in on September 4, 2017

หญ้าสาบหมาและกวางผาเชียงดาว

read |

Views

แม้จะเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์มานานแล้ว แต่ผู้เขียนพึ่งเคยอ่านหนังสือชื่อ Rabbit-Proof Fence หรือ รั้วกันกระต่าย หนังสือที่เล่าการผจญเผ่าของเด็กลูกครึ่งระหว่างคนพื้นเมืองออสเตรเลียกับคนผิวขาวที่ถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำสำหรับเด็กลูกครึ่งในพื้นที่ห่างไกล เด็กสามคนหนีจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งเพื่อกลับบ้านในเขตทะเลทราย โดยเดินตามรั้วที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อป้องกันกระต่ายข้ามจากฟากตะวันตกของประเทศไปยังอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นที่เกษตร  แนวรั้วทอดยาวจากเหนือจดใต้ระยะทาง 1,834 กิโลเมตร

หนังสือเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว แต่เป็นพืชและสัตว์ต่างถิ่น กระต่ายเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ชาวผิวขาวนำจากยุโรปสู่ออสเตรเลียเพื่อกีฬาล่าสัตว์ จากกีฬาแสนสนุกกลายเป็นความทุกข์ของประเทศ เมื่อกระต่ายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วเกินควบคุม กัดกินหญ้าและพืชพรรณธัญญาหารจนทำให้บางพื้นที่กลายเป็นที่แห้งแล้งและพื้นที่เกษตรเสียหาย ทว่ารั้วอันยาวเหยียดและแข็งแรงไม่สามารถป้องกันกระต่ายได้เพราะมันแพร่พันธุ์ไปยังอีกฝั่งก่อนสร้างรั้วเสร็จเสียอีก

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีมาแล้ว กลับมาที่บ้านเราในยุคปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันนึกถึงการเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวเพื่อเก็บขยะในช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยวเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ฉันเดินผ่านดงหญ้าอันหนาทึบที่กำลังออกดอกสีขาวบานสะพรั่งและไหวลู่ลมดูสวยงามราวกับฉากในมิวสิกวิดีโอจนฉันอดใจไม่ไหวต้องถ่ายรูปมาโชว์

คนนำทางบอกฉันว่านั่นคือหญ้าสาบหมา พืชต่างถิ่นที่เพิ่งมาถึงดอยเชียงดาวเมื่อไม่นานมานี้ และเห็นการแพร่กระจายชัดเจนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การแพร่กระจายเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องด้วยเมื่อดอกสีขาวที่อัดแน่นไปด้วยเมล็ดพันธุ์แห้งลง สายลมจะพัดพาเมล็ดพันธุ์จำนวนมหาศาลฟุ้งกระจายไปทั่วสารทิศ พร้อมจะเติบโตเมื่อพบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

การแพร่กระจายของหญ้าสาบหมาทั้งรุกรานและปิดกั้นโอกาสเติบโตของพืชท้องถิ่น ที่เป็นเช่นนี้เพราะลำต้นของหญ้าสาบหมามีสารแอลลิโอพาธิคในระดับสูง จากการศึกษาสารแอลลิโอพาธิคกับพืช 19 ชนิด พบว่าสารแอลแอลลิโอพาธิคจากหญ้าสาบหมาเพียง 1 กรัม มีผลยับยั้งการงอกของเมล็ดพันธุ์ทั้ง 19 ชนิด และส่งผลต่อการเจริญของรากและลำต้นของพืชทดสอบจำนวน 12 ชนิด จาก 19 ชนิด ด้วยเหตุนี้จึงน่าเป็นห่วงว่าหญ้าสาบหมาจะรุกรานพืชเฉพาะถิ่นไปเสียหมด

มิเพียงส่งผลเสียต่อพืชเท่านั้น ที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ฮาวาย สหรัฐอเมริกาเคยมีรายงานการระบาดของหญ้าสาบหมา และพบว่าม้าที่กินต้นหญ้าสาบหมาป่วยเป็นโรคปอดเรื้อรังและล้มตายยกฟาร์มมาแล้ว  ขณะที่บนดอยหลวงเชียงดาวก็มีสัตว์กีบอย่างกวางผาอยู่อาศัย ซึ่งสัตว์สงวนอย่างกวางผาอาจประสบชะตากรรมเดียวกับม้าเหล่านั้นก็ได้

ขณะที่โลกไร้พรมแดนทำให้พืชและสัตว์ต่างถิ่นเดินทางมาสู่เมืองไทยมากขึ้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ สิ่งที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและสังคมควรตระหนักคือการรับมือด้วยวิธีการสืบหาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนการแพร่กระจายออกสู่ธรรมชาติ ซึ่งกรณีหญ้าสาบหมา ไม่มีใครบอกได้ว่าความรุนแรงของการแพร่ระบาดอยู่ในระดับใด  เนื่องจากยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจังว่าหญ้าสาบหมาแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด

เมื่อเปรียบเทียบกับพืชต่างถิ่นรุกรานชนิดอื่นๆ เช่น ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ หรือหญ้าสาบเสือ ดูเหมือนหญ้าสาบหมาจะยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทย เรารู้เพียงแต่ว่าหญ้าสาบหมาขยายพันธุ์ในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500-600 เมตร (ขณะที่หญ้าสาบเสือแพร่ระบาดในพื้นที่ราบ) และแพร่กระจายมาจากจีนตอนใต้และพม่าเข้าสู่เขตภาคเหนือของไทย เมื่อเป็นสิ่งใหม่ไม่จึงยังไม่มีแผนรับมือเชิงป้องกันหรือควบคุม แต่หากรู้จัก ตื่นตัว และเริ่มต้นควบคุมหรือกำจัดเสียตั้งแต่วันนี้ ก็น่าจะช่วยปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในเขตป่าได้บ้าง

มองโลกในแง่ดี การตามหาพืชที่เติบโตในระดับความสูงที่จำเพาะ ย่อมง่ายกว่าการตามหาสัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่อาศัยอยู่ในน้ำอย่างปลาหมอสีคางดำที่กำลังระบาดอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติในภาคกลางไม่ใช่หรือ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share