in on October 6, 2015

กลโกงโฟล์คสวาเกน

read |

Views

เรื่องอื้อฉาวของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกขณะนี้ คือบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีอย่างโฟล์คสวาเกนตบตาชาวโลกด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์ในรถยนต์เครื่องดีเซล เพื่อให้ค่าการปล่อยมลพิษต่ำกว่าความเป็นจริง โดยหาญกล้าโฆษณาว่าดีเซลสะอาด (Clean Diesels)

ในที่สุดโฟล์คสวาเกนก็ออกมายอมรับว่าติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวในรถเครื่องยนต์ดีเซล 11 ล้านคันทั่วโลก เฉพาะในสหรัฐอเมริกาจำนวน 5 แสนคัน ซึ่งคาดว่าจะต้องเสียค่าปรับและชดเชยค่าเสียหายสูงกว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเสียหายนี้ไม่รวมในสหภาพยุโรปที่นิยมใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลมากกว่าสหรัฐอเมริกาและบางประเทศเริ่มออกมาตรวจสอบค่าการปล่อยมลพิษตามสหรัฐอเมริกากันบ้างแล้ว        ว่ากันว่าโฟล์คสวาเกนอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยเงินมหาศาลพอๆ กับการชดเชยค่าเสียหายกรณีประวัติศาสตร์อย่างบ่อน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกของบริษัทบีพี ซึ่งอาจทำให้บริษัทล้มละลายได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังกระทบกับความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมดของเยอรมนีที่สั่งสมชื่อเสียงด้านไว้วางใจได้ เป็นเลิศด้านเทคโนโลยี และวิศวกรรมมานาน

ในเชิงธุรกิจ นอกเหนือจากราคาหุ้นของบริษัทโฟล์คสวาเกนที่ดิ่งลง 1 ใน 3 ภายใน   2 วัน ซึ่งเป็นการลงโทษผู้ถือหุ้นที่เจ็บปวดที่สุด นักเศรษฐศาสตร์กำลังห่วงใยว่ากรณีโฟล์คสวาเกนจะกระทบต่อธุรกิจของเยอรมนีที่มีรายได้และการจ้างงานหลักในอุตสาหกรรมรถยนต์และส่งผลต่อเศรษฐกิจของยุโรปและเศรษฐกิจโลกในที่สุด

ในเชิงสิ่งแวดล้อมสิ่งที่น่าห่วงใยพอกันก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าภาคธุรกิจใช้กระแสตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคเป็นเครื่องมือหาเงินเข้ากระเป๋า และชวนให้ตั้งคำถามต่อว่าสินค้าที่ประกาศตัวว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับเวิลด์คลาสมีความจริงแท้และน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

ต่อให้ไม่มีการเปิดโปงการหลอกลวงครั้งนี้ก็เป็นที่รู้กันในวงการรถยนต์ว่าวิธีการทดสอบการปล่อยค่ามลพิษที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อให้ผ่านค่ามาตรฐานเฉพาะในการทดสอบเท่านั้น โดยทดสอบเฉพาะรถรุ่นก่อนผลิตจริง (Pre-Production) ที่ถูกเตรียมการมาเป็นพิเศษเพื่อการทดสอบที่เรียกว่ารถรุ่นทองหรือ golden vihicles นอกจากนี้ยังกำหนดสภาพการทดสอบเพื่อให้ปลดปล่อยมลพิษน้อยที่สุดซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับการวิ่งจริงในท้องถนน

โดยทั่วไปการทดสอบการปล่อยมลพิษของรถยนต์ในยุโรปจะทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกติดเครื่องนาน        13 นาที ความเร็วเฉลี่ย 12 ไมล์ (19.6 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง  ครั้งที่ 2 ติดเครื่องนาน 7 นาทีความเร็ว 39 ไมล์ (62 กิโลเมตร)ต่อชั่วโมง โดยผู้ผลิตจะถอดที่ปัดน้ำฝน กระจกมองข้าง ยางสำรอง ใช้เทปกาวแปะปิดร่องบริเวณประตูหน้าต่างทั้งหมดเพื่อให้เกิดแรงต้านน้อยที่สุดและปิดแอร์   ดังที่เจมส์ โทมัส แห่ง Emission Analytics กล่าวว่าเป็นการทดสอบแบบ “นิ่งและสั้น”  ไม่มีการนำรถออกวิ่งบนมอเตอร์เวย์หรือเร่งเครื่องในระดับความเร็วที่ขับกันจริงในท้องถนน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการทดสอบการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในรถโฟล์คสวาเกนเครื่องยนต์ดีเซลในสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้การทดสอบที่ใช้เวลาติดเครื่องนานกว่าและเข้มงวดกว่า รวมทั้งการขับรถในเมืองบนมอเตอร์เวย์และการเปิดแอร์ขณะขับรถ ค่าการปล่อยก๊าซจึงสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ทางการกำหนดถึง 40 เท่า ทั้งๆ ที่บริษัทอ้างว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กฏหมายกำหนดและต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับรถยี่ห้ออื่นๆ

ทั้งนี้รายงานของคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแห่งสหราชอาณาจักรที่ตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนนี้ระบุว่าในระหว่างปี 2002-2014 พบว่าตัวเลขการปล่อยก๊าซของรถยนต์นั่งของทางการกับโลกแห่งความเป็นจริงต่างกัน 10-35 %

ผลกระทบต่อเนื่องก็คือภาครัฐและหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งระดับสากลและระดับประเทศ มักใช้ตัวเลขการปลดปล่อยมลพิษในรถยนต์จากบริษัทผู้ผลิตเป็นฐานการคำนวณ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จึงเท่ากับว่าหน่วยงานเหล่านี้ต้องมาคำนวณใหม่ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติจากรถยนต์นั่งคือเท่าไรกันแน่ หากเปรียบเทียบกับตัวเลขการทดสอบรถโฟล์คสวาเกนโดยหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ก็เท่ากับว่าปริมาณมลพิษจะเพิ่มขึ้นอีก 40 เท่าของการทดสอบเดิม และในความเป็นจริงย่อมต้องสูงกว่าหลายเท่า หากคิดจากการขับขี่บนท้องถนนในสภาพจริงที่ย่อมวิ่งเร็วกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นแน่

ในเชิงผู้บริโภคก็ต้องคิดหาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพิจารณาว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นสินค้าจากบริษัทชั้นนำของโลกก็ตาม ในกรณีที่รู้ว่าผู้ผลิตหรือสินค้าใดไม่จริงใจและหลอกลวงจะมีวิธีลงโทษผู้ที่ทรยศต่อความไว้วางใจของพวกเขาอย่างไร

อุทาหรณ์ทิ้งท้ายจากเรื่องนี้ก็คืออย่าลืมตั้งข้อสงสัยในการใช้คำเชิงบวกมาเป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขายหรือเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ เช่นคำว่า “สีเขียว” (green) หรือ “สะอาด” (clean)  ที่ใช้กันเกร่อในขณะนี้ ขณะที่ Clean Diesels ของโฟล์คสวาเกนไม่ได้สะอาดจริง แล้วคุณคิดว่า Clean Coal จะสะอาดจริงดังชื่อหรือไม่…ลองคิดดู

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: http://www.prachachat.net/news_detail.phpnewsid=1442994868
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share