ศัพท์สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ

Universal Design

Universal Design หรือ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เป็นแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ อย่างสะดวก ปลอดภัย โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือออกแบบเฉพาะ เพื่อให้คนทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเสมอภาคกัน

ผู้ริเริ่มแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล คือ Mr. Ronald L. mace (1941-1998) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นจากการออกแบบของใช้ส่วนตัวของตนเอง เนื่องจากเขาก็เป็นผู้พิการเช่นกัน  ก่อนจะพัฒนามาเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้พิการ และต่อยอดจนเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อคนทั้งมวล  โดยเน้นความทัดเทียมของบุคคลทุกคนที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งออกแบบอย่าง เดียวกันได้ อันจะเป็นส่วนช่วยลดความแปลกแยก แตกต่างของบุคคลในสังคม

หลักการ Universal Designประกอบด้วยหลักสำคัญ 7 ประการ คือ

  1. Fairness ความเสมอภาค ทุกคนในสังคมสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ
  2. Flexibility ความยืดหยุ่น ใช้งานได้ทั้งกับผู้ที่ถนัดซ้ายและขวา หรือปรับความสูงต่ำให้ขึ้นลงได้ตามความสูงของผู้ใช้
  3. Simplicity ความเรียบง่ายและเข้าใจได้ดี เช่น มีภาพ คำอธิบาย หรือสัญลักษณ์สากล สำหรับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีความรู้ระดับไหน อ่านหนังสือออกหรือไม่
  4. Understanding ความเข้าใจง่าย มีข้อมูลคำอธิบายหรือรูปภาพประกอบการใช้งานที่เพียงพอ
  5. Safety มีความปลอดภัยขณะใช้งาน ทนทานต่อการใช้งานที่ผิดพลาด
  6. Energy conservation ทุ่นแรง สะดวก ทำให้ไม่ต้องออกแรงมาก
  7. Space มีขนาด-สถานที่ที่เหมาะสมและใช้งานในเชิงปฏิบัติได้โดยการออกแบบคิดเผื่อสำหรับคนร่างกายใหญ่โต คนที่เคลื่อนไหวร่างกายยาก

เนื่อง จาก Universal Design ไม่ได้เน้นการออกแบบ-สร้างสิ่งต่างๆ ให้พิสดารหรือแตกต่างออกไปเท่านั้น ทำให้หลายครั้งผลลัพธ์ของการออกแบบมีรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่ภายใต้ความเรียบง่ายนั้น ก็มีพื้นฐานจากการมองเห็นความแตกต่างของชีวิตอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่นผลงานการออกแบบเคาน์เตอร์ต่างระดับสำหรับผู้มีความสูงต่างกัน รวมถึงผู้ใช้รถเข็น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่างกันหรือเพิ่มสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้พิการ ทางสายตาสามารถแยกสินค้าแต่ละชนิดออกได้ด้วยตนเอง รวมถึงบริการสาธารณะพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางลาดเอียงสำหรับรถเข็น ห้องน้ำคนพิการ ลิฟท์ที่ต้องมีปุ่มกดสำหรับผู้ใช้รถเข็น มีอักษรเบรลล์ รวมทั้งมีเสียงบอกเมื่อถึงชั้นต่างๆ  รถเมล์หรือรถสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเป็นคนชรา หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้พิการ และป้ายสัญลักษณ์ที่ต้องออกแบบให้เข้าใจง่าย-เป็นสากล ฯลฯ  เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการคิดเพื่อคนอื่น โดยเว้นช่องว่างให้ความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้

นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ให้ความคุ้มครองประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะมีการเลือกปฏิบัติเนื่องจากความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ ฯลฯ มิได้  อีกทั้ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ก็มีส่วนช่วยยืนยันในความเท่าเทียมของคนในสังคม ไม่ว่าเขาจะมีความบกพร่องทางใดก็ตาม นั่นก็ไม่ได้ลดทอนสิทธิ์ หรือสร้างความแตกต่างในฐานะมนุษย์ และหนึ่งในสิทธิ์นั้นคือ การได้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีกฎหมายรองรับสิทธิความเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติการออกแบบเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันดูจะยังไม่เกิดขึ้น เท่าไรนัก

Water footprint

Water footprint หรือ รอยตีนน้ำ คือตัวชี้วัดการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมของผู้บริโภคหรือผู้ผลิตรายหนึ่งๆ  ในชีวิตประจำวันทุกกิจกรรมที่เราทำล้วนใช้น้ำทั้งสิ้น  โดยทั่วไปมนุษย์เราใช้น้ำกันอยู่ 3 ประเภท คือ ภาคครัวเรือน : เกิดขึ้นในกิจกรรมระหว่างวัน เช่น กินดื่ม อาบน้ำ ชำระล้าง รดน้ำต้นไม้ ภาคเกษตร : รดน้ำพืช เลี้ยงสัตว์ ผลิตอาหารสัตว์  ภาคเกษตรใช้น้ำจากแม่น้ำ ทะเลสาบ และน้ำใต้ดิน อยู่ที่ 70% และในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งจะใช้ส่วนนี้ถึง 90%
ภาคอุตสาหกรรม : หล่อเย็น ทำละลายสารเคมี งานบริการ ภาคอุตสาหกรรมและพลังงานใช้น้ำ 20% และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มจะใช้น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่ได้ใช้น้ำเฉพาะแต่ในครัวเรือนเท่านั้น  พืชผักที่เรากิน ก็มีส่วนใช้น้ำในระหว่างขั้นตอนการปลูกอันเป็นส่วนหนึ่งของภาคเกษตร  เสื้อผ้าและรองเท้าที่เราใส่ โน้ตบุ๊กหรือโทรศัพท์มือถือสักเครื่องที่เราซื้อ ก็มีส่วนใช้น้ำในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน  เท่ากับว่าในทุกๆ กิจกรรมล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการฝากรอยตีนน้ำ

ทุกคนมีส่วนในการบริโภคและทำน้ำเสียเหมือนๆ จะต่างกันก็ปริมาณที่แต่ละคนใช้ไปและการสร้างมลพิษไว้ว่ามากหรือน้อย

ผู้เป็นเจ้าของรอยตีนน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ อเมริกา 2,483 ลบ.ม. ต่อคนต่อปี
สหราชอาณาจักร 1,245 ญี่ปุ่น 1,153 อินเดีย 980 จีน 702
ส่วนในประเทศไทย 2,223  ลบ.ม. นับว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

รอยตีนน้ำของชาติ
ในสินค้าและบริการต่างๆ ภายในประเทศ ย่อมมีทั้งที่ผลิตเองภายใน และนำเข้ามาจากต่างประเทศ  รอยตีนน้ำของชาติจึงนับรวมทั้งน้ำจากสินค้าและบริการส่วนที่ผลิตเองภายในและ นำเข้ามาด้วย  ปัจจัยที่รอยตีนน้ำของแต่ละประเทศแตกต่างกันก็คือปริมาณการบริโภค แบบแผนการบริโภค ดินฟ้าอากาศ และวิธีทำเกษตร เช่น ประเทศที่แห้งแล้งทำให้น้ำระเหยเร็ว จึงใช้น้ำในปริมาณมากในการเพาะปลูก แถมค่าน้ำมีราคาถูกเนื่องจากรัฐบาลช่วยจ่ายค่าน้ำชดเชย ทำให้เกษตรกรที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพต่ำ ไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการประหยัดน้ำ

10 อันดับประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลกจากรายงานของสหประชาชาติ
อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน ญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เม็กซิโก และรัสเซีย

World Environment Day

World Environment Day หรือ วันสิ่งแวดล้อมโลก ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2515 จาก “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” (UN Conference on The Human Environment) ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 5 -16 มิถุนายน พ.ศ. 2515

การประชุมในครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วม พิจารณาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ประเทศสมาชิกกำลังประสบอยู่อย่างเร่งด่วน และจัดทำร่างข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งแผนดำเนินการและปฏิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 113 ประเทศ ผู้สังเกตุการณ์มากกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชนและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนเยาวชนและกลุ่มนักศึกษาจากทั่วโลก

ประเด็นสำคัญในการ หารือก็คือ ประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องหาวิธีการดูแลแก้ไขปัญหา และให้ความตื่นตัวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภูมิภาคทั่วโลก อย่างจริงจัง ภายใต้การกำกับดูแลของ องค์การสหประชาชาติ (United Nations)

ผลการประชุมนับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมขจัดภยันตรายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิด ขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก จึงได้กำหนดให้วันแรกของการประชุม คือ วันที่ 5 มิถุนายน เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day) พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ” หรือเรียกย่อว่า “ยูเนป” (UNEP : United Nation Environment Programme) ขึ้น ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น และจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน

วันสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
ประเทศไทยมีการตรากฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นฉบับแรกในปี 2518 เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พุทธศักราช 2518  มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2521 เป็นพระราชบัญญัติฯ ฉบับที่ 2 และแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2522 เป็นฉบับที่ 3 ต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน จึงได้ร่างพระราชบัญญัติฯ ขึ้นใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2535 เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ และกรมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

พระราชบัญญัติฯ ฉบับปี 2535 เป็นพระราชบัญญัติที่มุ่งกระจายอำนาจของการวางแผนและปฏิบัติการการสิ่งแวด ล้อมลงสู่ท้องถิ่นและให้ความสำคัญในเรื่องของการติดตาม ตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมมลพิษ