in on November 26, 2014

ชีวะตะลุมบอน ประวัติศาสตร์ที่คุ้งบางกะเจ้า

read |

Views

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เล็กๆ เกิดขึ้นที่คุ้งบางกะเจ้า

เป็นประวัติศาสตร์ภาคพลเมือง เมื่อนักชีววิทยาหลายกลุ่มหลากสถาบันจำนวนเกือบ 200 คน และอาสาสมัครอีกราว 150 รวมทั้งหมด 300 กว่าชีวิต มารวมตัวกันลงแขกสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทำงานเข้มข้นแข่งกับเวลา เพราะกำหนดให้หาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ได้มากชนิดที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง

กิจกรรมแบบนี้เรียกว่า BioBlitz (อ่าน ไบ-โอ-บลิซ) คำว่า blitz เดิมทีเป็นศัพท์ทางทหารมะกัน แปลว่าปฏิบัติการจู่โจมสายฟ้าแล็บ เมื่อเอามาเล่นมุขกับงานสำรวจชนิดพันธุ์พืชสัตว์ ซึ่งปกติเป็นงานวิจัยที่ใช้เวลานาน ก็หมายถึงการรวมตัวเป็นกองทัพนักสำรวจออกปฏิบัติการแบบสายฟ้าแล็บ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว

ภาษาไทยเราเลยเรียกว่า “ชีวะตะลุมบอน”

ประเดิมกันที่คุ้งบางกระเจ้าด้วยเหตุผลหลายประการ

คุ้งบางกระเจ้าหรือพื้นที่กระเพาะหมูเป็นปอดเมืองขนาดใหญ่ มองจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นเขียวเด่นโดดขึ้นมาท่ามกลางเมืองสีเทาที่ขยายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา พื้นที่สีเขียวแห่งนี้ผลิตออกซิเจนให้กรุงเทพวันละประมาณ 6 ล้านตัน และเป็นพื้นที่ที่ยังคงธรรมชาติดั้งเดิมอยู่บ้าง เป็นระบบนิเวศสามน้ำค่อนไปทางกร่อยจืดแหล่งสุดท้ายในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นมรดกธรรมชาติที่สำคัญ แถมอยู่ใกล้เมืองเพียงข้ามฝั่งแม่น้ำ แต่กำลังถูกคุกคาม ทั้งจากกฎหมายผังเมืองที่ลดดีกรีการอนุรักษ์ลง เปิดช่องโหว่ให้ธุรกิจอหังสาริมทรัพย์ จากปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเพราะน้ำจืดถูกกักเก็บไว้ต้นน้ำ แถมด้วยน้ำเน่าจากคลองกรุงเทพหลายสายส่งมาเจอปนจากฝั่งตรงข้าม

การตะลุมบอนลงแขกสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพจะช่วยให้เราได้ข้อมูลเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ไม่ค่อยมีการศึกษากัน ขณะเดียวกันก็เป็นการฉายสปอตไลท์มายังพื้นที่แห่งนี้ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของมรดกทางธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์ในขณะปฏิบัติงาน

ทุกคนรู้ดีว่าช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมงในพื้นที่กว้างใหญ่ถึงหมื่นไร่ ไม่สามารถให้ข้อมูลครบถ้วนหรือเฉียดจะครบถ้วนได้ มันเป็นเพียงการแง้มหน้าต่างไม่กี่บาน เผยให้เห็นสังคมชีวิตต่างสายพันธุ์ในพื้นที่นี้

เป่านกหวีดเริ่มแยกย้ายกันออกสำรวจเวลา 10 โมงเช้าวันเสาร์ จำนวนชนิดที่รายงานกันเข้ามาค่อยๆ ไต่ขึ้น จากชีวิตยามกลางวันสู่ชีวิตหากินกลางคืน สู่ชีวิตรุ่งอรุณในเช้าวันใหม่ จนปี๊ดหยุดสำรวจ 10 โมงเช้าวันอาทิตย์ ผลสรุปสุดท้ายได้ยอดสำรวจ 675 ชนิด

ไม่ใช่ตัวเลขที่ต่ำ แต่ก็ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับผลสำรวจไบโอบลิซเมืองฝรั่ง เช่น เซ็นทรัลพาร์คกลางมหานครนิวยอร์คได้ 834 ชนิดในการสำรวจปี 2013 แม้ว่ามันมีขนาดเพียงหนึ่งในห้าของกระเพาะหมู หรือเกลนแฮมพาร์คในไอร์แลนด์ ขนาดเทียบเคียงเซ็นทรัลพาร์ค ทำยอดได้ถึง 1,116 ชนิด เราอยู่ในระบบนิเวศเขตร้อน บ้านเราควรมีชีวิตมากชนิดกว่าบ้านเขา

เคล็ดลับของฝรั่งอยู่ที่จำนวนนักวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ทางชีวะที่สะสมไว้มากกว่าเรา สามารถจำแนกพันธุ์ได้ง่ายอย่างรวดเร็ว ไบโอบลิซล่าสุดที่ซานฟรานซิสโกมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำลงเล่นถึง 350 คน นักศึกษาและอาสาสมัครอีกร่วม 2,000 คน สำรวจแม้กระทั่งจุลินทรีย์

จึงอย่ายึดมั่นกับยอดจำนวนชนิดเท่ากับคุณภาพ ชีวะตะลุมบอน 24 ชั่วโมงครั้งนี้ค้นพบตัวใหม่ๆ และตัวเจ๋งๆ ทีมจุฬาฯ พบไส้เดือนมีปีก Glyphidrilus เป็นรายงานการค้นพบครั้งแรกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และคาดว่าน่าจะเป็นชนิดใหม่ของโลก ซึ่งถ้ายืนยันว่าใช่ ดร.สมศักดิ์ ปัญหาก็ว่าจะให้ชื่อว่า “บางกะเจ้า” ทีม Biotec พบเห็ดราที่ปกติพบแต่ในป่า แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ทีมไลเคนจากมหาลัยรามพบไลเคนที่ไม่เคยพบในกทม.และน่าจะบอกถึงอากาศดี ค้างคาวและนกที่พบจำนวนมากเป็นกลุ่มกินผลไม้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์เช่นกัน ทีม ม.เกษตรค้นพบข้าวป่า และหิ่งห้อยก็ยังพบได้มาก แสดงถึงสภาพแวดล้อมที่ดี

มันเป็นสัญญานที่ดีมาก บ่งบอกว่าคุ้งบางกะเจ้ากระเพาะหมูเป็นแหล่งพักพิงของสรรพชีวิตที่สำคัญมากในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ขณะเดียวกันการสำรวจก็แสดงให้เห็นเทรนด์ที่น่าเป็นห่วง ทีมปลาจากกลุ่ม Siamensis พบปลาบู่รำไพ ซึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหลือแต่ในถิ่นคุ้งบางกะเจ้า แต่จากการติดตามเฝ้าสำรวจพบว่ามีเทรนด์ลดลง เช่นเดียวกับปลาเด่นๆ อีกหลายตัว การสำรวจแพลงตอนก็พบน้ำเสียหรือไม่ค่อยดีในหลายๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณตลาด

ผลสำรวจชีวะตะลุมบอนสามารถนำไปใช้ประเมินแนวทางการอนุรักษ์และออกแบบการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 คิดสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาดให้คนอยู่ได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ทำลายบ้านสัตว์และคุณภาพสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของข้อมูลจริง

แต่งานชีวะตะลุมบอนให้มากกว่าข้อมูล

ความสำคัญของงานนี้คือการรวมตัวของนักวิทยาศาสตร์และอาสาสมัครจากหลากหลายองค์กรและสถาบัน มีมูลนิธิโลกสีเขียวเป็นเจ๊ดันประสานงานจัดการให้เกิดขึ้น โดยใช้ทุนส่วนหนึ่งจาก สสส.ประกอบกับทุนของมูลนิธิฯ เอง แต่ทุนส่วนใหญ่มาจากบุคคลทั้งหมดที่เข้าร่วมลงแรงลงเวลา ให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ขนเครื่องมือกันมาเอง เดินทางกันมาเอง กางเต้นท์ผูกเปลค้างคืนด้วยกัน ทุ่มเทร่วมกันทำงานอย่างสนุกสนาน ไม่มีแบ่งสีแบ่งฝ่ายแบ่งสถาบัน เป็นการร่วมใจร่วมพลังเพื่อส่วนรวมอย่างบริสุทธิ์ใจ นักชีวะรุ่นใหม่ๆ ได้สร้างมิตรภาพร่วมกัน อาสาสมัครและเด็กๆ ได้รับแรงบันดาลใจ ทุกคนบอกว่านึกไม่ถึงว่าจะสนุกอย่างนี้ หลายคนบอกว่าเห็นการรวมใจแล้วถึงกับขนลุก

การรวมพลังตรงนี้แหละที่เป็นประวัติศาสตร์พลเมือง มันเจ๋งกว่าการสร้างสถิติทอดไข่เจียวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และสำคัญไม่น้อยกว่าวีรกรรมคนไทยเก่งสร้างชื่อเสียงโกอินเตอร์

ติดตามสรุปข้อมูลชีวะตะลุมบอนบางกะเจ้าได้ที่เฟซบุ๊คเพจ “BioBlitz 2014 บางกะเจ้า”


กรุงเทพธุรกิจ พฤศจิกายน 2557

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share