ศัพท์สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ

Nanotechnology

นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) มีความหมายตรงตัวก็คือ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เล็กขนาดนาโนเมตร (นาโนมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่าคนแคระ ทั้งนี้ 1 นาโนเมตร เท่ากับหนึ่งส่วนพันล้านส่วน หรือ 10-9) โดยนำสิ่งต่างๆ ที่มีขนาด 1 – 100 นาโนเมตร มาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ ซึ่งจะต้องส่งผลให้เกิดนวัตกรรมแตกต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิม

นาโนเทคโนโลยีถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดยริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2508 และได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งนาโนเทค ปัจจุบันมีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และหุ่นยนต์ อุปกรณ์ทางการทหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไอที ยาและวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งมีชีวิต อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

เมื่อมีข้อดีแล้ว ก็ย่อมมีข้อที่น่ากังวล โดยก่อนหน้านี้เคยมีนักวิทยาศาสตร์ประเทศสหราชอาณาจักรค้นพบฝุ่นขนาดจิ๋ว อนุภาคนาโนจากการจราจรและอุตสาหกรรม ซึ่งอนุภาคนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะมีผลทำลายปอด และยังกระจายเข้าสู่กระแสเลือดและสมองได้ ที่สำคัญฝุ่นขนาดนาโนยังไม่สามารถถูกดักกำจัดได้ด้วยแผ่นกรอง ดังนั้นเมื่อมีการพัฒนานาโนเทคโนโลยีมากขึ้น ของเสียไม่พึงประสงค์ที่มาจากกระบวนการผลิต ทั้งฝุ่น ควัน น้ำเสีย ก็อาจเป็นปัญหาที่ตามมา

New Age

นิวเอจ (New Age) เป็นคำเรียกชุดความเชื่อหรือรูปแบบการดำเนินชีวิตที่หันมาให้ความสำคัญกับ ชีวิตในด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับ ธรรมชาติ แนวคิดนี้ก่อความนิยมขึ้นเงียบๆ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อมีการต่อต้านความล้มเหลวของศาสนาคริสต์ ก่อนจะลามเร็วดุจไฟไหม้ฟางเมื่อกระแสบริโภคนิยมอันเป็นวิถีที่ “โลกาภิวัตน์” อยู่ทั่วโลกถูกพิสูจน์ว่านำมนุษย์เข้าสู่ทางตัน

ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของแนวคิดนิวเอจคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมกัดกินจนบาดลึก ที่ชัดเจนคือคนป่วยด้วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและบริโภคแบบสมัย ใหม่ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้การแพทย์สมัยใหม่ที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคจะเก่ง ก็แค่รักษาโรคติดเชื้อหรือการผ่าตัดจากอุบัติเหตุ แต่กับโรคเรื้อรังทั้งหลาย การแพทย์แบบนี้ทำได้แค่ซื้อเวลาเท่านั้น

ตัวอย่างกิจกรรมที่บรรดานิวเอจเจอร์นิยมกันอย่างแพร่หลาย คือการปฏิบัติสมาธิด้วยวิธีการที่หลากหลาย การฟังดนตรีที่เรียกว่านิวเอจมิวสิค ซึ่งเรียบง่าย ไพเราะ และมีประสิทธิภาพในการบำบัด และสร้างความผ่อนคลายได้ นอกจากนี้ รูปแบบที่มาแรงอีกอย่างคือการดูแลสุขภาพที่เนการสร้างความสมดุลระหว่างกาย กับจิต โดยอาศัยวิธีการต่างๆ เช่น การฝังเข็ม การนวด สมาธิจิต หรือการรักษาด้วยคริสตัล

แม้แนวคิดนี้จะกำเนิดในประเทศตะวันตก แต่กลับพบว่า “แก่น” ของมันมีต้นตอจากความเชื่อแบบตะวันออกที่หยั่งลึกอยู่ในวิถีของชาวเอเชียมา นับพันๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ ลัทธิฮินดู ไสยศาสตร์ เต๋า เทวนิยม พลังจักรวาล สมุนไพร และการักษาแบบฝังเข็ม เป็นต้น

NIMBY

NIMBY หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า นิมบี้ ย่อมาจาก Not in My Back Yard แปลตรงๆ ได้ว่า “ไม่ใช่ในสวนหลังบ้านของฉัน” วลีนี้ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ในวงการสิ่งแวดล้อม แต่เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี โดยถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ครั้งแรกใน The Christian Science Monitor หนังสือพิมพ์รายวันของอเมริกา ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งศัพท์คำนี้มีความหมายว่า บุคคลหรือกลุ่มคนซึ่งไม่ต้องการให้สิ่งที่เป็นอันตราย สิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นอันตราย หรือสิ่งไม่น่าพึงพอใจ ย่างกรายเข้ามาในชุมชนหรือละแวกบ้านเรือนที่ตนเองอาศัยอยู่ อาทิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน บ่อบำบัดน้ำเสีย นิคมอุตสาหกรรม โรงงานผลิตสารเคมีอันตรายหรือวัตถุไวไฟ หลุมฝังกลบขยะ ทางด่วน เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาโครงการต่างๆ เหล่านี้มักมีการอ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็นั่นแหละว่า “สร้างที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในสวนหลังบ้านของฉัน”

Organic Agriculture

Organic Agriculture หรือ เกษตรอินทรีย์ เป็นคำที่อาจมีนิยามแตกต่างกันไปบ้างของแต่ละสำนัก แต่หากกล่าวโดยสรุป เกษตรอินทรีย์หมายถึงระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลย์ ธรรมชาติ และความหลากหลายของชีวภาพ โดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยาที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่าง ๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุ์กรรม ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ด้วย ผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยจากอันตรายของสารพิษตกค้าง ทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอีกด้วย

การทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน การ ผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ตลอดจนมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนที่ค่อนข้างเข้มงวด กล่าวคือ

การเตรียมดิน ต้องให้มีการหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปลูกพืชคลุมดินเพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสด แล้วก็มีการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น ไม่เผาฟาง ไม่ปล่อยให้พื้นที่เปิดโล่ง มีการคลุมดินด้วยเศษซากพืชและใบไม้ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดินแล้ว อินทรีย์วัตถุเหล่านี้ยังเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ทำให้ดินมีชีวิต และเมื่ออินทรีย์วัตถุเหล่านี้ย่อยสลาย ก็จะกลายเป็นฮิวมัส ทำให้ดินร่วนซุย และสามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหารต่างๆ ได้มากขึ้น

มีการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีทั้งที่พึ่งพาอาศัยกัน แข่งขันกัน หรือเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง แต่ต่างดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ดังนั้นแม้จะมีแมลงหรือศัตรูที่กินพืชที่ปลูกเป็นอาหารบ้าง แต่ก็จะมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติมาควบคุมประชากรของ ศัตรูพืชให้ลดลงอยู่ในภาวะที่สมดุล แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงภัยจากปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดได้อีกด้วย

ปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เพราะนอกจากพิษตกค้างไป กับ ผลผลิตแล้วจนถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ต่อดิน แม้แต่ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยยูเรียที่มีธาตุไนโตรเจน ซึ่งก็จัดเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งด้วย แถมเมื่อเกิดการชะล้างลงแหล่งน้ำ ก็ทำให้น้ำเน่าเสีย หากชะล้างลงแหล่งน้ำใต้ดิน ก็ทำให้เกิดการปนเปื้อน

ไม่เพียงแค่นั้น การทำเกษตรอินทรีย์ยังต้องมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอกฟาร์มด้วย ทั้งจากดิน น้ำ และอากาศ โดยจัดสร้างแนวกันชนด้วยการขุดคูหรือปลูกพืชยืนต้นเป็นแนวกำบังโดยรอบ

ในส่วนของการทำปศุสัตว์อินทรีย์ ก็ต้องคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยจำนวนปศุสัตว์ต้องสมดุลกับพื้นที่ และไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์

นอกจากนี้ การทำเกษตรอินทรีย์ยังมีแนวทางที่มุ่งให้เกษตรกรพยายามผลิตปัจจัยการผลิตต่างๆ ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพบำรุงดิน เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น เพราะนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การพึ่งพาตนเองในด้านปัจจัยการผลิตยังมีนัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ เนื่องจากประสบการณ์การพัฒนาระบบเกษตรที่พึ่งพิงสารเคมีที่ผ่านมา เกษตรกรได้สูญเสียการเข้าถึงและการควบคุมปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตใน เกือบทุกขั้นตอน จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทค้าสารเคมีและเทคโนโลยีทางการเกษตร จนเกษตรกรเองแทบไม่ต่างไปจากแรงงานรับจ้างในที่ดินทำกินของตนเอง การส่งเสริมหลักพึ่งพาตนเองในระบบเกษตรอินทรีย์จึงไม่เพียงแค่ช่วยให้ เกษตรกรเป็นไทในการผลิต แต่เท่ากับสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย