“ผมเจ็บปวดทรมานมาก มันกำลังพรากทุกอย่างไปจากผม ผมจะไม่มีวันดีขึ้น…ยาฆ่าหญ้าทำลายชีวิตผม ถ้าผมรู้ว่ามันอันตราย ผมจะไม่มีวันฉีดพ่นมันบนสนามของโรงเรียน…มันผิดจริยธรรม” ดีเวน จอห์นสันอดีตคนงานในโรงเรียนแห่งหนึ่งแถลงต่อศาลซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
จอห์นสันเข้ามาทำงานที่โรงเรียนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เขามีหน้าที่ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าที่สนามโรงเรียน เขาบอกว่าแม้จะสวมเครื่องป้องกันอย่างแน่นหนา แต่ก็มักจะสัมผัสกับราวด์อัพและแรงเยอร์โปรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ไกลโฟเสตทั้งคู่เป็นของมอนซานโต้ เขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเมื่อปีพ.ศ.2557 และเชื่อว่าการสัมผัสกับยาฆ่าหญ้าทำให้เขาป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว…ผิวหนังผุพองเป็นแผลไปทั่วร่างกาย “มันแย่มากทุกจุด” แพทย์บอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่กี่เดือน
ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยเพิ่งอนุญาตให้มีการนำเข้ายาฆ่าหญ้า 3 ชนิดคือพาราควอต และไกลโฟเสตต่อไป เมื่อพฤษภาคมนี้ และบริษัทเบเยอร์เข้าซื้อกิจการมอนซานโต้ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ไกลโฟเสตรายใหญ่ของโลกเมื่อมิถุนายน ก็มีข่าวใหญ่ระดับ “ปรากฎการณ์” ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อผู้พิพากษาแห่งศาลกลางซานฟรานซิสโกรับฟ้องคดีของดีเวน จอห์นสัน ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ผู้พิพากษาอนุญาติให้มีการนำสืบประเด็นความเชื่อมโยงของราวด์อัพกับมะเร็ง และกรณีมอนซานโต้ปกปิดข้อมูลอันตรายและความเสี่ยงต่อสุขภาพของไกลโฟเสต
คดีของจอห์นสันได้รับความสนใจจากทั่วโลกเมื่อผู้พิพากษาอนุญาตให้มีผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวหลายร้อยรายและญาติของผู้ป่วยมะเร็งที่เสียชีวิตไปแล้วสามารถเสนอข้อมูลเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีนี้ได้ และอนุญาตให้นำเสนอเอกสารทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไกลโฟเสต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่ใช้อย่างกว้างขวางที่สุดทั่วโลก โดยในศาลมีการเผยแพร่อีเมลภายในของมอนซานโต้ว่าบริษัทเพิกเฉยคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ และเสาะหา “นักวิทยาศาสตร์ผี” มาวิเคราะห์และเขียนรายงานข้อดีของไกลโฟเสต
การต่อสู้ครั้งนี้ที่มิใช่ต่อสู้ระหว่างภาคประชาชน แต่ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2558 คณะทำงานว่าด้วยการวิจัยเรื่องมะเร็ง (IARC) ขององค์การอนามัยโลกจัดให้ไกลโฟเสตเป็นสารที่ “อาจก่อมะเร็งในมนุษย์” และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค 22 ชนิด เช่น เบาหวาน ความดันสูง อัลไซเมอร์ ซึ่งข้อมูลนี้ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาคดีครั้งนี้ด้วย
ด้านมอนซานโต้ยังคงยืนยันว่าราวด์อัพปลอดภัยและไม่มีความเกี่ยวข้องกับมะเร็ง โดยอ้างร่างการประเมินความเสี่ยงของไกลโฟเซทที่จัดทำโดยองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ที่สรุปว่าไกลโฟเซทไม่ใช่สารก่อมะเร็ง รวมทั้งอ้างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อีกประมาณ 800 ชิ้น
“ผลการศึกษาระบุว่าราวด์อัพปลอดภัย และ “เรารู้สึกเห็นใจทุกคนที่ป่วยเป็นมะเร็ง แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่าไกลโฟเซทไม่ใช่สาเหตุของมะเร็ง” มอนซานโต้เขียนในแถลงการณ์ถึงหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน
ไมเคิล มิลเลอร์ ทนายความคดีนี้กล่าวว่ามอนซานโตไม่ต้องการให้ความจริงเกี่ยวกับราวด์อัพและมะเร็งกลายเป็นเรื่องสาธารณะ “เราจะเปิดโปงว่ามอนซานโต้ทำอย่างไรเพื่อปกปิดความเสี่ยงเกี่ยวกับมะเร็งอันเป็นมลพิษทางวิทยาศาสตร์นี้”
ขณะนี้ยังมีการสืบพยานในคดีนี้และเป็นข่าวเผยแพร่ทางสาธารณะอย่างต่อเนื่อง อนึ่งในสหรัฐอเมริกามีโจทย์ที่ฟ้องร้องว่าการสัมผัสกับราวด์อัพแล้วเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวประมาณ 5,000 คดี อีกคดีหนึ่งจะเริ่มไต่สวนในเดือนตุลาคมนี้
มหากาพย์ไกลโฟเสตในประเทศไทย
-
เมษายน 2560 ที่ประชุมขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงครั้งที่ 4/2560 ที่มีตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย พาณิชย์ อุตสาหกรรม สาธารณสุข และเกษตรฯ มีมติยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิดได้แก่พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และต้องยุติการนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561
-
ตุลาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ดูแลพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีมติให้ใช้พาราควอตในภาคการเกษตรได้ต่อ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
-
ธันวาคม 2560 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอนุมัติให้ต่อทะเบียนใบอนุญาตนำเข้าพาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไฟริฟอสแก่บริษัทเอกชน 4 แห่ง อีก 6 ปี
-
ในปี 2560 มีการนำเข้าสารเคมีข้างต้น 45,000 ตัน ส่วนปี 2559 มีการนำเข้า 31,525 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 50%
-
เพื่อป้องกันการนำเข้าสะสม กรรมาธิการการสาธารณสุข สนช.มีมติเสนอให้รัฐบาลยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต โดยให้มีผลภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1 ธันวาคม 2561
-
23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมมีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการคือพาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเสต แต่ให้จำกัดการใช้แทน โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านเสนอมายังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะประกาศยกเลิกการใช้