in on April 26, 2016

เรา ความสุข เเละจุลินทรีย์

read |

Views

เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมเราจึงรู้สึกสดชื่นกระปรี่กระเปร่าเมื่อได้ออกไปเดินในป่า หรือแม้แต่แค่สวนร่มรื่น?

เพราะอากาศสดชื่น? เพราะสีเขียวสบายตา? เพราะเพลินเพลิดกับเสียงนกร้องจิ๊บๆ? เพราะฉันโลกสวย?

คำตอบไม่หยุดง่ายๆ ผิวๆ แต่เพียงแค่นี้ ไม่นานมานี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ศึกษากลไกทางระบบหายใจที่ทำให้เราสดชื่นกระปรี่กระเปร่าในป่า และพบว่ามันมีปัจจัยสำคัญอยู่สามตัว

ได้แก่ จุลินทรีย์ในอากาศ สารน้ำมันระเหยจากต้นไม้ และอะตอมประจุไฟฟ้าลบในสภาพแวดล้อม

Hiking-in-Forest-Park-Portland

มันตอกย้ำความเชื่อและแรงสังหรณ์ว่า สุขภาพกายและจิตของเรามีปฏิสัมพันธ์อย่างละเอียดซับซ้อนกับนานาชีวิตในธรรมชาติ ตั้งแต่ในระดับนิเวศไปถึงอะตอมไปถึงคลื่นพลังงานระดับควันตัม

เป็นเรื่องขยายความยาว วันนี้จึงขอคุยแค่เรื่องของจุลินทรีย์ก่อน

เราโตมาในยุคของสาธารณสุขสมัยใหม่ที่มองจุลินทรีย์เป็นเชื้อโรคร้ายไปหมด ต้องสาดยาฆ่าเชื้อให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัสปลอดเชื้อไร้ชีวิต แต่แท้จริงแล้วจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นภัยแก่เรา และหลายๆ ตัวยังเป็นเพื่อนที่ดีด้วยซ้ำไป

เมื่อราว 10 ปีก่อน สังคมได้ตื่นเต้นกับรายงานว่า ร่างกายของมนุษย์มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนประชากรสูงกว่าจำนวนเซลล์ของเราเอง ตอนนั้นตัวเลขประเมินออกมาว่ามีจุลินทรีย์มากกว่าเซลล์เราถึง 10 เท่า แต่วันนี้ประเมินว่าบางครั้งอาจเป็น 1.5 เท่า และบางครั้งก็เพียงหนึ่งต่อหนึ่ง คือมีจำนวนเท่าๆ กัน แถมทุกๆ ครั้งที่เราอึออกมา จุลินทรีย์จำนวนมากก็ถูกขับออกมาด้วย หลังอึเสร็จใหม่ๆ จำนวนจุลินทรีย์จะลดลงต่ำกว่าจำนวนเซลล์ของเรา

แต่ไม่ว่าตัวเลขจะเป็น 10 เท่า 1.5 เท่า หรือเท่ากัน ก็หนีไม่พ้นความเป็นจริงว่า ร่างกายของเราไม่ได้เป็นเพียง “ของเรา” แต่มันเป็นระบบนิเวศประเภทหนึ่ง เป็นทะเลจำลองจากชีวิตในมหาสมุทรดั้งเดิมที่สัตว์บกอย่างเราวิวัฒนาการขึ้นมา

เซลล์และอวัยวะต่างๆ ของเราพึ่งพาอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์นานาชนิดในกระบวนการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนร่างกายเรา และรู้ว่าพวกมันช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเราแข็งแรง แต่เรายังไม่ค่อยเข้าใจบทบาทชัดๆ ของพวกมัน ยกเว้นเพียงบางตัว เช่น พวกที่อาศัยในระบบทางเดินอาหาร ช่วยเราย่อยอาหารประเภทต่างๆ ที่น่าสนใจคือคนแต่ละคนอาจมีสังคมจุลินทรีย์ไม่เหมือนกันแม้มันจะทำงานหน้าที่เดียวกัน เช่น บนลิ้นคนสองคนอาจมีกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดต่างกัน แต่ก็ทำหน้าที่ช่วยย่อยน้ำตาลได้เหมือนกัน คล้ายกับป่าสองแห่งมีนกคนละชนิด ทำหน้าที่กระจายพันธุ์ผลไม้ขนาดเดียวกัน

เรารับจุลินทรีย์เข้ามาอยู่ด้วยจากแหล่งต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตเรา เริ่มจากการสัมผัสผนังช่องคลอดแม่ตอนเราเกิด (ซึ่งพบว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารก) พวกมันเข้าทางปากมากับอาหาร ทางลมหายใจ ทางผิวหนัง พัฒนาเป็นระบบนิเวศที่แตกต่างกันไป

เราพบว่าคนผอมสุขภาพดีมีสังคมจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารที่หลากหลายอลังการ เปรียบได้ดั่งป่าฝนเขตร้อนแสนอุดมสมบูรณ์มีประสิทธิภาพสูง มีแบคทีเรียตัวย่อยสลายแป้งและกากใยได้ฉมัง ทอนลงเป็นโมเลกุลเล็กๆ ให้ร่างกายนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เลย ส่วนสังคมจุลินทรีย์ของคนอ้วนมีความหลากหลายน้อย คล้ายบึงน้ำเขียวปี๋ที่มีปุ๋ยตกลงมามากเกินไป ใช้เวลาย่อยสลายนานแสนนาน

ความอ้วนความผอมจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม การออกกำลัง และหมวดหมู่อาหารที่เรากินเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับสังคมจุลินทรีย์ที่อาศัยในตัวเรา

เพราะว่าร่างกายเราไม่ใช่ระบบนิเวศปิด มันมีการแลกเปลี่ยนกับสังคมจุลินทรีย์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา การศึกษาวิจัยสังคมจุลินทรีย์ในสภาพแวดล้อมจึงกำลังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจสูงมากในเมืองฝรั่งและญี่ปุ่น บริษัทที่อเมริกาถึงกับว่าจ้างนักนิเวศจุลินทรีย์ให้ศึกษาแนวทางปรับปรุงอาคารสำนักงาน ให้เอื้อต่อสังคมจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพมนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ไม่น่าแปลกใจที่เธอพบว่าจุลินทรีย์ดีๆ เข้ามาจากอากาศภายนอก ดังนั้น แค่วางระบบง่ายๆ ในการถ่ายเทอากาศ เช่น ให้เปิดช่องลมทิ้งไว้ในวันหยุด อาคารก็มีสภาพดีขึ้นได้โดยไม่ต้องลงทุนมากมาย

แต่ถ้าให้ดีต้องเข้าไปในสวน มีการสำรวจจุลินทรีย์ในดินของเซ็นทรัลพาร์คแห่งมหานครนิวยอร์คเมื่อสองปีก่อน พบมากถึง 167,169 ชนิด และส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ที่เราไม่รู้จักมาก่อน แต่เราก็รู้สึกดีเมื่อไปเดินเล่นในสวน

ส่วนที่อังกฤษก็พบว่าการสัมผัสดินทำให้เราอารมณ์ดีและเสริมระบบภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาแบคทีเรียตัวหนึ่งในดิน ชื่อไมโคแบคทีเรียม วัคเคีย (Mycobacterium vaccae) พบว่ามันกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเซโรโตนิน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้อาการซึมเศร้า เพราะในภาวะซึมเศร้าสารตัวนี้จะไม่หลั่งออกมา ไมโคแบคทีเรียม วัคเคีย ยังสร้างภูมิคุ้มกันแก่สารพัดโรค แม้แต่มะเร็งบางชนิด

จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกดีเป็นพิเศษเมื่อใช้เวลาอยู่ในป่าสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยชีวิตหลากหลาย คนญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตนี้มาพักหนึ่งแล้ว ถึงกับมีกิจวัตร “อาบป่า” หรือ “ชินรินโยกุ” เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ทุกวันนี้ หมอสั่งให้คนไข้หลายรายไปอาบป่าแทนสั่งยาเป็นกำๆ

การออกแบบเมืองที่ฉลาดจึงต้องมีสวนและพื้นที่ธรรมชาติกลางเมือง จะเป็นป่ากลางเมืองหรือพื้นที่ชุ่มน้ำก็ตาม ให้มันเป็นหลุมหลบภัยของนานาชีวิต ให้คนได้สัมพันธ์กับจุลินทรีย์ดีๆ ได้ทุกวัน เป็นแหล่งกระจายจุลินทรีย์ดีๆ ฟุ้งไปในอากาศ

พื้นที่โล่งขนาดใหญ่ที่เหลืออยู่กลางเมืองอย่างมักกะสัน จึงควรนำมาจัดสรรแบ่งปันเป็นป่าเป็นสวน โดยอาจจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น เป็นป่าเลี้ยงหอยทากนวล รีดเมือกผลิตครีมบำรุงผิวคุณภาพสูงราคาดี เป็นรายได้ดูแลผืนป่ากลางเมือง เพื่อรักษาต้นทุนสุขภาพคนกรุง อันเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของเมือง

วิเคราะห์ดีๆ เคาะเลขคิดบัญชีให้ครบถ้วน อาจพบว่ามันมีมูลค่าสูงกว่าศูนย์การค้าแห่งที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบได้ เพราะขี้เกียจจะนับแล้ว

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

นักนิเวศวิทยา นักเขียน นักการศึกษาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีภารกิจหลักในการคิดและวางแนวทางโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นผู้อำนวยการผลิตสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา ,ผู้ค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการประเมินสภาพแวดล้อมสำหรับสาธารณชน และเป็นผู้อำนวยโครงการพิเศษ กิจกรรม “นักสืบสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการนักสืบสายน้ำ , โครงการนักสืบชายหาด , โครงการนักสืบสายลม และล่าสุดริเริ่มโครงการจักรยานกลางเมือง เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบสัญจร โดยจักรยานและพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอากาศ ให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

Email

Share