณะ และอนุรักษ์ป้อมและกำแพงพระนครที่เป็นโบราณสถานของชาติ ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ปี พ.ศ. 2535 ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์
ป้อมมหากาฬเป็น 1 ใน 14 ป้อมที่ถูกสร้างขึ้นตลอดแนวกำแพงเมืองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นปราการป้องกันข้าศึกศัตรู ปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นเพียง 2 ป้อมเท่านั้น คือ ป้อมพระสุเมรุ ที่ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะชื่อสวนสันติชัยปราการ ตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ และป้อมมหากาฬ อยู่ติดเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เยื้องกับโลหะปราสาท มีลักษณะเป็นป้อมปราการพร้อมกำแพงเมืองเก่าทอดตัวยาวขนานถนนมหาชัยไปจนถึงคลองหลอดวัดเทพธิดาราม
เมื่อมีหลงเหลืออยู่เพียงนิด ป้อมมหากาฬจึงมีความสำคัญควรค่าแก่การรักษา ซึ่งฝั่งรัฐมองว่า วิธีการอนุรักษ์โบราณสถานที่ดีที่สุดคือการกันคนออกจากพื้นที่ และสร้างสวนสาธารณะให้ทุกคนสามารถเข้ามาชื่นชมได้ใกล้ชิด ทั้งนี้พื้นที่กลางเมืองกรุงเทพฯ ยังขาดพื้นที่สีเขียวเป็นจำนวนมาก หากเทียบกับสัดส่วนประชากร
ส่วนฝั่งชาวชุมชนกลับมองว่าพวกเขาเองไม่ได้ทำให้โบราณสถานทรุดโทรมเสียหาย ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ก็มีมากมาย อายุร่วม 100 ปี มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว อีกทั้งชุมชนนี้ก็เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีบ้านไม้โบราณ มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และมีมรดกทางวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นวิกลิเกพระยาเพชรต้นกำเนิดลิเกแห่งแรกในสยาม ชุมชนทำเครื่องดนตรีไทยโบราณ ชุมชนศิลปหัตถกรรมต่างๆ เช่น กรงนก ฤาษีดัดตนดินเผา สายรัดประคด จึงไม่น่าที่จะรื้อทำลายให้กลายเป็นเพียงสวนสาธารณะทั่วไป
ทั้งนี้หากใครได้เคยเข้าไปเยือนสถานที่จริง จะพบว่าพื้นที่ในชุมชนค่อนข้างปิด เพราะอยู่ระหว่างแนวกำแพงเมืองกับลำคลองคูเมืองขุดไว้ป้องกันข้าศึกศัตรูในสมัยก่อน หากจัดทำเป็นสวนสาธารณะที่มีรูปแบบการจัดการแบบสวนทั่วๆ ไป อาจทำให้บริเวณนี้กลายเป็นที่ลับตาคน (lack of eye on space) เป็นพื้นที่เปลี่ยวและอาจกลายเป็นแหล่งมั่วสุมก่ออาชญากรรมได้
ในความเป็นจริงมีแนวโน้มให้เห็นอยู่บ้างแล้ว เพราะปัจจุบันนี้ พื้นที่หลังแนวกำแพงส่วนที่ติดกับตัวป้อมเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๒ งานได้รับการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว แต่ขาดการบำรุงรักษา มีสภาพทรุดโทรม และเคยเกิดอาชญากรรมหลายครั้งเช่น การชิงทรัพย์ การประทุษร้าย ฆ่าตัวตาย เป็นต้น
แนวคิดการทำสวนสาธารณะแบบเดิมที่เน้นกันคนออกจากพื้นที่ จึงอาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่นี้เท่าไหร่นัก ประเด็นนี้สอดรับกับสถานการณ์ของโลก ที่เรากำลังต้องการทางออกใหม่ๆ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีการรณรงค์กันอย่างแพร่หลาย และนานาประเทศล้วนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ แต่ข้อเท็จจริงคือพื้นที่ป่าทั่วโลกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ลดลงมากถึง 129 ล้านเฮกตาร์ หรือเท่าๆ กับขนาดพื้นที่ของทวีปแอฟริกาใต้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ลำพังการอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาสมดุลระบบนิเวศของโลก เราจำเป็นต้องหาทางออกใหม่ๆ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
สวนสาธารณะแบบเดิมๆ จะสร้างได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพื้นที่ในเมืองถูกใช้ไปกับกิจกรรมที่หลากหลาย ที่ดินกลางเมืองล้วนมีมูลค่าสูงขึ้น หากนำมาทำเป็นสวนสาธารณะแบบเดิม แล้วสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้ โอกาสเกิดพื้นที่สีเขียวก็เป็นไปได้ยากขึ้น ดังกรณี พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณมักกะสัน กลายเป็นทำเลทองที่กลุ่มทุนชิงกันจับจองสร้างเป็นห้างใหญ่ แม้ว่าจะมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะสร้างเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ก็ตาม
แนวคิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบผสมผสานหลากหลายมิติ นอกจากจะช่วยปลดล็อกปัญหาความขาดแคลนพื้นที่สีเขียวในเมืองได้ เมืองจะมีพื้นที่สาธารณะ และเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งของมนุษย์และสรรพสัตว์ด้วยการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ยิ่งไปกว่านั้นการเล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่หลากหลาย มีส่วนในการแก้ไขปัญหาซับซ้อนหลายอย่างในเมือง เช่น การว่างงาน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาพลังงาน เป็นต้น
แนวคิดที่บ้านเราพอได้ยินคุ้นหูกันบ้างแล้ว เช่น การทำฟาร์มเมือง (Urban Farming) การป่าไม้ในเมือง (Urban forestry) ในต่างประเทศมีการพัฒนาไปไกลกว่าการปลูกผักกินเองแบบผักสวนครัวรั้วกินได้ หรือรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมืองเพื่อร่มเงาไปไกลโข หากศึกษาให้ดีจะพบว่ามีเศรษฐกิจสร้างสรรค์เกิดขึ้นมากมายจากการเปิดมิติการพัฒนาในด้านนี้ และบ้านเราก็ทำได้เช่นกันหากภาครัฐมองเห็นความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุน
หากมองมาที่กรณีไล่รื้อชุมชมป้อมมหากาฬที่กำลังเป็นประเด็นระอุนี้ เมื่อพิจารณาข้อเสนอของทางชุมชนที่พร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลงและยินดีช่วยรัฐดูแลรักษาพื้นที่ และถ้ามองตามกระแสโลก พื้นที่นี้น่าจะเป็นโอกาสและเป็นตัวอย่างที่ดีในการเปิดมิติใหม่ของสีเขียวในเมืองที่เชื่อมโยงมิติทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน วิถีชีวิตดั้งเดิมและวัฒนธรรมมาผนวกเข้ากับการรักษาต้นไม้ใหญ่ นอกจากจะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานานกว่า 24 ปี แล้ว ยังน่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกไม่ยาก และที่สำคัญแผนการพัฒนาดังกล่าวมีอยู่แล้วริเริ่มโดยภาครัฐด้วยซ้ำ
ถอยหลังไปเมื่อปี 2548 กทม. โดยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ลงชื่อเซ็นข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับชาวชุมชนป้อมมหากาศและมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อหาทางออกร่วมกัน และได้มีการจัดทำโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ “ป้อมมหากาฬ” จนได้ข้อสรุปว่าควรพัฒนาเป็น “พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิต” ซึ่งได้สำรวจและศึกษาข้อมูลเชิงลึกทั้งทางประวัติศาสตร์ สถาปัตย์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และพัฒนาแผนแม่บทร่วมกับชาวชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วม สะท้อนได้จากการมีประชุมรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์มากถึง 30 ครั้งตลอดการวิจัย อีกทั้งยังได้นำเสนอทางออกทั้งทางระเบียบข้อกฎหมาย และให้รายละเอียดการพัฒนาเชิงรูปธรรมมากพอสมควรในการนำไปใช้จริง
น่าเสียดายว่า เมื่อผลการวิจัยเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ในปี 2549 รัฐบาลไม่ตอบรับแผนดังกล่าวโดยอ้างประเด็นทางกฎหมาย ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าขัดต่อกฎหมายจากวัตถุประสงค์เดิมพื้นที่ป้อมมหากาฬต้องพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานอันได้แก่ “ป้อมและกำแพง” และจัดทำสวนสาธารณะเท่านั้นโดยไม่มีการให้สิทธิแก่การอยู่อาศัย และพยายามบีบให้ กทม. เร่งเดินหน้าไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬต่อไป ทั้งที่หลายๆ โครงการที่ผ่านมา รัฐพร้อมแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการได้
หากยังเชื่อมั่นว่าการกันคนออกจากต้นไม้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ระยะเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ คงเป็นคำตอบ แต่หากเราใจกว้างพอจะขยายกรอบการพัฒนาให้กว้างไกลขึ้น ประเด็นยืดเยื้อในหลายโครงการพัฒนาของรัฐอาจจบลงง่ายดายกว่านี้