ศัพท์สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ

Eco-efficiency

Eco-efficiency หรือ ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ริเริ่มโดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นนำระหว่างประเทศ แนวคิดนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวด ล้อม หรือ Earth Summit เมื่อปี 2535 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เป็นเรื่องที่สามารถอยู่ควบคู่กันไปได้

หลักการสำคัญของประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ คือ

  1. การลดการใช้วัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตไม่ว่าจะเป็นพลังงาน น้ำ ที่ดิน ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำมาใช้ใหม่ (Recycle) ของผลิตภัณฑ์
  2. การลดการปล่อยของเสียได้แก่น้ำทิ้ง ขยะ สารพิษต่างๆ ออกสู่สิ่งแวดล้อม
  3. การเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด

ทั้งนี้ สูตรในการคำนวณค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ คือ
Eco-efficiency   =   Value of product or service / Environmental impact of a product or service

สำหรับ การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจนั้น สามารถนำเครื่องมือทางสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment หรือ LCA) การใช้เทคโนโลยีที่สะอาด (Cleaner Technology หรือ CT) หรือการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Economic & Ecological Design หรือ Eco-Design)

อย่างไรก็ดี มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าวิธีการนี้เป็นเพียงการทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมาก ขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการลดการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากกว่าการใช้โทรศัพท์บ้านแบบที่ ใช้กันมาเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจต่อหน่วยสูงกว่าเดิม แต่การที่มีคนนิยมใช้กันมากขึ้น ก็ทำให้ปริมาณการใช้วัตถุดิบสูงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย

Ecological Debt

Ecological Debt  กลุ่มเคลื่อนไหวด้านนิเวศวิทยาในประเทศเอกวาดอร์ได้ให้คำจำกัดความของ หนี้นิเวศ (Ecological Debt) ไว้ว่า“หนี้นิเวศ” เป็นหนี้ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจวบจนถึงปัจจุบัน  ลูกหนี้ส่วนใหญ่คือประเทศที่ร่ำรวยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่  แต่เจ้าหนี้กลับเป็นประเทศที่ยากจนในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกา ซึ่งหนี้ที่ว่านี้มีมากมายหลายรูปแบบ เช่น

– การตักตวงทรัพยากร ธรรมชาติ เช่น ปิโตรเลียม แร่ธาตุ ป่าไม้ และประมง อย่างไร้ความรับผิดชอบและเกินพอดีจนคุกคามชีวิตและความอยู่รอดของเจ้าของ พื้นที่

– การค้าที่ไม่เป็นธรรมทางระบบนิเวศ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตโดยการตักตวงจากทรัพยากรธรรมชาติ ถูกบรรษัทข้ามชาติส่งออกจากพื้นที่ไปทั้งๆ ที่ไม่ได้รวมค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ ผลิต

– การฉกฉวยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธ์พืช สมุนไพร และองค์ความรู้พื้นบ้าน เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ แต่กลับบังคับให้ประชาชนในประเทศเจ้าของภูมิปัญญาจ่ายค่าใช้สิทธิทรัพย์สิน ทางปัญญาของตัวเอง

– การจับจองทั้งที่ดินและแหล่งน้ำซึ่งอุดมสมบูรณ์ ที่สุดในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออก ทำให้ที่ดินเหล่านั้นเสื่อมโทรม และยังเป็นการคุกคามอธิปไตยด้านอาหารและวัฒนธรรมของทั้งระดับชุมชนท้องถิ่น และระดับประเทศ

– ประเทศอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกจำนวน มากสู่ชั้นบรรยากาศ ทำลายชั้นโอโซนและเกิดเป็นภาวะโลกร้อนอย่างในปัจจุบัน และยังฉกชิงศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนของมหาสมุทรและป่าไม้ไปใช้อย่างไม่ เป็นธรรม

– อาวุธเคมี อาวุธนิวเคลียร์ สารอันตราย และสารพิษตกค้าง ถูกผลิตขึ้นโดยทิ้งภาระหลังการผลิตไว้ให้ประเทศโลกที่สาม

ดังนั้นถ้าหลักการที่ว่าทรัพยกรในโลกเป็นของคนทุกคนบนโลกเป็นจริง ประชากรกว่า 6,800 ล้านคน ก็น่าจะเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน  แต่ในความเป็นจริงทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ ปิโตรเลียม ฯลฯ ยังถูกใช้โดยคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น  ตัวเลขจากองค์การสหประชาติระบุว่าประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีประชากรเพียงร้อยละ 20 ของโลก แต่กลับใช้ทรัพยากรธรรมชาติถึงร้อยละ 80 ของปริมาณที่ทุกคนบนโลกใช้

สุดท้าย คนเพียงกลุ่มเดียวนั้น ไม่เพียงแต่ใช้ทรัพยากรเกินโควตาของตัวเองแล้ว พวกเขายังได้ทิ้งปัญหาไว้ให้กับเพื่อนร่วมโลกโดยไม่ได้ถามความสมัครใจ จนเกิดเป็น “หนี้นิเวศ” กับเจ้าของทรัพยากรในพื้นที่

Ecological Footprint

การวัดรอยเท้านิเวศมาจากความจริงมูลฐานที่ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนต้องอาศัยทรัพยากรจากระบบนิเวศเพื่อการดำรงอยู่รอด การใช้ทรัพยากรจึงเปรียบเสมือนการประทับร่องรอยของการใช้ชีวิตไว้บนระบบ นิเวศของโลก โดยรอยเท้าใหญ่หมายถึงการบริโภคทรัพยากรที่มากกว่ารอยเท้าเล็ก

จาก การเปิดเผยของเฟรด เปียร์ซ ในนิตยสาร New Scientist ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2549 ระบุว่า รอยเท้านิเวศที่มีความยั่งยืนซึ่งมนุษย์ทั่วโลกสามารถแบ่งปันทรัพยากรกันได้ อย่างเท่าเทียมอยู่ที่ 1.8 เฮกตาร์ต่อคน หากแต่ทุกวันนี้ชนบทของจีนมีรอยเท้านิเวศเฉลี่ย 1.6 เฮกตาร์ต่อคน แต่ที่นครเซี่ยงไฮ้มีรอยเท้านิเวศใหญ่ถึง 7.0 เฮกตาร์ต่อคน ส่วนคนอเมริกันยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีรอยเท้านิเวศใหญ่ 9.3 เฮกตาร์ต่อคน ซึ่งนั่นหมายถึงว่าหากการพัฒนายังคงเดินหน้าไปในแนวทางเดิมนี้ต่อไป โลกก็จะประสบหายนะเพราะวิกฤตมลพิษและทรัพยากรในอนาคตอันใกล้นี้

เครื่องมือชี้วัดนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ให้คุณค่าต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ

Ecosystem services

Ecosystem services หรือ นิเวศบริการ หมายถึงประโยชน์ที่ธรรมชาติส่งมอบให้กับมนุษย์ นิเวศบริการที่เราคุ้นเคยที่สุดได้แก่ อาหาร น้ำสะอาด และทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ แต่ยังมีบริการอีกมากมายที่เรามักไม่ค่อยนึกถึง เช่น การดูดซับคาร์บอนและบรรเทาภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของป่าไม้ การกรองและทำน้ำให้สะอาดของพื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าเรามองระบบนิเวศในฐานะนิเวศบริการ เราก็จะสามารถมองสิ่งแวดล้อมว่าเป็น “สินทรัพย์” ที่การพัฒนาต้องพึ่งพา และดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมก็จะเป็น “การลงทุน” ที่จำเป็น เลิกคิดว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่ไม่ได้อะไรกลับคืน

Environmental Education

Environmental Education กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ให้ความหมายของคำว่าสิ่งแวดล้อมศึกษา หรือ Environmental Education ไว้ว่า เป็นกระบวนการพัฒนาคนให้เติบโตเป็นประชากรโลกที่มีความสำนึกและห่วงใยใน ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ เจตคติ ทักษะ ความตั้งใจจริง และความมุ่งมั่นที่จะหาทางดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ และป้องกันปัญหาใหม่ ทั้งด้วยตนเองและด้วยการร่วมมือกับผู้อื่น สิ่งแวดล้อมศึกษาจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตทั่วไป เป็นองค์ความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพในทุกสาขา และเป็นความรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันในชุมชน สังคม ประเทศ และโลก

ดังนั้นสิ่งแวดล้อมศึกษาจึงไม่ใช่การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และก็ไม่ใช่การเรียนการสอนในชั้นเรียน หากแต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

Food miles

Food miles หรือ ระยะทางอาหาร คือระยะทางที่อาหารถูกขนส่งจากแหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค โดยคำนวณจากระยะทางน้ำหนักเฉลี่ย (ระยะทางและปริมาณอาหารที่ขนส่ง) ซึ่งระยะทางอาหารจะมากหรือน้อยสามารถวัดได้จากระยะที่อาหารเดินทางจากแหล่ง ผลิตถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย หรือวัดจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการขนส่ง รวมถึงสามารถวัดได้จากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกิดจากการขนส่งอาหาร

แม้ ระยะทางอาหารจะมีความสัมพันธ์กับการขนส่ง การใช้พลังงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่การขายสินค้าในปัจจุบันที่เป็นไปในลักษณะการแข่งขันกันในตลาดสมบูรณ์ ก็ทำให้การกำหนดราคาสินค้าไม่ได้ใช้ต้นทุนเป็นพื้นฐาน  (Cost-plus-pricing) แต่จำต้องขายสินค้าในราคาใกล้เคียงกัน แม้ต้นทุนจะต่างกัน  ผู้บริโภคจึงไม่สามารถรับรู้ได้ถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงของอาหาร ที่ขนส่งมาไกล

นอกจากนี้ การที่ประเทศพัฒนาแล้วนำเข้าอาหารที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนา ยังกระตุ้นให้เกษตรกรในประเทศเหล่านั้นมุ่งปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิด จนทำให้พันธุ์พืชพื้นถิ่นหายไป ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้วยเหตุนี้ ในต่างประเทศจึงมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่ผลิตในท้องถิ่น หรือในพื้นที่ใกล้เคียง จนเกิดการรวมตัวกันในนามกลุ่ม “100 miles diet” เพื่อสร้างแนวร่วมของการบริโภคอาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่นระยะไม่เกิน 100 ไมล์ (160 กิโลเมตร) ภายใต้นโยบาย “Eating locally and thinking globally” ขณะที่ UK Soil Association หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนประเทศอังกฤษ ก็เห็นว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มี Food Miles เกินระยะทางที่กำหนด ไม่ควรจัดเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะถือว่าสินค้านั้นมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ในกระบวนการผลิตจะรักษาสิ่งแวดล้อมก็ตาม

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ระยะทางอาหารจะมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัย เนื่องจากพลังงานที่ใช้ในการขนส่งอาหารเป็นเพียงพลังงานส่วนหนึ่งที่ใช้ใน กระบวนการผลิตอาหารทั้งหมด ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงข้อสังเกตดังกล่าวคือ การศึกษาเปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำเข้าอาหารของประเทศสห ราชอาณาจักร โดยศึกษานับตั้งแต่การผลิต แปรรูป บรรจุ และขนส่ง พบว่าอาหารที่ผลิตในสหราชอาณาจักรปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าอาหารที่นำ เข้าจากนิวซีแลนด์ ทั้งที่อาหารจากนิวซีแลนด์เดินทางมาไกลกว่า ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากระยะทางอาหารแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รูปแบบการใช้แรงงานและการลงทุน เป็นต้น

Ft

ค่า Ft (Fuel adjustment tariff) หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2535  เป็นค่าใช้จ่ายที่บวกเพิ่มไปจากค่าไฟฟ้าปกติที่แต่ละบ้านใช้ มีที่มาจากค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นๆ โดยมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่าย ด้านเชื้อเพลิง ถ้าต้นทุนเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคก็จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบในส่วนต่างที่เกิดขึ้นด้วย โดยมีจุดประสงค์ให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคมีการสะท้อนต้นทุนที่ แท้จริงมากที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้ภาระจากความผันผวนของค่าเชื้อเพลิงมากระทบกับฐานะการเงิน ของการไฟฟ้า

แต่ความไม่ชัดเจนและคลุมเครือของที่มาในค่า Ft ถูกตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดอาจจะเป็นเพียงช่องทางในการแก้ปัญหาการดำเนินงาน ของทางการไฟฟ้า ด้วยการผลักภาระต่างๆ มาให้กับประชาชนหรือไม่
เมื่อราวปี พ.ศ. 2541 – 2543 องค์กรเพื่อผู้บริโภคได้ติดตามรายละเอียดของค่า Ft และได้ทราบว่า มีการนำค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ต้นทุนเชื้อเพลิงเข้ามารวมอยู่ในค่า Ft เช่น ต้นทุนอันเนื่องมาจากรายรับของการไฟฟ้าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  รัฐบาลจึงตั้งคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติขึ้น มาตรวจสอบ ผลของการตรวจสอบนำไปสู่การตัดต้นทุนนอกเหนือค่าเชื้อเพลิงออกไป ทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ที่มาในการคำนวณสูตร Ft จึงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน

Fuel Cells

Fuel Cells หรือ เซลเชื้อเพลิง คือ อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี-ไฟฟ้าระหว่างออกซิเจนกับไฮโดรเจน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงพลังงานของเชื้อเพลิงไปเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านการเผาไหม้ ทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้ Fuel Cells ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ สำหรับการทำงานของ Fuel Cells จะมีลักษณะคล้ายเซลล์สะสมไฟฟ้าของแบตเตอรี่ สามารถอัดประจุใหม่ได้เรื่อยๆ Fuel Cells มีหลายชนิด แต่ทุกชนิดจะให้กระแสไฟฟ้าเป็นกระแสตรง (DC) ที่สามารถนำไปเป็นพลังงานขับเคลื่อนมอเตอร์ หลอดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ