in on November 26, 2015

ควันหลง

read |

Views

นับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ควันไฟที่ถูกพัดพามาจากเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ถล่มสิงคโปร์และมาเลเซียอย่างต่อเนื่องร่วม 2 เดือนซึ่งในปีนี้ถือว่าโดนกระหน่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

จะว่าไป สถานการณ์ควันไฟอันแสนสาหัสปีนี้ มีเหตุผลประกอบอยู่หลายอย่าง อย่างแรกนี่ต้องถือว่าโดนลูกหลงจากอิทธิพลเอลนิโญ  เพราะการเผาถางพื้นที่โดยทั่วไปของอินโดนีเซีย แม้ว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี แต่มาเข้มข้นขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ตรงกับช่วงหน้าแล้งที่ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่นำอากาศร้อนมาจากทะเลทรายของออสเตรเลียมาปกคลุมพื้นที่ที่อยู่เหนือออสเตรเลียขึ้นมา  ซึ่งมาเลเซียฝั่งตะวันตก (คาบสมุทรมลายู) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากควันไฟที่ลอยขึ้นมาจากเกาะสุมาตรา ในขณะที่ควันไฟจากรัฐกลิมันตันของเกาะบอร์เนียว ลอยเข้าไปยังทางรัฐซาราวัคและซาบาห์ จนเป็นเหตุให้กระทรวงศึกษาธิการที่นี่ต้องประกาศหยุดโรงเรียนเป็นระยะๆ ตามความสาหัสของค่าดัชนีมลพิษทางอากาศ (Air Pollution Index: API) ตอนต้นเดือนตุลาคม ในช่วงวันที่เมืองชาห์ อาลาม อันเป็นเมืองหลวงของรัฐสลังงอร์ที่ผู้เขียนอยู่นี้มีค่าดัชนีพุ่งสูงถึง 308 มีประกาศจากทางการให้โรงเรียนกว่า 2,500 แห่งใน 6 รัฐต้องหยุดเรียนไป 4 วัน ทำให้นักเรียนกว่า 1.7 ล้านคนแสดงความดีใจอย่างกลั้นไม่อยู่เนื่องจากมีผลให้เลื่อนการสอบออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ในขณะที่ผู้ปกครองต่างพากันเครียดทั้งจากควันไฟนอกบ้านและบรรยากาศมาคุภายในบ้านเนื่องจากต้องเคี่ยวเข็ญให้ลูกๆอ่านหนังสือเตรียมตัวก่อนสอบอีกรอบหนึ่ง

558000011647904

เหตุผลที่สอง เป็นเรื่องของสถานที่เกิดเหตุ ถ้าหากดูจากแผนที่แสดงป่าพรุบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย คาบสมุทรมลายู และเกาะบอร์เนียวแล้ว (แผนที่)  จะเห็นว่ามีป่าพรุครอบคลุมพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของป่าพรุคือเป็นป่าชุ่มน้ำที่มีซากพืซทับถมอยู่ในชั้นใต้ดิน ถือว่าเป็นคลังเก็บคาร์บอนของโลกที่ดีเยี่ยม เพราะเมื่อกิ่งไม้น้อยใหญ่เหล่านั้นจมอยู่ในน้ำ พวกมันไม่เปิดโอกาสให้จุลินทรีย์ต่างๆ เข้ามาย่อยสลายได้อย่างง่ายดายเหมือนอย่างซากต้นไม้ในป่าร้อนชื้นทั่วไป หากมีการขุดดินพรุขึ้นมา ดินชั้นล่างอาจมีอายุมากถึง 6-7 พันปี แต่ยังไม่ถูกย่อยสลายจนหมดสภาพซากต้นไม้ หากระดับน้ำในพรุลดลงอันเนื่องมาจากสภาวะแห้งแล้ง ก็จะเปิดโอกาสให้ซากพืชเหล่านั้นกลายเป็นเชื้อเพลิงติดไฟได้เป็นอย่างดี และเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดไฟไหม้ การลุกลามของไฟไม่ได้เกิดแต่บนหน้าดินเหมือนอย่างการเผาตอฟางจากการเกี่ยวข้าวของชาวนาในที่ลุ่มภาคกลางของไทย แต่การลุกลามของไฟในพื้นที่ป่าพรุที่แห้งนั้นเกิดขึ้นจากชั้นใต้ดิน ซึ่งยากที่จะควบคุมและรู้อาณาเขตของไฟได้

เหตุผลที่สามที่น่าจะเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมดก็คือ การที่เราเรียกพื้นที่ป่าพรุว่า ป่าความจริงแล้วป่าพรุไม่ควรถูกจัดว่าเป็นป่าบนดิน แต่ควรจะถูกจัดว่าเป็นทะเลสาบหรือเป็นบึงแทนที่จะเรียกด้วยภาษาสากลว่า Peatland เราก็ควรจะเรียกมันว่า Peatlake และไม่ใช้ประโยชน์ในฐานะที่เป็นที่ดินทำกิน แต่จัดให้เป็นแหล่งน้ำที่เป็นถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์ เหมือนกับที่เราเห็นความสำคัญของบึงบอระเพ็ด และทะเลสาบต่างๆ

558000011647902

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการผันน้ำออกจากป่าพรุเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อื่นเมื่อนั้นคุณสมบัติของป่าพรุก็จะเปลี่ยนจากแหล่งกักเก็บคาร์บอนไปเป็นพื้นที่เกือบไร้ประโยชน์มีราคาถูกเหมาะแก่การกว้านซื้อมาลงทุนปลูกพืชและในการเตรียมพื้นที่ก็ไม่สามารถใช้รถไถหรือรถแบ็คโฮเข้าไปผลักต้นไม้ให้ล้มลงอย่างที่ทำกันในป่าทั่วๆไปได้เพราะดินที่หยุบๆหยวบๆของป่าพรุไม่สามารถจะรับน้ำหนักของรถหรือเครื่องจักรขนาดใหญ่น้ำหนักมากเหล่านั้นได้

งั้นวิธีใดจะเหมาะสมที่สุดหล่ะถ้าไม่ใช่การถางและจุดไฟเผาหลังจากผันน้ำออกจากพื้นที่แล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่มีต้นทุนการดำเนินการต่ำและง่ายที่สุดในการเคลียร์พื้นที่เพื่อเตรียมดินในการเพาะปลูก โชคร้ายที่ผลกระทบของการกระทำดังกล่าว มีมูลค่ามากมายมหาศาลที่ไม่อาจจะคิดออกมาเป็นตัวเลขกลมๆ ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งขนาดใหญ่และเล็ก งบประมาณจำนวนมหาศาลทั้งจากภาครัฐและกระเป๋าส่วนบุคคลถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่เกิดกับทางเดินระบบหายใจ ส่วนการเพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กลางแจ้ง เช่น การก่อสร้าง การขนส่ง นั้นก็ไม่ต้องพูดถึง คนงานก่อสร้างต่อให้แข็งแรงบึกบึนแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มกำลังระหว่างที่ต้องสูดอากาศที่เป็นพิษเข้าไป

9Singapore(3)

ที่ถูกมองข้ามมากที่สุดก็เห็นจะเป็นบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจและร้านค้ากลางแจ้งเช่นแผงลอยร้านขายอาหารกลางแจ้งตลาดนัดตามถนนซึ่งจำนวนคนออกจากบ้านมาใช้บริการนั้นลดลงอย่างฮวบฮาบเพราะไม่มีใครอยากออกมาสูดดมควันเคล้าน้ำแกง

ปีหน้าจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ตอนนี้ ที่มาเลเซียกำลังเข้าสู่หน้าฝนที่มากับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พามวลอากาศจากประเทศจีนและทะเลแปซิฟิคตอนเหนือลงมากระหน่ำให้รู้สึกโล่งปอดโล่งจมูกจันทร์เจ้าเอ๋ย พระอาทิตย์เจ้าขาไม่ได้เห็นหน้ามาร่วมสองเดือน แหมคิดถึงเหลือเกิน

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: https://pixabay.com/
  2. ภาพจาก: http://www.manager.co.th/
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share