in on March 13, 2017

ต้นไม้ในซอยเป็นของชุมชน

read |

Views

อาทิตย์ที่แล้วเป็นอาทิตย์ของการปกป้องต้นไม้ในซอย

วันเดียวกับที่มีข่าวลุงอู๊ดปีนขึ้นไปนั่งบนยอดต้นไม้ใหญ่ในซอย ประท้วงไม่ให้กทม.ตัด หลังจากตัดไปแล้วสองต้นในวันที่ลุงอู๊ดไม่อยู่บ้าน เพื่อ “ปรับปรุง” ซอย ซอยเราก็เจอศึกเดียวกัน

จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นศึกคุกคามต้นไม้ในซอยเราภาค 2

ภาคแรกเกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน ตอนนั้น กทม.มีแผนจะเข้ามาตัดต้นไม้ทั้งหมดในซอย เพื่อ “วางท่อระบายน้ำใหม่และปรับปรุงซอยให้สวยงาม” ตามที่ได้จัดการกับซอยอื่นๆ ในละแวกนั้น หลายซอยที่เคยมีคูน้ำและจามจุรีขนาดใหญ่เรียงรายร่มรื่น ก็แปรเปลี่ยนไปเป็น ถนนปูนร้อนๆ ขยายกว้างขึ้นติดแนวรั้วบ้าน โดยปลูกแนวไม้พุ่มเตี้ยๆ เป็นระเบียบเรียบร้อย ทดแทนพอให้สีเขียว แต่ไร้ร่มเงา

แต่ซอยเราน้ำไม่ท่วม และหากจะปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำใหม่ ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องทำตรงแนวต้นไม้ ท่อระบายใต้ดินออกแบบให้อยู่ตรงกลางถนนก็ได้

บังเอิญบ้านในซอยรู้จักกันหมด หลายบ้านเป็นญาติกัน เมื่อกทม.จะเข้ามาตัดต้นไม้ที่ทุกบ้านต่างปลูกกันไว้คนละต้นสองต้นมาเนิ่นนานหน้าบ้านตัวเอง ชาวซอยก็โทรศัพท์แจ้งข่าวกัน และพากันเดินออกมาล้อมคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ขอไม่ให้ตัด แต่กทม.อ้างว่าได้เซ็นสัญญาจัดจ้างโครงการไปแล้ว ต้องดำเนินการ

เราจึงลุกขึ้นบวชต้นไม้ทั้งซอย และบังเอิญเป็นจังหวะที่ผู้ว่าอภิรักษ์กำลังจะออกนโยบายต้านภาวะโลกร้อน เมื่อเรื่องถึงผู้ว่าอภิรักษ์ ก็มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการไปได้

เมื่อกลายเป็นซอยเงียบซอยเดียวในละแวกที่ยังร่มรื่นอยู่ ซอยเราจึงกลายเป็นที่ที่ผู้คนแถวนั้นเข็นรถเด็กจูงหมามาเดินเล่น นกมากมายหลายชนิดใช้เป็นแหล่งอาศัยหลบภัย เราไม่ได้มีแค่นกตีทอง นกขมิ้น นกอีวาบตั๊กแตน แต่ยังเคยมีนกแซวสวรรค์หางยาวแวะเวียนมาด้วย

แต่มันก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อคนเริ่มขายที่ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นธรรมดาชีวิต

ตลอดสิบปีที่ผ่านมาบ้านที่ยังคงอยู่ต้องเจอกับการก่อสร้างคอนโดรอบทิศ ทั้งในซอยติดกันและในซอยเราเอง

ที่น่าสังเกตคือคอนโดทั้งหมดใช้พื้นที่เต็มพิกัด ถ้าไม่ยัดอาคารใช้สอยจนแน่นเต็ม ก็ดาดทางปูนให้รถยนต์ ต้นไม้ใหญ่ที่เคยปลูกไว้ริมรั้วแต่อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลถูกตัดหมด อย่างดีก็เปลี่ยนเป็นไม้พุ่มริมรั้ว อย่างเลวก็เหลือแต่กำแพงคอนกรีต

ถนนหนทางก็ร้อนขึ้นๆ ทุกที

ในตัวซอยเรามันเริ่มที่ตรงปากซอยด้วย The Address ของ AP และวันนี้ลุกลามเข้ามากลางซอย ไม่ติดป้ายว่าเป็นของใคร แต่รู้ว่าเป็นโครงการเรสสิเด้นท์ให้เช่าของ บริษัทปิยะสมบัติแลนด์ จำกัด สร้างเป็นอาคารใหญ่ติดแนวที่ ซึ่งมีต้นชมพูพันธ์ุทิพย์ใหญ่ขึ้นอยู่หน้าที่ดินในพื้นที่สาธารณะของตัวซอย

ต้นไม้ต้นนี้น้าของเรา น้องสาวคนสุดท้องของแม่เป็นคนปลูกไว้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ น้าจะตื่นแต่เช้าตรู่มานั่งรอใส่บาตรพระที่ม้านั่งหน้าบ้าน ช่วงฤดูร้อนดอกไม้บาน ก็ได้ชื่นชมดอกสีชมพูร่วงหล่นตามสายลมโปรยปรายอยู่ตรงหน้า น้าตายไปเมื่อปีที่แล้วแต่สามีและลูกหลานก็ยังได้เห็นต้นไม้ต้นนี้ยืนทักทายอยู่หน้าบ้าน

คอนโดเรสสิเด้นท์นี้สร้างอาคารจอดรถติดกับต้นไม้ต้นนี้ มีทางลาดขับขึ้นไป เขาก็ก่อสร้างมาจวนจะเสร็จแล้ว เราก็อดทนกับการก่อสร้างกันไป แม้มันจะไม่น่าอภิรมย์ดังเช่นอาคารจอดรถทั่วไป แต่อย่างน้อยก็พอมีต้นไม้ใหญ่บังอยู่

แต่แล้วอยู่ๆ คอนโดนี้ก็มาขอตัดต้นไม้ทิ้ง

จริงๆ เขาไปขอทางกทม. เพราะรู้ว่าต้นไม้ขึ้นอยู่ในที่สาธารณะ แต่ทางกทม.ที่ผ่านประสบการณ์กับชุมชนในซอยนี้มาเมื่อสิบปีก่อน ก็บอกให้ไปเจรจากับชุมชนในซอยเอาเอง

เขาก็มาเจรจา อ้างว่ามันไม่ปลอดภัย รถต้องเข้าออก ต้นไม้อยู่ใกล้เกินไป

นับว่าเป็นการดำเนินการแบบมัดมือชก สร้างจนจะเสร็จแล้วจึงมาขอตัดต้นไม้ ทั้งๆ ที่ตอนออกแบบก็เห็นต้นไม้อยู่ แทนที่จะปรับแบบให้สอดคล้องกับต้นไม้ กลับดันทุรังสร้าง โดยหวังตัดทีหลัง แถมมาแอบเทปูนรัดโคนต้นไม้ แล้วบอกเราว่าอีกไม่นานมันก็ตาย

เราจึงไม่ยอม เพราะเห็นอยู่ว่ารถเข้าออกได้ เพียงแต่แล่นปรู๊ดปร๊าดปาดซ้ายขวามั่วไม่ได้ ซึ่งก็ถูกแล้ว ถนนในซอยจะขับเร็วได้อย่างไร

ถ้าว่าตามหลักการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ในยุคโลกโคตรร้อน นอกจากคอนโดจะตัดต้นไม้เดิมในที่สาธารณะทิ้งไม่ได้แล้ว เขายังจะต้องรับผิดชอบต่อการเพิ่มอุณหภูมิในซอย โดยหาวิธีรักษาอุณหภูมิให้คงเดิมหรือทำให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งก็หนีไม่พ้นการปลูกต้นไม้ใหญ่เพิ่มเติมเสริมขึ้นมา เพื่อบรรเทาความร้อนผ่าวจากผิวปูนที่ก่อขึ้น ถ้าจะมีการตัดต้นไม้เดิม ก็จะต้องรอให้ต้นใหม่เติบโตให้ความร่มเย็นได้เท่ากันหรือมากกว่าเสียก่อน ในหลักสากลยุคใหม่ หลายเมืองนอกจากจะมีกฎหมายห้ามตัดต้นไม้เดิมแล้ว ยังต้องปลูกเพิ่มเพื่อบรรเทาความร้อนอีกด้วย เขาจะมีการวัดรังสีความร้อนออกมาเป็นผังอุณหภูมิ urban heat island (UHI) เป็นฐานในการพัฒนาพื้นที่แต่ละแห่ง

บ้านเมืองเรายังคงสวนทางกับกระแสการพัฒนายั่งยืนภายใต้วิกฤตสิ่งแวดล้อม เหล่าคอนโดไม่เคยคิดให้อะไรแก่ส่วนรวมเลย มีแต่โยนภาระแก่ชุมชนรอบข้าง ไหนจะรถติด ปล่อยมลภาวะหลายรูปแบบ ดาดปูนก่อคอนกรีตเต็มพื้นที่ แผ่ความร้อนสุดๆ แล้ว ยังจะอยากตัดต้นไม้สาธารณะเอื้อความสะดวกต่อรถยนต์ตัวเอง ทั้งๆ ที่หากินกับความสวยงามร่มรื่นของซอยเรา

มันสวย เพราะทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้ให้ส่วนรวม

เราบวชต้นไม้ของน้ากันอีกครั้ง และได้เรียกร้องให้กระเทาะปูนรอบต้นไม้ออก ก็ลุ้นอยู่ว่าเขาจะทำอย่างไรต่อ แต่เมื่อเย็นวันที่นั่งเขียนบทความนี้ เขาก็ได้กระเทาะปูนออก

ต้องขอขอบคุณที่รับฟัง และยังหวังต่อไปว่าเขาจะเลิกคิดตัดต้นไม้

ถ้าเราเป็นเจ้าของโครงการคอนโด เราจะปลูกต้นไม้เพิ่ม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และไมตรีจิตต่อเพื่อนบ้านในซอยที่เขาเข้ามาอยู่ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ

สุดท้าย ขอเป็นกำลังใจให้กับชาวซอยทั่วกรุงที่กำลังประสบปัญหาชะตากรรมเดียวกัน อยากบอกว่าถ้ารวมตัวกันหลายบ้าน เราจะปกป้องต้นไม้ส่วนรวมไว้ได้

มันเป็นสิทธิของเรา

กรุงเทพธุรกิจ, มีนาคม 2560

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share