in on May 8, 2015

เพียงพอ

read |

Views

ปีนี้ ตั้งใจไว้ว่าจะไม่เขียนถึงวันคุ้มครองโลกแล้วเชียว แต่ก็อดไม่ได้เพราะมีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปเรียนรู้อะไรดีๆ ในวันคุ้มครองโลกที่เพิ่งผ่านมา

773515

เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้บ้านผู้อ่าน (ส่วนมาก) แต่ไกลบ้านผู้เขียน เพราะได้ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่จังหวัดกระบี่และสุราษฏร์ธานี ความน่าสนใจของสิ่งที่ได้พบเจอ ถึงกับทำให้คณะทำงานของผู้เขียนซึ่งมีชาวต่างชาติอีก 2 ท่าน ถึงกับอ้าปากค้างเมื่อได้เห็นวิธีทำการเกษตรพื้นบ้านของเรา

หนึ่งในนั้นคือ ลุงแก้ว บุญแก้ว ทิพย์รงค์ หมอดินที่เป็นตัวอย่างของเกษตรกรไทยที่นำเอาความรู้หลากหลายอย่างมาผสมผสานในการทำสวนเพื่อหาทางลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ การนำมูลแพะที่เลี้ยงในสวนมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพและต่อเข้าไปยังห้องครัวเพื่อใช้ในการหุงต้ม การใช้หญ้าแฝกมาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพดินและอุ้มน้ำ เป็นต้น มุขเด็ดของลุงแก้วคือ ถ้ามาขอซื้อปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวจะไม่ขาย ต้องมาเรียนวิธีทำก่อน แล้วจึงจะขายให้

ลุงแก้ว พูดถึงเรื่องของการใช้จุลินทรีย์มาปรับสภาพดิน ซึ่งได้มาจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ใส่ลงไปบนใบหญ้าแฝกที่ตัดมาวางใกล้ๆ ต้นไม้ แล้วปล่อยให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่ตามธรรมชาติในการย่อยสลายใบไม้ใบหญ้า ปลดปล่อยสารอาหารกลับคืนสู่ดินความรู้นี้ แกบอกว่าได้มาจากการไปเข้ารับการอบรมของทางการ ผู้เขียนชะงักไปเล็กน้อย ด้วยเหมาคิดไปแต่แรกว่าเป็นความรู้ที่ติดตัวมาจากการทำเกษตรผสมผสานดั้งเดิม แต่พอหันไปหันมา สวนรอบๆ บริเวณคือสวนยางพาราและสวนปาล์ม ทั้งสองชนิด เป็นลักษณะการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ทำมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 – 40 ปี งานนี้ จึงกลายเป็นว่าลุงแก้วต้องหันมาเรียนรู้ความรู้ดั้งเดิมใหม่อีกครั้ง

พอลุงแก้วเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ที่ทำๆ อยู่ในสวนนี้ ก็ทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ คนเคยได้ยินมานานแล้ว ส่วนตัวของผู้เขียนเอง ก็เพิ่งจะเข้าใจว่าทำไมแนวพระราชดำรินี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับคนไทย
d0902aa-4
แต่ไหนแต่ไรมา การทำเกษตรแบบดั้งเดิมของคนไทยเป็นการเกษตรสวนผสม ปลูกโน่นนิดปลูกนี่หน่อย แล้วแต่พืชผลที่ขึ้นได้ดีตามสภาพภูมิอากาศท้องถิ่น ก็ออกลูกออกผลให้ได้กินได้เก็บขายตลอดทั้งปีชาวสวนไทยทำสวนอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกันทั้งประเทศ นึกไปถึงสวนหนึ่งที่อยู่บนเกาะเกร็ด สมัยที่เคยทำงานโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา ได้พาเด็กนักเรียนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของคนบนเกาะเกร็ด ไปดูความสัมพันธ์ของคนกับทรัพยากรธรรมชาติ และการเกิดอาชีพจากสิ่งที่ธรรมชาติเอื้อประโยชน์ให้อย่างการทำเครื่องปั้นดินเผาหรือทำสวน ซึ่งมีสวนแปลงเล็กๆ แห่งหนึ่ง เป็นห้องเรียนให้พวกเราได้เป็นอย่างดีจุดเด่นของสวนแปลงเล็กที่เป็นตัวอย่างใช้สอนเด็กๆ ก็คือเรื่องของการมีพืชผสมผสาน จึงมีนกและแมลงชนิดต่างๆ แวะเวียนมาใช้บริการ จะเลือกมุมไหน ต้นไม้อะไรก็แล้วแต่ความถนัด ทำให้เกิดเป็นระบบการกำจัดศัตรูพืชอย่างเป็นธรรมชาติ

แต่แล้วระบบเกษตรเชิงเดี่ยวก็เข้ามาแทนที่ ผลเสียของเกษตรเชิงเดี่ยวที่รู้กันดีอยู่คือไม่มีตัวกำจัดศัตรูพืชตามธรรมชาติ การใช้สารเคมีจึงเป็นทางออกที่ชัดเจนที่สุด แต่ผลร้ายที่ตามมานอกเหนือจากสารเคมีจำนวนมากปนเปื้อนในแหล่งน้ำแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่ไวรัสที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรค เกิดกลายพันธุ์มีภูมิต้านทานต่อสารเคมี เมื่อนั้นก็จะเกิดโรคระบาดที่สร้างความเสียหายในวงกว้าง ตัวอย่างของ “เอดส์ส้ม” ที่เกิดขึ้นกับสวนส้มรังสิตที่โดนโรคระบาดเมื่อปี 2538 ถือว่าเป็นบทเรียนที่ชัดเจน

สิ่งที่หายไปพร้อมๆ กับสวนผสมคือ ความรู้ความสามารถของเกษตรกรในการทำสวน เพราะการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมักจะมาพร้อมสูตรสำเร็จ ทั้งปุ๋ย ทั้งยากำจัดศัตรูพืช หลายสิบปีผ่านไป ชาวสวนรุ่นลูกรุ่นหลานส่วนมาก จึงไม่มีโอกาสได้สืบทอดความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำสวน

การทำเกษตรในเชิงเศรษฐกิจพอเพียง จึงกลายเป็นโอกาสที่ดึงให้ชาวสวนไทยหันกลับมาเรียนรู้สิ่งที่เกือบหายไปจากสังคมเกษตรกรรม และแม้ว่าธุรกิจเกษตรเชิงเดี่ยวจะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ชาวสวนไทยหันกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมในสวนเกษตรเชิงเดี่ยว

วันคุ้มครองโลกปีนี้ จึงถือว่าโชคดีที่ได้ไปเห็นการทำงานของลุงแก้ว ที่ตั้งใจจะใช้ความรู้ในการทำสวน ช่วยให้ผิวหน้า (ดิน) ของโลก ได้รับโลชั่นจากปุ๋ยอินทรีย์ในการถนอมหน้า (ดิน) ต่อไป

อ้างอิง
  1. ภาพจาก: www.dailynews.co.th
  2. ภาพจาก: www.chaoprayanews.com
ก้อนทอง ลุร์ดซามี

สิบปีกว่าที่ย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซีย เปิดโอกาสให้ก้อนทอง ลุร์ดซามี ได้นำข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตคนเมืองทางโน้นมาเขียนเล่าในคอลัมน์ "นิเวศในเมือง" มีหลายครั้งที่เล่าเรื่องออกนอกเมืองบ้าง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเดินเรื่องและผู้มีส่วนร่วมสร้างปัญหาเหล่านั้น ก็มักจะไม่พ้นคนเมืองทั้งหลาย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และบริบทรอบๆ เมือง มาเล่าแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นฐานความคิดในการเขียนบทความต่างๆ มาจากประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในเมืองไทยกับตาวิเศษตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน ก้อนทองเป็น Country Director ให้กับ Wild Asia ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในมาเลเซีย ทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อช่วยวิเคราะห์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหาวิธีการให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมในการแก้ไข เช่น ช่วยเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการระดับต่างๆ มีระบบการจัดการและการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ด้วยความถนัดในการสลายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บทความของก้อนทองจึงเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าให้เพื่อนฟัง

Email

Share