ถามจริงๆ เมื่อได้ยินคำว่า “สิ่งแวดล้อม” คุณนึกถึงอะไร?
ถามนักเรียนจะได้คำตอบว่าคือสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตรอบตัวเรา ถามคนทั่วไป แว็บแรกก็นึกถึงอากาศ น้ำ อุณหภูมิ การจัดการของเสียและขยะ
ทั้งสองคำตอบไม่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น กระตุ้นจินตนาการ
มันน่าเบื่อ เช่นเดียวกับคำว่าความยั่งยืน
ในหนังสือ How to Raise a Wild Child สก็อต แซมสันตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเราตกหลุมรักกับคนคนหนึ่ง ขอแต่งงานด้วย เราไม่คิดว่าเราจะมีชีวิตที่แค่ยั่งยืนไปด้วยกัน ไม่ได้จะแค่ประคองกันไป จืดๆ ชืดๆ รอดตายด้วยความรอบคอบเก็บเงินออม ปลอดภัยอย่างซังกะตาย แต่เราเต็มไปด้วยปิติและความหวัง หนึ่งบวกหนึ่งไม่ใช่แค่สอง เราจะงอกงามเบิกบานไปด้วยกัน
แล้วทำไมเมื่อเรารักธรรมชาติเต็มหัวใจ ไม่ได้เห็นมันเป็นแค่ “สิ่ง” และ “ของ” แต่เรากลับบอกคนอื่นว่า “เราต้องจัดการสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน” ไร้ซึ่งแรงบันดาลใจใดๆ
เราต้องหาคำที่ให้ความหวัง เร้าใจกับความเป็นไปได้ในอนาคต งานวิจัยเล็กๆ หลายชิ้นกำลังชี้ให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่มีอาการจิตตกกับภาพอนาคตโลกเสื่อม จนไม่อยากจะทำอะไร
นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการถูกฝึกให้ใช้ภาษาในมุมมองภววิสัย (objective) มีความหมายใช้งานตามวัตถุประสงค์ ไม่เจือปนอารมณ์หรือมุมมองส่วนตัว เพื่อลดอคติ แต่เมื่อนำมาใช้ในการสื่อสารทั่วไปนอกแวดวงวิชาการ มันขาดหัวใจ
แต่มันไม่ได้แปลว่านักวิทยาศาสตร์ไม่มีหัวใจ นักธรรมชาติวิทยาที่ทำงานจริงจังล้วนรักและพิศวงในธรรมชาติและชีวิตที่เขาศึกษา มันเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเติบโตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์
และแท้จริงแล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสอนุรักษ์ในสังคมยุคสมัยใหม่ ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ พื้นที่ชนบทเริ่มถูกทำลายแปรเปลี่ยนไปเป็นแหล่งอุตสาหกรรม แนวคิดแบบตรรกะของยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) กำลังเบ่งบาน จึงเกิดกระแสต้านในหมู่ศิลปินที่ให้คุณค่าแก่ความรู้สึก กลายเป็นกระแสโรแมนติก (Romanticism) โดดเด่นที่สุดคือยอดกวีวิลเลี่ยม เวิร์ดส์เวิร์ธ สร้างแรงบันดาลใจให้คนชื่นชมรักธรรมชาติ จนเริ่มเกิดเป็นกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ
แต่การพร่ำพรรณาความรักธรรมชาติก็ถูกเหยียดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อโลกมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น การอนุรักษ์ธรรมชาติจึงหันมาใช้ภาษาของเศรษฐศาสตร์ ความงดงามและความอุดมสมบูรณ์กลายเป็น “ทรัพยากรธรรมชาติ” และเมื่อเราต้องการให้สังคมคำนึงถึงคุณค่าของธรรมชาติที่เกื้อหนุนชีวิตเรามากกว่าการสกัดวัสดุวัตถุดิบมาใช้โดยตรง เราก็ประดิษฐ์คำว่า “นิเวศบริการ” ขึ้นมา เป็นอาชีพสายบริการให้แก่มนุษย์ มนุษย์ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางเสมอ
แต่มันไม่พอ กลไกและผลผลิตทั้งหมดต้องแปลเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ หนังสือเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเล่มแรก Blueprint for the Green Economy –พิมพ์เขียวเศรษฐกิจสีเขียว โดย เดวิด เพียซ เล่มเล็กขนาดพ็อคเก็ตบุค บางเพียงหนึ่งเซนติเมตร ออกมาในปี 1989 หลังผู้เขียนจบปริญญาตรีไปหลายปี แต่ถึงรุ่นหลานเข้าเรียนปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์เขียวกลายเป็นคอร์สปริญญาตรีทั้งใบ ปัจจุบันเราพยายามหาวิธีตีค่าทุกสิ่งที่ธรรมชาติให้เราเป็นเม็ดเงิน ทำบัญชีเขียว ปฏิรูปการคลังเขียว ทำจีดีพีเขียว
ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องจำเป็น และฉันตื่นเต้นดีใจที่มีคนทำเรื่องเหล่านี้ เราต้องพูดภาษาเดียวกับผู้มีอำนาจ โน้มน้าวสังคมบริโภคที่ตัดสัมพันธ์ขาดไปแล้วจากธรรมชาติ
แต่ถ้าจะให้สังคมปรับกระบวนทัศน์และวัฒนธรรม เราต้องให้เขาเรียนภาษาเราด้วย
ขณะนี้เรามีสภาพไม่ต่างจากอารยธรรมใต้การปกครองของมหาอำนาจอาณานิคมแห่งเม็ดเงิน เราจึงเรียนภาษาเขาเพื่อสื่อสารต่อรองกับเขา แต่ตราบใดที่เราพูดแต่ภาษาของเขา ค่านิยมของเขาก็ยังเป็นใหญ่เหนือเรา และส่งทอดต่อลูกหลานรุ่นต่อไป
การร่วมมือกับเศรษฐศาสตร์ช่วยทำให้การประกอบการรับผิดชอบมากขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น เก๋ไก๋ขึ้น แต่จิตวิญญานของเราไม่ได้ส่งทอดต่อไปด้วย
มหาตมาคานธีไม่ได้ขับเคลื่อนอินเดียจนได้เอกราชคืนจากอังกฤษด้วยความรู้ภาษาอังกฤษและวิธีคิดแบบอังกฤษเพียงอย่างเดียว เขาสร้างความหมายใหม่จากรากวัฒนธรรมของอินเดีย คั้นเอาหัวใจที่เป็นสัจธรรมสากล โดนใจผู้คนทั่วโลก อหิงสากลายเป็นคำหมุนโลกทรงพลัง
เมื่อเจมส์ เลิฟล็อคพัฒนาทฤษฎีโลกมีชีวิตด้วยปฏิสัมพันธ์กับความหลากหลายทางชีวภาพ ในทีแรกเขาเรียกมันว่า “ทฤษฎีการป้อนกลับของโลก” (Earth Feedback Hypothesis) แต่บังเอิญเขามีเพื่อนบ้านเป็นนักเขียนชื่อดัง วิลเลี่ยม โกลดิ้ง ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โกลดิ้งเสนอให้ใช้ชื่อกาย่า พระแม่ธรณีของเทวตำนานกรีกโบราณ เมื่อสื่อออกไปสู่สาธารณะ ทฤษฎีนี้จึงให้ความหมายได้ทันที แม้ผู้ฟังจำนวนมากจะไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการทางเคมีต่างๆ ที่เขาอธิบายก็ตาม มันเป็นชื่อที่ปลุกเร้าจินตนาการในมิติที่คำบรรยายวิทยาศาสตร์ไปไม่ถึง
ถ้าเราจะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างคนยุคใหม่กับธรรมชาติ เราจำเป็นต้องสร้างคำที่ไม่มองบ้านของเราและชีวิตร่วมโลกเป็นเพียง “สิ่ง” และ “ของ” แวดล้อม เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตเหมือนเฟอร์นิเจอร์อิเกีย และเราต้องคิดคำใหม่ที่ให้มิติของความหวังในอนาคตได้มากกว่าคำว่า “ยั่งยืน”
ในสังคมภาษาอังกฤษ เริ่มมีการเสนอให้ใช้คำว่า “thrivability” แทน “sustainability” งอกงามย่อมดีกว่าแค่ยั่งยืน แต่ต้องหาคำที่ไม่ทำให้เรานึกเห็นภาพถั่วงอก
เราต้องการสื่อถึงความน่าพิศวง น่าอัศจรรย์ ความวิเศษของธรรมชาติ มิติที่ขับเคลื่อนเรา เติมเต็มหัวใจเรา เพราะนั่นคือสิ่งที่เรารู้สึกในใจ แม้ปากจะพูดภาษาเอาใจเศรษฐศาสตร์
เราต้องไม่เขินอายกับมุมมองโลกสวย เพราะโลกมันงดงาม หรือใครอยากจะอยู่ในโลกน่าเกลียดน่าเบื่อ?
ขณะเดียวกัน มันต้องไม่สวยน่อมแน้ม สะดีดสะดิ้ง ดัดจริต มันควรมีพลังที่จะแตะหัวใจ
คำเป็นสิ่งประดิษฐ์ทรงพลังของมนุษย์ เราทำร้ายคนได้ด้วยคำ เราเยียวยาคนได้ด้วยคำ เราเปลี่ยนโลกได้ด้วยคำ ถ้าคำนั้นสะกิดใจ
ประโยคแรกในคัมภีไบเบิ้ลแถลงว่า “In the Beginning was the Word” — ในตอนต้นคือคำ คำนั้นคือพระเจ้า ในวิทยาศาสตร์มันคือบิ๊กแบง ในฮินดูมันคือโอม
มาช่วยกันสร้างคำขยับคนให้ธรรมชาติกันเถอะ
กรุงเทพธุรกิจ, กันยายน 2560