ศัพท์สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ

Smart Growth

Smart Growth หรือ การเติบโตอย่างชาญฉลาด คือแนวคิดของการวางผังเมืองโดยสร้างความเจริญและสุขภาวะที่ดีภายในเมือง เพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง โดยองค์ประกอบของการเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้แก่ เกี่ยวกับ คุณภาพชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง และการมีส่วนร่วมออกแบบเมืองจากประชาชนแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด เป็นที่รู้จักและได้รับการเผยแพร่อย่างมากตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 โดยหลายองค์กรในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดได้แก่สมาคมการจัดการเมืองนานาชาติ (ICMA: The International City / County Management Association) และหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA: The U.S.Environmental Protection Agency)

แนวความคิดพื้นฐานของการเติบโตอย่างชาญฉลาดมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ ได้แก่

  1. การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน
  2. การสนับสนุนการออกแบบอาคารให้เกาะกลุ่มกันและใช้ประโยชน์ในการออกแบบอาคารแบบกระชับ (Compact Building Design)
  3. การสร้างโอกาสและทางเลือกของที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรทุกระดับรายได้
  4. การสนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างย่านและชุมชนด้วยการเดิน
  5. การสร้างเสริมชุมชนให้เป็นสถานที่พิเศษ (distinctive) และมีแรงดึงดูด (attractive)ด้วยความผูกพันกับสถานที่อย่างเข้มแข็ง
  6. การรักษาที่โล่ง พื้นที่การเกษตร พื้นที่ธรรมชาติที่งดงาม และพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
  7. สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและมุ่งการพัฒนาไปยังชุมชนที่มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอยู่แล้ว
  8. การจัดหาทางเลือกการเดินทางและการคมนาคมขนส่งที่มีความหลากหลาย
  9. การสร้างระบบการตัดสินใจในการพัฒนาชุมชนที่คาดการณ์ได้ ชัดเจน ยุติธรรม และมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน
  10. การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและส่งเสริมประสานร่วมมือกันระหว่างชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศอาจนำแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาดไปใช้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม ประชาชน วัฒนธรรม หรือภูมิประเทศนั้นๆ เช่น

ประเทศสิงคโปร์ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการออกแบบและก่อสร้างทางเท้าทีได้มาตรฐาน เพื่อให้พื้นที่สาธารณะเป็นตัวสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในชุมชน

ส่วนที่ประเทศแคนาดา รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการทำเกษตรในเมือง เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน โดยกำหนดพื้นที่เกษตรกรรมที่ห้ามแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นอื่น กำหนดว่าในชุมชนต้องมีร้านค้าอาหารท้องถิ่นในรัศมีที่คนเดินเท้าถึง เป็นต้น

TOD

TOD หรือ Transit-Oriented Development คือ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ที่เสนอโดยปีเตอร์ คาลโทรล (Peter Calthorpe) สถาปนิกและนักผังเมืองชาวอเมริกัน เมื่อปี 1993 แนวคิดดังกล่าวนำเสนอทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเมืองที่ใช้ระบบขนส่งมวลชน เป็น ศูนย์กลาง พร้อมไปกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า และหลากหลาย (Mix Use) ซึ่งแตกต่างจากวิถีการพัฒนาเมืองอย่างที่แล้วมาที่มักออกแบบให้เดินขนานไป กับถนน ในลักษณะที่มีถนนตัดผ่านที่ไหน ก็จะมีความเจริญตามเข้าไปที่นั่น การขยายตัวของเมืองจึงเป็นไปแบบกระจัดกระจาย และเติบโตไปพร้อมกับปัญหาการจราจรที่ติดขัดขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนภายใต้แนวคิด TOD ให้ความสำคัญทั้งสัดส่วนที่เป็นที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ย่านพาณิชยกรรม รวมถึงต้องจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค ทางเดินเท้าที่สะดวกและเป็นมิตร ตลอดจนพื้นที่สาธารณะ ที่คนในย่านสามารถเดินถึงได้ในระยะเวลา 5-10 นาที หรือระยะทางไม่เกิน 800 เมตรจากสถานีขนส่ง เพื่อทำให้พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นชุมชนที่มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน อย่างหนาแน่น (Dense) และใช้สอยประโยชน์อย่างเต็มที่

แน่นอนว่าหากมี การพัฒนาเมืองตามแนวคิดนี้ ไม่เพียงแต่พลิกโฉมเมืองจากรูปแบบที่กระจัดกระจายมาสู่การเกิดชุมชนที่มี ลักษณะกระชับ แต่ยังเอื้ออำนวยให้คนใช้ระบบขนส่งมวลชน การเดิน และใช้จักรยานในการสัญจรแทนการใช้รถยนต์

อย่างไรก็ตาม หลักการบริหารจัดการเมืองที่ดีนอกจากจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในเชิงสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว  ก็ไม่อาจละเลยเรื่องความเป็นธรรมไปได้ เพราะหลายครั้งการพัฒนาพื้นที่รอบ สถานีขนส่งมวลชนทำให้ที่ดินบริเวณนั้นมีราคาสูงขึ้น ส่งผลทำให้คนจนหรือคนที่มีรายได้น้อยถูกผลักไสออกไปจากพื้นที่และไม่สามารถ เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวได้

ด้วยเหตุนี้ ในหลายเมืองของต่างประเทศจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการออกเทศบัญญัติของเมือง ให้มีการแบ่งสัดส่วนการสร้างที่พักอาศัยที่เอื้อให้คนมีรายได้น้อยสามารถ เข้าอยู่ได้ เช่น มีข้อกำหนดว่าหากจะสร้างคอนโดมิเนียม ต้องแบ่งพื้นที่กี่ยูนิตเพื่อขายในราคาถูกให้กับคนที่มีรายได้น้อย รวมถึงอาจต้องใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวช่วยในการกระจายผลประโยชน์คืนแก่ สังคม ด้วยการเก็บภาษีที่ดินที่สะท้อนมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากผู้ถือครอง ที่ดินที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่

Tragedy of the Commons

Tragedy of the Commons หรือ โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันเป็นสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดหมดไปในที่สุด เดวิด ฮิวม์ (David Hume : 1711 – 1776) นักปรัชญาประจักษ์นิยมเคยกล่าวถึง โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (Tragedy of the Commons) ไว้ว่า บรรดาสาธารณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งหญ้า บ่อน้ำ หรือป่าชุมชน อันเป็นสมบัติของสาธารณชน ถูกใช้สอยอย่างปู้ยี้ปู้ยำ ไม่ถนอมรักษา จนสาธารณสมบัติเหล่านั้นมีสภาพยับเยิน ถือเป็นโศกนาฏกรรม

ต่อมาในปี 1968  การ์เร็ตต์ ฮาร์ดิน(Garrett Hargin) นักนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน ได้เขียนบทความเรื่อง Tragedy of the Commons เผยแพร่แนวคิดที่ว่า ทรัพยากรเป็นสมบัติสาธารณะ (Common Property) ซึ่งทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ท้ายที่สุดทรัพยากรเหล่านั้นก็จะล่มสลาย ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะเป็นทรัพยากรทางทะเล ป่าไม้ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรืออื่นๆ โดยถือว่าการล่มสลายนี้เป็นโศกนาฏกรรมสาธารณะ เพราะการมุ่งหาแต่ประโยชน์ส่วนตัวจากทรัพยากรสาธารณะ จะส่งผลกระทบต่อผู้คนส่วนรวม

ตัวอย่างเช่น ในทุ่งหญ้าที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะมีคนนำแกะมาเลี้ยง ช่วงแรกทุกคนพอใจที่จะใช้ทุ่งหญ้าร่วมกัน แต่หากมีคนนำแกะมาเลี้ยงหลายๆ ตัว เพื่อให้ตนได้ประโยชน์สูงสุด สุดท้ายทุ่งหญ้าก็จะเสื่อมโทรม มีหญ้าไม่พอเพียงสำหรับแกะทั้งหมด  เป็นไปตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า“ทรัพย์สมบัติที่เป็นของทุกคน จะไม่เป็นของใครเลย” (everybody’s property is no one’s property)

แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เสนอให้เปลี่ยนทรัพยากร สาธารณะไป เป็นสมบัติของรัฐ (State Property) หรือเป็นสมบัติของปัจเจกชน (Private Property)โดยเชื่อว่าภาครัฐสามารถออกกฎระเบียบ เพื่อจัดสรรทรัพยากรสาธารณะให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในประเทศได้ ขณะเดียวกันการให้กรรมสิทธิ์กับปัจเจกชนหรือภาคเอกชนก็จะช่วยสร้างระบบความ เป็นเจ้าของ ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ดูแลและใช้ประโยชน์จากสมบัติที่ตนมี

อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนสมบัติสาธารณะให้เป็นสมบัติของรัฐหรือปัจเจกชน ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยหนึ่งในผู้เห็นต่างออกไปคือ เอลินอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom)ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2009 จากการเสนอทางเลือกที่สามในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ ด้วยการสร้างกรรมสิทธิ์ร่วมของผู้ใช้ประโยชน์ ให้มีการดูแลรักษาทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน  จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งภาครัฐ หรือเอกชนเท่านั้น แต่สามารถอาศัยความร่วมมือจากประชาชน – ชุมชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากร ในการแก้ปัญหานี้ได้  ดังตัวอย่างการจัดการป่าชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่คนในชุมชนเป็นทั้งผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และมีกติการ่วมเพื่อการดูแลรักษาป่าไปพร้อมกันด้วย