ศัพท์สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ

Alien Species

Alien Species หรือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่นั้นๆ มาก่อน แต่แพร่กระจายพันธุ์หรือถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น ซึ่งอาจเป็นการเข้ามาเองตามธรรมชาติ เช่น จากการขยายพันธุ์ หรืออาจพลัดหลงเข้ามาโดยบังเอิญ เช่น ติดมากับยานพาหนะ-รองเท้าของนักท่องเที่ยว ไปจนถึงการจงใจนำเข้ามา

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เมื่อปี 2552 ระบุว่าประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่กว่า 3,500 ชนิดโดยที่ปัจจุบันก็ยังมีการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นใหม่ๆ อยู่ตลอด ด้วยหลายเหตุผล ทั้งเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมาเพาะเลี้ยง-ขาย สร้างรายได้ ไปจนถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการนำชนิดพันธุ์จากต่างถิ่นมาเพาะเลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร รวมถึงการนำเข้ามาเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสัตว์ต่างถิ่นบางชนิดมีสีสันสวยงาม หรือแม้กระทั่งสัตว์แปลกก็เป็นที่นิยมเลี้ยงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหลายชนิดก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบ นิเวศดั้งเดิม โดยเฉพาะหากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้นสามารถแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ ซึ่งในบางชนิดแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว บางชนิดเป็นผู้ล่าที่กินสัตว์พื้นเมืองเป็นอาหาร บางชนิดเป็นผู้แข่งขัน ด้วยการแย่งที่อยู่ แย่งอาหารสัตว์พื้นเมือง จนกลายเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (Dominant Species) นอกจากนั้นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับ ชนิดพันธุ์พื้นเมือง ก็อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของยีนได้ อีกทั้งสัตว์ต่างถิ่นบางชนิดยังอาจเป็นพาหะนำโรคอุบัติใหม่เข้าสู่พื้นที่ และทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นสูญพันธุ์ได้ ถือเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีลักษณะดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species)

สำหรับ แนวทางการรับมือปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของไทย คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกัน ควบคุม กำจัด และเฝ้าระวัง โดยมีการจำแนกชนิดพันธุ์ต่างถิ่นไว้ 4 ประเภท และในปี 2555 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้จัดทำ “คู่มือทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย” ขึ้นเผยแพร่ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงานและเพื่อให้ง่าย ต่อการเฝ้าระวัง โดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นทั้งสี่ประเภท ได้แก่

1.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว คือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทย แล้วสามารถดำรงชีวิต สืบพันธุ์ได้ในธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (Dominant Species) และอาจมีผลทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น หรือชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ ทั้งยังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ปัจจุบันพบชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วในประเทศไทย ได้แก่ ตะพาบไต้หวัน เต่าแก้มแดงหรือเต่าญี่ปุ่น นกพิราบ นกกระจอกใหญ่

2.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีหลักฐานว่าได้เข้ารุกรานในถิ่นอื่น และเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ทั้งยังสามารถดำรงชีวิต แพร่กระจายพันธุ์ได้ในธรรมชาติ ซึ่งถ้ามีปัจจัยเกื้อหนุนหรือหากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่จะมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้ รวมถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เคยรุกรานในอดีต แต่ปัจจุบันควบคุมดูแลได้แล้ว ได้แก่ กบบูลฟร๊อก นกอีแก นกแก้วคอแหวนสีกุหลาบ นากหญ้า

3.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และมีหลักฐานการรุกรานในประเทศอื่น เช่น จระเข้แม่น้ำไนล์ จระเข้นิวกินี จระเข้คิวบา อีกัวน่า นกยูงอินเดีย นกหงษ์หยก นกเขาแขก นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป เม่นขนสั้น สโตทท์ เฟอร์เรท หมาจิ้งจอกแดง

4.ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีข้อมูล หลักฐานว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศอื่น ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตามทะเบียน 100ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานรุนแรงของโลก และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าตามกฎหมาย ได้แก่ คางคกยักษ์ ปาดแคริบเบียน งูแส้หางม้าสีน้ำตาล นกปรอดก้นแดง กระรอกสีเทา

Biodiversity

Biodiversity หรือ ความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหมายครอบคลุมความหลากหลายใน 3 ประการ คือ 1) ความหลากหลายของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต (species diversity) 2) ความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) 3) ความหลากหลายทางระบบนิเวศ (ecological diversity) ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า สิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้มีประมาณ 30 ล้านชนิด แต่ที่ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการมีเพียง 1.5 ล้านชนิดเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทำให้เกิดการสูญเสียสิ่งมีชีวิตอย่างมากมายในช่วงเวลาสั้นๆ

Boycott

บอยคอต (Boycott) เป็นคำที่มักใช้แทนพฤติกรรมไม่ซื้อ ไม่ใช้ ไม่ข้องแวะของกลุ่มผู้ประท้วง ปรากฏครั้งแรกในนิตยสารไทม์ ลอนดอน ฉบับเดือนพฤศจิกายน 1880 หลังจากนั้นคำนี้ก็ถูกใช้แพร่หลายทั่วไปในภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ รัสเซีย รวมไทยภาษาไทยเราด้วย ที่มาของคำว่าบอยคอตนี้ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 130 ปีที่แล้ว ในสมัยนั้นคำว่าบอยคอตยังเป็นเพียงนามสกุลของอดีตนายทหารอังกฤษผู้หนึ่งที่ เข้าไปทำงานในไอร์แลนด์ เขาคือกัปตัน ชาร์ลส์ คันนิ่งแฮม บอยคอต (Captain Charles Cunningham Boycott) ซึ่งทำอาชีพเกษตรกรรมควบคู่กับเป็นตัวแทนของเจ้านายชาวอังกฤษในการทำธุรกิจ ให้เช่าที่ดินรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ชาร์ลส์ บอยคอต ได้ชื่อว่าเป็นกฎุมพีที่เหี้ยมโหดมาก กระทั่งในปี 1880 เมื่อผู้เช่าที่ดินทั้งหลายเรียกร้องให้กัปตันชาร์ลส์ บอยคอต ลดค่าเช่าที่ดินลง เนื่องจากตั้งราคาไว้สูงเกินไป ทว่ากลับโดนปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ผู้เช่าที่ดินจึงรวมตัวกันกดดัน โดยให้ทุกคนในท้องถิ่นเลิกคบค้าสมาคมกับเขาและครอบครัวของเขาอย่างพร้อม เพรียงกัน คนงานในไร่ก็ลาออก ร้านค้าต่างๆ ก็ไม่ยินดีต้อนรับ และเป็นที่มาของความหมายคำว่าบอยคอต

Butterfly Effect

Butterfly Effect หรือ ปรากฏการณ์ผลกระทบปีกผีเสื้อ  เป็นคำที่ใช้อธิบายการค้นพบครั้งสำคัญในปี 1961 ของ Edward N. Lorenz นักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยา เริ่มต้นจากการที่ Lorenz ได้ออกแบบแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในงานพยากรณ์อากาศ โดยในการกรอกข้อมูลเพื่อประมวลผลนั้น เขาได้ใส่ค่าตัวแปรระหว่างครั้งแรกกับครั้งที่สองแตกต่างกัน กล่าวคือในครั้งแรกเขาใส่ค่าตัวแปร 0.506127 แต่ครั้งที่สอง เขาตัดทศนิยมออกสามตำแหน่ง โดยใส่ค่าตัวแปร 0.506 แต่แล้วผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันอย่างล้นเหลือ

การทดสอบในเวลาต่อมา ทำให้รู้ความจริงว่า แม้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงทีละเล็กละน้อย ก็สามารถสร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนกับเพียงผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกในวันนี้ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิดต่อบรรยากาศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป แรงกระพือปีกอันเบาหวิวนั้น ก็สามารถก่อผลให้บรรยากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงได้

Byssinosis

Byssinosis หรือ โรคปอดฝุ่นฝ้าย ฝุ่นฝ้ายเป็นอนุภาคเล็กๆ หรือใยของฝ้าย ป่าน ปอ รวมทั้งฝุ่นผงของพืชที่สามารถฟุ้งกระจาย ปลิว หรือลอยอยู่ในอากาศ ถ้าหายใจเอาอากาศที่มีฝุ่นฝ้ายปะปนเข้าไปในปอดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา นานกว่า 2 ปีขึ้นไป ก็จะเริ่มไอ แน่นหน้าอก และหายใจไม่สะดวกในช่วงเช้า แล้วจึงทุเลาลงในตอนเย็น ซึ่งเป็นอาการเตือนให้ทราบว่าป่วยเป็นโรคบิสสิโนสิสระยะแรกแล้ว และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ก็จะกลายเป็นอาการเรื้อรัง เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว และสมรรถภาพของปอดลดลง

โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่ทำงานในโรงงานที่ใช้ฝ้าย ป่าน ปอ หรือลินินเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานทำกระสอบ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงงานสิ่งทอต่างๆ

ปัจจุบันประกาศของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ว่า ภายในโรงงานโดยเฉพาะบริเวณที่ลูกจ้างทำงาน จะมีปริมาณฝุ่นฝ้ายดิบล่องลอยได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร

CBM

CBM (Community Based Solid Waste Management) หรือ การจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน คือ กระบวนการจัดการขยะแบบผสมผสาน มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะ ณ แหล่งกำเนิดขยะ ได้แก่ ครัวเรือนต่างๆ ในชุมชนเพื่อลดปัญหาและต้นทุนการจัดการขยะมูลฝอยโดยทั้งภาครัฐและประชาชนมี ส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อพัฒนาชุมชนให้สะอาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

หลักการของCBM ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. การคัดแยกขยะเป็น 2 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิลที่สามารถนำไปขายได้และขยะเศษอาหารเพื่อนำไปหมักเป็นปุ๋ยหรืออาหารสัตว์
  2. ลดปริมาณถังขยะบนท้องถนนและจัดระบบการเข้าบริการจัดเก็บขยะมูลฝอยในชุมชนตรงตามเวลา
  3. สำนักงานเขตจะต้องลดค่าธรรมเนียมการเก็บขยะหากชุมชนมีการคัดแยกขยะอินทรีย์ ไปจัดการเช่นหมักทำปุ๋ย  ทำอาหารสัตว์ ทำให้ปริมาณมูลฝอยลดลง
  4. ติดตามผลการดำเนินการ โดยเก็บข้อมูลปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่รวบรวมได้ ปริมาณเศษอาหาร และสรุปผลการดำเนินการ เพื่อเป็นตัวชี้วัดการจัดการ
  5. สร้างเครือข่ายไปยังชุมชนใกล้เคียงโดยการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้

ดังนั้น การทำงานตามหลัก CBM ในชุมชนจึงช่วยแก้ปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสังคม เพราะทำให้ปัญหาขยะสะสม กลิ่น น้ำชะขยะ แหล่งสะสมเชื้อโรคลดลง และทำให้คนในชุมชนมีโอกาสพบปะ แก้ปัญหาร่วมกันซึ่งสามารถขยายผลไปถึงการแก้ปัญหาอื่นๆในสังคมชุมชนได้

ประเทศไทยเริ่มนำหลักการ CBM มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2547 ที่เทศบาลนครพิษณุโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน และขณะนี้มีชุมชนที่ลงชื่อเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 32 ชุมชน

Contract Farming

Contract Farming หรือเกษตรพันธสัญญาคือ การทำข้อตกลงซื้อ-ขายล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรกับนายทุนเจ้าของธุรกิจการเกษตร โดยที่เกษตรกรจะต้องปลูกพืชผักผลไม้หรือทำฟาร์มปศุสัตว์ด้วยกระบวนการที่ กำหนดไว้ในข้อตกลง ตั้งแต่การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์สัตว์ ประเภทของปุ๋ย อาหารสัตว์ ยากำจัดศัตรูพืช วัคซีนป้องกันโรค ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของนายทุน

ข้อที่น่ากังวลเกี่ยวกับการทำเกษตรพันธสัญญา คืออิสระในการคัดเลือกปรับปรุงสายพันธุ์พืชหรือสัตว์ที่หายไป ย่อมส่งผลถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยชนิดพันธุ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ขณะที่เกษตรกรที่เคยเป็นนายของตัวเอง ก็ถูกลดทอนสถานภาพเหลือเพียงลูกจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตามใบสั่งเท่านั้น นอกจากนี้การทำสัญญาก็มักเป็นการเอาเปรียบเกษตรกร เช่นการผลักภาระความเสี่ยงในการผลิตให้กับเกษตรกรในกรณีที่ผลผลิตไม่เป็นไป ตามที่บริษัทกำหนด เพราะน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งเกินความสามารถของเกษตรกรที่จะควบคุม บริษัทจะถือเป็นภาระของเกษตรกรฝ่ายเดียว เป็นต้น

Critical Mass

Critical Mass หรือ มวลวิกฤต เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในแวดวงฟิสิกส์ อ้างถึงปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ เมื่อนิวตรอนจำนวนหนึ่งไปชนกับนิวเคลียสอื่นทำให้นิวตรอนของนิวเคลียสใหม่ หลุดออกไปจนเกิดเป็นปฏิกริยาฟิชชันต่อเนื่อง ถ้าหากจำนวนนิวตรอนที่ทำให้เกิดปฏิกริยาฟิชชั่นชุดใหม่ต่อจำนวนนิวตรอนที่ทำ ให้เกิดปฏิกริยาฟิชชั่นชุดเดิมมีค่าน้อยกว่า 1 ปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะลดลง แต่ถ้าสัดส่วนนี้มีค่ามากกว่า 1 ปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งสภาวะที่สัดส่วนจำนวนนิวตรอนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิชชั่นเท่ากับ 1 นี้ เรียกว่าสภาวะวิกฤต (Criticality) ส่วนมวลที่ทำให้เกิดสภาวะนี้ได้ เรียกว่ามวลวิกฤต (Critical Mass)

ในทางสังคมศาสตร์พลวัตร ได้หยิบยืมคำนี้มาใช้อธิบายการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม

มีผู้ยกตัวอย่างว่า สมมติในเมืองใหญ่ หากมีคนๆ หนึ่งหยุดแล้วแหงนมองดูท้องฟ้า คนอื่นๆ รอบข้าง คนอื่นๆ รอบข้างก็อาจจะยังคงเดินไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากมีคนหยุดสักสามสี่คน ก็อาจจะมีบางคนที่สงสัยและแหงนดูท้องฟ้าบ้าง แล้วก็เดินต่อไป แต่เมื่อมีคนจำนวนมากพอแหงนดูท้องฟ้า ก็จะทำให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาละแวกนั้นพากันแหงนดูท้องฟ้าตาม ปริมาณของคนกลุ่มแรกที่แหงนดูท้องฟ้าจนเกิดการแหงนดูท้องฟ้าตามๆ กันนี้ เรียกว่ามวลวิกฤต

มีงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ในต่างประเทศชิ้นหนึ่ง ที่อ้างต่อๆ กันมา ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลกหลายครั้งเกิดขึ้นได้โดยอาศัยผู้นำการเปลี่ยน แปลงเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวจะมีความน่าเชื่อถือเพียงใดนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญที่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมักนำเรื่องมวลวิกฤตมากล่าวถึง กันอยู่บ่อยๆ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ ไม่จำเป็นต้องรอให้คนหมู่มากร่วมมือกัน แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจและลงมือกระทำของคนเพียงจำนวนหนึ่ง ก็สามารถสร้างกระแสและเปลี่ยนแปลงโลกได้