in on November 1, 2016

Rewilding ก้าวไปสู่ธรรมชาติในโลกยุคใหม่

read |

Views

เดือนที่แล้ว เราผจญกับการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่กันมากมาย หนึ่งในนั้นคือการตายหมู่ของกระเบนราหูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 50 ตัว พร้อมกับสัตว์น้ำอื่นๆ จำนวนมากจากการปล่อยมลพิษลงน้ำแม่กลอง

มันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่พบอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura chaophraya ตามชื่อแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นสถานที่ค้นพบเพื่อบันทึกทางวิชาการครั้งแรก เป็นมรดกโลกที่คนไทยควรเป็นผู้ปกป้องรักษาและมีความภูมิใจ

การตายของกระเบนราหูน้ำจืดสอดคล้องกับรายงาน Living Planet ฉบับล่าสุดจากกองทุนสัตว์ป่าโลก WWF ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สรุปว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 มาถึงปัจจุบัน ประชากรสัตว์โลกได้หายไปแล้ว 58% และในอีกสามปีข้างหน้า คือเมื่อถึงปี ค.ศ. 2020 ตัวเลขจะไต่ขึ้นไปถึง 67% ถือว่าเกินสองในสามภายในครึ่งศตวรรษ

สาเหตุสำคัญมาจากการทำลายถิ่นอาศัยและมลพิษ การล่ากินไม่เลือกก็เป็นปัญหาใหญ่ ขณะนี้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึง 300 ชนิดกำลังถูกไล่กินจนใกล้สูญพันธุ์

เรากำลังอยู่ท่ามกลางปรากฎการณ์การสูญพันธุ์ขนาดใหญ่ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ดาวเคราะห์โลก

ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกอย่างอุกาบาตชนโลก เช่นเมื่อครั้งไดโนเสาร์ถูกลบกระดาน 65 ล้านปีก่อนแต่มันเกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์

เราได้ผลักดันโลกเข้ามาสู่ยุคใหม่เรียบร้อยแล้ว ชื่อที่เริ่มเรียกติดปากกัน ได้แก่ Age of Anthropocene หรือ “ยุคมนุษย์ครองโลก”

ลักษณะจำเพาะของยุคก็คือพื้นที่ทุกแห่งในโลกล้วนแล้วแต่รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์กันทั้งสิ้น เป็นยุคที่ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเกินเลย 400 ppm เป็นยุคที่กำลังจะไม่มีระบบนิเวศแนวปะการัง เป็นยุคที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพมากมายที่เคยมี

คนจำนวนมากอาจยักไหล่ว่า “แล้วไง” ก็มีปลาทับทิมกิน มีพืชจีเอ็มโอ เราฉลาดจะตายไป เราอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องดัดจริตของคนโลกสวย

นักนิเวศวิทยามักพยายามอธิบายความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อการทำงานอันสลับซับซ้อนของระบบนิเวศ โดยเปรียบเทียบสายพันธุ์ชีวิตต่างๆ กับนานาอาชีพในสังคมบ้าง กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์บ้าง คราวนี้อยากจะขอเปรียบเทียบกับองค์ประกอบต่างๆ ในเมืองใหญ่ ถ้าม้านั่งในสวนลุมฯ หายไปตัวหนึ่งเราก็ไม่รู้สึกอะไร ป้ายระบุซอยหายไปก็ไม่กระทบชีวิตใครอะไรเท่าไหร่แค่หงุดหงิดบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าหายไปหลายๆ ป้ายจะเริ่มมีปัญหา ตลาดหายไป โรงพยาบาลหายไป จะเป็นยังไง

ความหลากหลายทางชีวภาพหายไปเยอะๆ ก็เช่นกัน

ระบบหมุนเวียนแร่ธาตุในทะเลจะล่มไปกับการสูญเสียวาฬ ระบบอาหาร อากาศ ฯลฯ จะเป๋ไปอย่างหนักกับการสูญเสียแนวปะการัง รายละเอียดคงต้องใช้พื้นที่อธิบายมากกว่าในบทความนี้

แต่วันนี้อยากจะพูดถึงอนาคตและความหวัง ไม่ใช่หายนะมืดมน

จริงอยู่ว่าเราต้องมองเห็นปัญหา เพื่อหาทางออก ไม่ใช่เพื่อจมปลักกับความหดหู่  โจทย์ใหญ่ก็คือเราจะอยู่กันอย่างไรในยุคมนุษย์ครองโลก Anthropocene ที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพไปมากมายขนาดนี้?

ที่ผ่านมาเราชอบพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความหมายของศัพท์นี้ตามเจตนารมณ์ของผู้บัญญัติก็ดีอยู่ แต่ตัวคำมันฟังแล้วไม่ชวนฝันเอาเสียเลย ใครมันจะอยากมีชีวิตอยู่เพียงแค่ “ยั่งยืน”? ลองนึกถึงการแต่งงานกับใครสักคน เราตัดสินใจแต่งงานกับคนคนนี้เพียงเพื่อจะประคองชีวิตไปได้เท่านั้นหรือ? อะไรมันจะแห้งเหี่ยวพอแค่พะงาบๆ ขนาดนั้น? เราไม่ได้หวังหรอกหรือว่าชีวิตคู่ของสองเรามันจะชื่นบาน น่าอยู่กว่าชีวิตโสดอิสระตัวคนเดียว เราจะงอกงามไปด้วยกัน เราเอื้อต่อชีวิตกันและกัน

ภาวะชีวิตเจริญงอกงามได้ดีมีศัพท์ภาษาอังกฤษที่ตรงมากว่า “thrive” แทนที่จะพูดถึงความยั่งยืนหรือ sustainability เราจึงน่าคิดถึง thrivability แทน โลกในอนาคตควรเป็นอย่างไรหากชีวิตมนุษย์เราจะ thrive–งอกงามออกดอกออกผลได้สะพรั่ง ในยุคมนุษย์ครองโลก?

ไอ้แค่พออยู่ได้ กินปลาทับทิมกับไก่ซีพีประคองชีวิตนั่นไม่เอาหรอก โคตรซอมบี้

คำตอบส่วนหนึ่งมันชัดเจนมากเราก็ไม่อยู่ตามลำพังน่ะสิ แต่เราจะฟื้นฟูธรรมชาติรอบตัวเรากลับคืนมาให้ได้มากที่สุด ให้ชีวิตที่ยังไม่สูญพันธุ์หายไปสามารถออกลูกออกหลาน ทำหน้าที่ในระบบนิเวศ “thrive” อยู่ร่วมโลกกับเราต่อไปได้

มันหมายความว่าเราไม่เพียงแต่จะต้องรักษาธรรมชาติในเขตอนุรักษ์ระดับประเทศ ตามป่าเขาและทะเล แต่ต้องฟื้นฟูธรรมชาติทุกแห่ง รวมทั้งในเมือง เพราะไม่มีชีวิตมนุษย์ที่ไหนเลยที่จะไม่ต้องพึ่งพิงระบบนิเวศธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

การฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นถิ่นในเมืองจะช่วยให้เมืองเข้มแข็ง ปรับตัวได้กับพลังของธรรมชาติที่เป็นตัวกำกับวิถีชีวิตในถิ่นนั้น เช่น การฟื้นฟูธรรมชาติตลิ่งชายน้ำไม่ได้เพียงแต่คืนบ้านให้สัตว์น้ำวางไข่เลี้ยงลูกอ่อน แต่ยังช่วยบรรเทาน้ำท่วมและบำบัดคุณภาพน้ำ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำโดยเฉพาะในเมืองที่ตั้งฐานบนภูมินิเวศเดิมของที่ลุ่มชุ่มน้ำอย่างกรุงเทพ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมยังช่วยเพิ่มประชากรแมลงปอตัวกำจัดยุงสัตว์ศัตรูหมายเลขหนึ่งของมนุษย์ ยังไม่นับการให้อาหารและแหล่งเรียนรู้ในเมืองให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและสร้างสรรค์ทางออกใหม่ๆ บนฐานของการเกื้อหนุนร่วมกับธรรมชาติต่อไป

สวนสาธารณะยันระเบียงคอนโดของชาวเมืองล้วนมีบทบาทฟื้นฟูชีวิตป่าดั้งเดิมในธรรมชาติกันได้ทั้งนั้น เริ่มต้นด้วยการปลูกพืชพื้นถิ่นเป็นอาหารให้นกและผีเสื้อ ปีกมันกระพือสั่นสะเทือนได้ถึงดวงดาว

แน่นอนว่าลักษณะของธรรมชาติที่อยู่ร่วมกับเราในเมืองในโลกยุคใหม่จะไม่เหมือนกับโลกธรรมชาติก่อนมนุษย์เข้ายึดครอง แต่เราค่อยๆ เรียนรู้ช่วยกันออกแบบได้ ขอเพียงแต่ให้เริ่มลงมือ และหยุดการทำลายล้างแบบเดิมๆ

เราไม่ได้เรียกร้องให้ถอยหลังกลับไปอยู่ถ้ำกับธรรมชาติ แต่เรากำลังบอกว่าหากเราจะก้าวหน้าไปสู่อนาคตที่เอื้อต่อชีวิตเราได้ เราต้องก้าวหน้าไปสู่ธรรมชาติ

Go forward to nature

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายนนี้ มูลนิธิโลกสีเขียวจัดงาน “Rewilding Bangkok: ฟื้นฟูชีวิตป่าเมืองกรุง” ที่หอประชุมศุกรีย์แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยากจะชวนทุกๆ คนมาร่วมฟังและแลกเปลี่ยน มีอะไรเยอะเลยที่เราทุกคนช่วยกันทำได้ ดูรายละเอียดได้ในเฟสบุ๊ค: มูลนิธิโลกสีเขียว หรือเว็บไซต์ http://www.greenworld.or.th

เดือนที่ผ่านมา เราผจญกับการสูญเสียมามากแล้ว และเราจำต้องก้าวสู่ยุคใหม่ ขอให้เรามีความหวัง และก้าวไปข้างหน้าสู่ธรรมชาติด้วยกัน

อ้างอิง
  1. กรุงเทพธุรกิจ, พฤศจิกายน 2559
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share