Eco-efficiency หรือ ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ริเริ่มโดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นนำระหว่างประเทศ แนวคิดนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวด ล้อม หรือ Earth Summit เมื่อปี 2535 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เป็นเรื่องที่สามารถอยู่ควบคู่กันไปได้
หลักการสำคัญของประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ คือ
- การลดการใช้วัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตไม่ว่าจะเป็นพลังงาน น้ำ ที่ดิน ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำมาใช้ใหม่ (Recycle) ของผลิตภัณฑ์
- การลดการปล่อยของเสียได้แก่น้ำทิ้ง ขยะ สารพิษต่างๆ ออกสู่สิ่งแวดล้อม
- การเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด
ทั้งนี้ สูตรในการคำนวณค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ คือ
Eco-efficiency = Value of product or service / Environmental impact of a product or service
สำหรับ การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจนั้น สามารถนำเครื่องมือทางสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment หรือ LCA) การใช้เทคโนโลยีที่สะอาด (Cleaner Technology หรือ CT) หรือการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Economic & Ecological Design หรือ Eco-Design)
อย่างไรก็ดี มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าวิธีการนี้เป็นเพียงการทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมาก ขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการลดการบริโภค ยกตัวอย่างเช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากกว่าการใช้โทรศัพท์บ้านแบบที่ ใช้กันมาเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจต่อหน่วยสูงกว่าเดิม แต่การที่มีคนนิยมใช้กันมากขึ้น ก็ทำให้ปริมาณการใช้วัตถุดิบสูงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย