in on February 20, 2018

โรงไฟฟ้าถ่านหิน ความเชื่อเก่าที่กำลังล่มสลาย

read |

Views

เมื่อไม่นานมานี้ฉันได้ฟังผู้บริหารระดับสูงของโรงไฟฟ้าหลายแห่งคุยกัน พวกเขาล้วนพูดตรงกันราวกับออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกันว่าโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น “ดีแต่แพง” ซึ่งเป็นชุดข้อมูลเดียวกับที่หน่วยงานด้านพลังงานบอกกับสาธารณะ

ปลายมกราคมเป็นช่วงที่บริษัททั่วโลกประกาศผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายและสรุปผลประกอบการของปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่แตะต้องได้ในรูปของผลประกอบของบริษัทพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้กลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนในแวดวงพลังงานดั้งเดิมในบ้านเรากล่าวอ้าง

ข้อมูลจากทั่วโลกล้วนเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันว่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถูกลงเรื่อยๆ และในอีกไม่กี่ปีจะถูกกว่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าดั้งเดิมและสกปรกอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

30 มกราคม นิตยสารฟอร์บรายงานว่ายุคสมัยอันรุ่งโรจน์ของถ่านหินในอินเดียกำลังจะล่มสลายในไม่ช้า   2 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้ายุคใหม่อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงาน และสัดส่วนการใช้ถ่านหินในประเทศที่ในปี พ.ศ.2559-2560 มีสัดส่วนสูงถึง 80 % กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากต้นทุนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนถูกลงครึ่งหนึ่งภายใน 2 ปี และจะยังคงต่ำลงเรื่อยๆ ปัจจุบันราคาขายส่งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมถูกกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเฉลี่ย 20 % และในการประมูลไฟฟ้าล่าสุดพบว่า 65 % ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขายไฟในอัตราที่สูงกว่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน


ภาพจาก: http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/59851/

จุดสำคัญอยู่ที่เมื่อปีที่แล้ว (2016-2017) เป็นครั้งแรกที่การติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนล้ำหน้ากำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 2 เท่า และโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอินเดียเกือบทุกโรงละเมิดกฎหมายมาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยภายในปีพ.ศ. 2570 หรืออีก 10 ข้างหน้า หน่วยงานควบคุมกลางด้านการผลิตไฟฟ้าของอินเดียเสนอให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 50 กิกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 275 กิกะวัตต์ ซึ่งจะชดเชยด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่ “แพงและสกปรก” เลย

ด้านจิม โรโบ ซีอีโอของบริษัท NextEra Energy ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอเมริกา และเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลมที่ใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวในการแถลงผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายบริษัทว่า ต้นทศวรรษ 2020 ต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่จะถูกกว่าการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เก่า

  • โรงไฟฟ้าพลังงานลมสร้างใหม่ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมีต้นทุนค่าไฟฟ้า 0-2.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
  • โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สร้างใหม่ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนมีต้นทุนค่าไฟฟ้า 0-4.0 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
  • การดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ที่มีอยู่เดิมมีต้นทุนผันแปร 5-5.0 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ถ้าการคาดการณ์ของซีโอโอรายนี้เป็นจริง และหากรัฐบาลประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าจากต้นทุนที่แท้จริงที่ไม่มีการเมืองหรือนโยบายอุดหนุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เท่ากับปิดเกมของโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปเลยทีเดียว เพราะเห็นชัดๆ ว่าต่อให้ทู่ซี้ใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมโดยไม่ต้องลงทุนใหม่ ต้นทุนผันแปรอย่างค่าเชื้อเพลิงหรือค่ากำจัดมลพิษ และค่าชดเชยกรณีเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็สู้กับตุ้นทนการลงทุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ ไม่ได้


ภาพจาก: https://www.pptvhd36.com/news

ในบ้านเรา การที่รัฐบาลประกาศเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาออกไปอีก 3 ปีเพื่อแก้ปัญหาการต่อต้านในพื้นที่ ในมุมหนึ่งถือเป็นข่าวดีที่ยืดเวลาหายใจออกไป แต่ก็ยังเป็นข่าวร้ายอยู่นั่นเอง

ฉันหวนนึกการตัดสินใจที่ผิดพลาดอันเนื่องมาจากการด้อยวิสัยทัศน์หรือก้าวไม่ทันเทคโนโลยีของผู้บริหารในแวดวงทีวีดิจิตัลเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทีวีบางช่องเล็งผลเลิศถึงขึ้นใช้เงินมหาศาลเพื่อประมูลทีวีพร้อมกัน 3 ช่อง โดยหวังจะกอบโกยรายได้จากค่าโฆษณาแบบคูณสาม ผลปรากฎว่าผลประกอบการแย่ลงๆ ราคาหุ้นตกวูบจาก 70 บาทต่อหุ้นในช่วงรุ่งโรจน์ก่อนการประมูลเหลือเพียง 11 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งนี้คือผู้ถือหุ้นของบริษัท

ต่างกันตรงที่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆ ที่กำลังล้าสมัยและต้นทุนสูงนั้นใช้ทุนของภาคประชาชน เนื่องจากระบบไฟฟ้าของบ้านเราเป็นระบบผูกขาด ไม่ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะสูงเพียงใด ประชาชนก็ต้องจ่าย จึงเท่ากับว่าภาครัฐและเอกชนกลุ่มหนึ่งกำลังนำเงินของเราไปใช้ลงทุนในธุรกิจที่รู้อยู่แล้วว่าต้นทุนสูงและสกปรก ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าทั้งในแง่ต้นทุนการเงินและต้นทุนสิ่งแวดล้อม


อ้างอิง 

https://www.forbes.com/sites/energyinnovation/2018/01/30/india-coal-power-is-about-to-crash-65-of-existing-coal-costs-more-than-new-wind-and-solar/#6a14a2884c0f

https://www.vox.com/energy-and-environment/2018/1/29/16944178/utility-ceo-renewables-cheaper

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

คุยประเด็นสิ่งแวดล้อมกับอดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

Email

Share